svasdssvasds

หน้าฝนน้ำท่วมระวัง โรคไข้ดิน มีแผลที่เท้าไม่ควรลุยน้ำโคลน

หน้าฝนน้ำท่วมระวัง โรคไข้ดิน มีแผลที่เท้าไม่ควรลุยน้ำโคลน

ช่วงนี้ฝนตกหนักและเป็นช่วงที่หลายพื้นน้ำท่วม นอกจากโรคน้ำกัดเท้าที่มากับน้ำท่วมแล้ว มีอีกโรคที่ยังต้องควรระวังคือ โรคไข้ดิน หรือโรคเมลิออยด์ มาทำความรู้จักโรคนี้และเรียนรู้วิธีป้องกันกันดีกว่า

น้ำท่วม นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคเมลิออยด์หรือที่ชาวบ้าน เรียกว่าโรคไข้ดิน คือโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย โดยเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุจะอยู่ในดินและในน้ำ เข้าสู่ร่างกายคนเราได้ 3 ทาง คือ

1. ทางบาดแผลที่ผิวหนัง
2.ดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป
3.สูดหายใจเอาฝุ่นจากดินที่มีเชื้อเจือปนอยู่เข้าไป
โดยหลังติดเชื้อประมาณ 1-21 วันจะมีอาการเจ็บป่วย แต่บางรายอาจนานเป็นปีขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อที่ได้รับและภูมิต้านทานของแต่ละคน

เนื้อหาที่น่าสนใจ :

อาการของโรคไข้ดิน

อาการของโรคนี้ไม่มีลักษณะเฉพาะ จะมีความหลากหลายคล้ายโรคติดเชื้ออื่นๆ หลายโรค เช่น มีไข้สูง มีฝีที่ผิวหนัง มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ บางรายพบอาการทางระบบประสาทร่วมด้วย อาจติดเชื้อเฉพาะที่หรือติดเชื้อแล้วแพร่กระจายทั่วทุกอวัยวะก็ได้ ส่วนใหญ่มักจะเริ่มจากอาการไข้เป็นหลัก จึงทำให้วินิจฉัยโรคได้ยาก ต้องอาศัยการตรวจเพาะเชื้อทางห้องปฏิบัติการเป็นหลัก เพื่อใช้ประกอบการตรวจวินิจฉัยและรักษา

ทางด้านแพทย์หญิงวรยา เหลืองอ่อน ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กล่าวว่า โรคเมลิออยด์ ไม่มีวัคซีนป้องกัน สามารถป่วยซ้ำได้อีก ประชาชนที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโรคนี้ มี 5 กลุ่ม ได้แก่

1.ผู้ที่ประกอบอาชีพเกษตรกร ซึ่งต้องสัมผัสกับดินและน้ำโดยตรงหรือสัมผัสสัตว์เลี้ยงที่มีเชื้อโรคนี้อยู่ในร่างกาย เช่น แมว สุนัข หมู ม้า วัว ควาย แกะ หรือแพะ
2.ผู้ที่มีบาดแผลที่เท้า
3.ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน
4.ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง
5.คนสูบบุหรี่จัดหรือติดเหล้า 

วิธีป้องกันโรคไข้ดิน

-หากมีบาดแผลหลีกเลี่ยงลุยน้ำ ย่ำโคลน ถ้าจำเป็นควรใส่รองเท้าบู๊ท และควรรีบทำความสะอาดร่างกาย

-ในกรณีที่มีแผล ควรรีบทำความสะอาดด้วยยาฆ่าเชื้อ และไม่ควรสัมผัสดินและน้ำจนกว่าแผลจะแห้งสนิท

-ควรกินอาหารปรุงสุก ดื่มน้ำสะอาดทุกครั้ง

- หลีกเลี่ยงการสัมผัสลมฝุ่น และอยู่ท่ามกลางสายฝน 

- ลด ละ เลิกดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่ เพื่อสุขภาพที่ดี

Cr. กรมควบคุมโรค / สสส.