เจ้านาย ไลน์หาวันหยุด ไม่ตอบได้ไหม ผิดกฏหมายหรือไม่ และจะมีผลกับการประเมินเงินเดือนได้ไหม ประเทศไหนถือว่า การคุยงานนอกเวลางานถือว่าผิดกฏหมายบ้าง?
เจ้านาย ไลน์หาวันหยุด ไม่ตอบได้ไหม?
ถือว่าขัดคำสั่งหรือไม่? เดี๋ยวสรุปให้ฟัง
เคยไหม?
เจ้านายทักมานอกเวลางาน อยากให้รวบรวมข้อมูลพรีเซ็นต์วันจันทร์ให้ที
แต่...
สั่ง วันเสาร์ ถึงไม่ได้เอาวันนี้ แต่มันก็ต้องทำวันนี้ไหมล่ะ ไม่ทำก็รู้สึกผิด แต่ถ้าทำแล้ววันหยุดเราล่ะ? ทั้งที่จริงเราควรมีเวลาพักผ่อนแท้ๆ
ช่วง WFH เราแทบแยกไม่ออก อันไหนเวลาพักผ่อน อันไหนเวลาทำงาน เพราะงานจะมีให้ทำตั้งแต่ตื่นลืมตา และพอไม่ได้เจอหน้า การไลน์ตาม ไลน์หา บ่อยกว่าปกติของเจ้านาย มักเกิดขึ้นได้
ในเวลางานไม่เท่าไหร่ แต่ตามนอกเวลางานก็มีนี่แหละที่ทำหลายคน เครียด มากยิ่งขึ้น
ซึ่งจริงๆ Work life balance เป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรทำ แต่ลูกจ้างอย่างเรา บางทีก็ไม่กล้าพูด แล้วมันเป็นสิทธิ์เราไหม?
ในประเทศที่พัฒนาแล้วเขามี “กฎหมายแรงงาน” ระบุชัด เพื่อคุ้มครองแรงงานและลดข้อพิพาทระหว่างกันว่า ห้ามนายจ้าง ติดต่อ เรื่องงาน นอกเวลางาน กับลูกจ้าง ไม่เช่นนั้นคือผิดกฏหมาย มีประเทศอะไรบ้าง?
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ฝรั่งเศส
คือ ประเทศแรกๆ ที่ปลุกกระแสสังคมให้ตั้งคำถามเรื่อง Always on หรือ การทำงานนอกเวลา ตั้งแต่ปี 2017 โดยกฏหมายให้สิทธิ์พนักงานปิดอุปกรณ์สื่อสารนอกเวลางานได้เลย และเจ้านายก็ไม่มีสิทธิตาม
แถมเคยมีกรณีข้อพิพาทแล้วฟ้องร้อง สุดท้าย นายจ้างผิด ต้องชดเชยค่าล่วงเวลาให้ถึง 2 ล้านบาท
สเปน
กฏหมายรัฐธรรมนูญ ระบุชัด เช่น ลูกจ้างมีสิทธิเพิกเฉย เมื่อโดนตามนอกเวลางาน ประชุมได้แค่ในเวลางานเท่านั้น
อิตาลี
กฎหมายระบุชัด องค์กรจะต้องมีมาตรการบังคับกับพนักงานทุกคนให้ตัดขาดการทำงานนอกเวลางานได้ เช่น สั่งห้ามไม่ให้พนักงานพูดคุยเรื่องงานนอกเวลางาน หรือ มาตรการป้องกันพนักงานเข้าถึงอีเมลล์นอกเวลางาน
โปรตุเกส
ประเทศล่าสุดที่เพิ่งจะมี กฎหมายคุ้มครอง พนักงานที่ทำงานทางไกลสดๆร้อน วีคก่อน ว่า นายจ้างต้องรับโทษตาม หากติดต่อลูกจ้างนอกเวลางาน ทั้งยังต้อง - ช่วยค่าใช้จ่าย เช่น ค่าไฟ ค่าน้ำ ค่าเน็ต หากทำงานที่บ้าน
แล้วประเทศไทยล่ะ
เพจเฟซบุ๊ก สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 7 เคยโพสต์ ความเห็นทางกฏหมายเอาไว้ว่า
"การสั่งงานนอกเวลางาน ลูกจ้างปฏิเสธไม่ตอบได้ ไม่เป็นความผิด และไม่ถือว่าขัดคำสั่งนายจ้าง
และเจ้านายไม่มีสิทธิ์นำเหตุผลนี้ไปเกี่ยวข้องกับการประเมินผลงาน ปรับเพิ่มเงินเดือน หรือ เพิ่มตำแหน่งด้วย"
แต่ทั้งนี้ ทั้งนั้น สิ่งที่ต้องนำมาประกอบการพิจารณาด้วยคือ วัฒนธรรม เงื่อนไขของแต่ละองค์กร รวมไปถึง ข้อตกลงระหว่างตัวลูกจ้างคนนั้น กับนายจ้างประกอบด้วยนะคะ