svasdssvasds

ปวดหัวข้างเดียว อาจไม่ใช่แค่ไมเกรน!!! มารู้จัก Cluster Headache คืออะไร

ปวดหัวข้างเดียว อาจไม่ใช่แค่ไมเกรน!!! มารู้จัก Cluster Headache คืออะไร

อาการปวดหัวนั้นมีด้วยกันหลายแบบ และอาการปวดหัวข้างเดียวแบบรุนแรงที่หลายคนรู้จัก อย่าง อาการของไมเกรน แต่มีอาการปวดหัวอีกชนิดหนึ่งที่มีคล้ายกับไมเกรน นั่นอาจเป็นสัญญาณของ Cluster Headache

ปวดหัว ข้อมูลจาก สถาบันประสาทวิทยา ได้เตือนถึงอาการปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ ซึ่งเป็นภาวะปวดหัวรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน ปวดข้างเดียว หรืออาจปวดบริเวณรอบดวงตา และอาจเกิดขึ้นหลายครั้งภายในวันเดียว ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แนะควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษา นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เผยว่า อาการปวดหัว เป็นหนึ่งในอาการที่ทุกคนเคยเจอมาแล้ว แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าอาการปวดศีรษะนั้นมีหลายรูปแบบ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ อาการปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ หรือ Cluster Headache เป็นอาการที่พบได้ไม่บ่อยเท่าปวดศีรษะไมเกรน ซึ่งผู้ป่วยส่วนหนึ่งได้รับการวินิจฉัยเป็นไมเกรนทั้งที่ไม่ใช่ ถ้าได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องได้รับการรักษาที่ตรงจะช่วยลดอาการปวดศีรษะได้ดีกว่าในผู้ป่วยบางรายอาการปวดรุนแรง ทำให้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก ควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้การวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง

เนื้อหาที่น่าสนใจ : 

นายแพทย์ธนินทร์  เวชชาภินันท์  ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ โรคปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ (Cluster Headache) พบบ่อยในผู้ชายอายุเฉลี่ยประมาณ 40 ปี แต่อายุน้อยกว่านี้ก็สามารถพบได้ และระยะหลังมานี้สมารถพบในผู้หญิงได้ไม่น้อยเช่นกัน ลักษณะการปวดมักจะรุนแรงที่รอบเบ้าตา หรือขมับข้างใดข้างหนึ่งร่วมกันกับมีอาการของระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น ตาแดง น้ำตาไหล เปลือกตาบวม คัดจมูกข้างเดียวกับที่ปวด โดยมีระยะเวลาปวด 15 นาทีจนถึงสามชั่วโมง ลักษณะเด่นที่ช่วยในการวินิจฉัยคือ มักมีอาการปวดเวลาเดิมๆ ของวัน เช่น มักปวดตอนสิบโมงเช้า ตีหนึ่ง เป็นต้น และอาจมีอาการปวดหัวแบบนี้ได้ตั้งแต่วันเว้นวันจนถึง 8 ครั้งต่อวัน และปวดไปเช่นนี้ติดต่อเกือบทุกวัน ไปเป็นอาทิตย์จนถึงสองสามเดือนแล้วหาย และจะวนกลับมาเป็นอีกในช่วงเวลาเดิมๆ ของปีถัดๆ ไป

ปวดหัว

ลักษณะที่มีปวดติดต่อกันเป็นช่วงๆแบบนี้จึงเป็นที่มาของชื่อ คลัสเตอร์ ปัจจุบันมีข้อมูลว่าโรคนี้เกิดจากการทำงานผิดปกติของสมองส่วนไฮโปทาลามัส การวินิจฉัยโรคแพทย์ทำการซักประวัติร่วมกับการตรวจร่างกายและส่งตรวจเอ็กซเรย์ระบบประสาท เพื่อแยกจากโรคที่อาจมีอาการคล้ายกัน จากนั้นแพทย์จะให้การรักษาซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ

1.การรักษาระหว่างปวด เช่น ยาแก้ปวดที่ออกฤทธิ์เร็ว การให้ออกซิเจนทางหน้ากากครอบจมูก

2. การป้องกันหรือลดระยะเวลาที่ปวด เช่น การฉีดยารอบเส้นประสาท occipital และการใช้ยาอื่นๆ จำเพาะต่อโรคปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์

โรคปวดศีรษะมีหลายประเภทมีสาเหตุที่แตกต่างกัน การซื้อยาแก้ปวดทานเองบ่อยครั้งอาจกระตุ้นให้อาการปวดศีรษะเป็นมากขึ้นและเกิดอันตรายได้ เมื่อมีอาการปวดหัวควรรีบมาพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้องและการรักษาที่เหมาะสมสามารถทำให้ผู้ป่วยดีขึ้นได้  

 Cr. สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์