อาการท้องผูกเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการดื่มน้ำน้อย รับประทานอาหารที่กากใยน้อย ไม่ออกกำลังกาย ฯลฯ ทางออกคือเราควรเริ่มจากปรับพฤติกรรมก่อน ถ้ายังไม่ช่วยให้อาการท้องผูกดีขึ้น ค่อยพิจารณาใช้ยา เมื่อท้องผูกเราสามารถกินยาอะไรได้บ้าง?
ท้องผูกกินยาระบายอะไรได้บ้าง
1. ยาระบายที่ช่วยเพิ่มปริมาณกากอาหารในลำไส้ (Bulk Forming Laxatives)
เพิ่มปริมาณอุจจาระ ดูดน้ำได้ดี อุจจาระจึงนิ่มขึ้นและถ่ายออกได้ง่าย เช่น ยาไซเลียม หรือ ยาเมทิลเซลลูโลส
2. ยาระบายกลุ่มกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ (Stimulant Laxatives)
กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ เช่น ยาบิซาโคดิล หรือ ยาเซนโนไซด์
3. ยาระบายกลุ่มออสโมซิส (Osmotic Laxatives)
ดูดน้ำกลับเข้าสู่ลำไส้ใหญ่มากขึ้น ทำให้เพิ่มปริมาณน้ำในลำไส้ อุจจาระไม่แห้ง เช่น ยาแลคตูโลส
4. ยาช่วยหล่อลื่นอุจจาระ (Lubricant Laxatives)
เพิ่มความลื่นให้ลำไส้ อุจจาระเคลื่อนตัวได้ง่ายขึ้น
5. ยาที่ช่วยให้อุจจาระอ่อนตัว (Stool Softeners)
ช่วยให้อุจจาระนิ่มจนง่ายต่อการเคลื่อนตัวผ่านลำไส้ เช่น ยาในกลุ่มด็อกคิวเสต
6. ยาเหน็บและสวนอุจจาระ (Suppositories/Enemas)
ทำให้อุจจาระอ่อนนุ่มลง เพิ่มการเคลื่อนไหวของลำไส้
เนื้อหาที่น่าสนใจ :
รู้ไหมว่าท้องผูกเรื้อรัง อาจเสี่ยงต่อโรคดังต่อไปนี้
-แผลที่ทวารหนักหรือลำไส้ตรง
-ริดสีดวงทวาร
-ลำไส้อุดตัน
เคล็ดลับทำให้ขับถ่ายดีไม่ท้องผูก
-กินอาหารที่มีกากใยหรือไฟเบอร์มากขึ้น เพื่อเพิ่มปริมาณอุจจาระและกระตุ้นการเคลื่อนตัวภายในลำไส้ใหญ่ให้เร็วขึ้น
-ควรรับประทานอาหารเช้าทุกวัน เพราะอาหารเช้าช่วยให้กระเพาะอาหารขยายตัวแล้วไปกระตุ้นให้ลำไส้ใหญ่ทำงานเกิดเป็นความรู้สึกอยากถ่าย โดยควรเผื่อเวลาสำหรับการเข้าห้องน้ำหลังอาหารเช้าและการเดินหลังอาหารประมาณครึ่งชั่วโมงไว้ด้วย เพราะความรู้สึกอยากถ่ายนั้นเกิดขึ้นเพียงประมาณ 2 นาทีเท่านั้น หากไม่มีการถ่าย ความรู้สึกอยากถ่ายจะหายไปและอุจจาระก็จะแข็งขึ้นทำให้เกิดปัญหาท้องผูกตามมา
-ดื่มน้ำให้มากพอเพื่อให้อุจจาระอ่อนนุ่มถ่ายง่าย
-ออกกำลังกายและเคลื่อนไหวร่างกายอยู่เสมอ เพื่อให้ลำไส้เคลื่อนไหวได้ดีขึ้น
Cr. กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค สำนักงามคณะกรรมการอาหารและยา / โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์