svasdssvasds

อย่าเพิ่งเซ็น ค้ำประกัน ให้ใครหากยังไม่รู้สิ่งนี้

อย่าเพิ่งเซ็น ค้ำประกัน ให้ใครหากยังไม่รู้สิ่งนี้

เตือนไว้ ก่อนเซ็นค้ำประกัน ถามตัวเองว่า จ่ายหนี้ก้อนนี้ทั้งหมดไหวไหม? อะไรก็เกิดขึ้นได้ แม้รักและไว้ใจกันแค่ไหนก็ตาม เซ็นแล้วเหมือนเราเป็นหนี้ไปด้วย แต่กฏหมายค้ำประกันก็ปกป้องประโยชน์ของผู้ค้ำมากขึ้น ซึ่งเราควรรู้ไว้ มีอะไรบ้าง เดี๋ยวสรุปให้ฟัง

รู้ไว้เตือนใจ ก่อนเซ็น ค้ำประกัน

“ผู้ค้ำประกัน” ภาษากฎหมาย หมายถึง บุคคลหนึ่งที่ยอมรับที่จะชำระหนี้แทนอีกบุคคล หากบุคคลนั้นไม่ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้

       ก่อนตกลงเซ็น ค้ำประกัน ให้กับใคร นั่นหมายความว่า คุณต้องสามารถจ่ายหนี้ก้อนนั้นได้ แบบ 100 % เต็ม ที่ต้องคิดแบบนี้ก็เพราะว่าวันนึงข้างหน้า มีโอกาสเกิดเหตุไม่คาดฝันได้เสมอ ลูกหนี้ที่คุณไว้ใจ อาจจะไม่ได้ตั้งใจจะ เบี้ยวหนี้ เพียงแค่ตัวเขา เกิดเหตุช็อต การเงินตึง กะทันหัน เข้าอารมณ์ ไม่มี ไม่หนี แต่ก็ไม่จ่าย ถ้าเป็นแบบนั้น คุณผู้ค้ำประกันต้องเป็นคนจ่ายแทนตามกฏหมายนั่นเองค่ะ 


ถ้าไม่อยากเสียความสัมพันธ์ อย่าค้ำประกันให้ใคร
       จ๊ะโอ๋เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยมีโอกาส เกือบ หรือ เซ็นค้ำประกันให้คนที่เรารัก ตามนิสัยขี้สงสารของคนไทย แต่รู้ไหมคะว่า มีจำนวนไม่น้อยที่ต้องมานั่งก่นด่าตัวเองในใจ และใช้หนี้แทนกันมานักต่อนักแล้ว หนี้ของเขาแต่เราลำบาก เพราะ ไว้ใจ นี่แหละ เคยได้ยินไหม ถ้าไม่อยากเสียเพื่อน อย่าให้เพื่อนยืมสตางค์ คล้ายกัน ถ้าไม่อยากเสียความสัมพันธ์ อย่าค้ำประกัน ให้ใคร ยกเว้นว่า คุณจะสามารถจ่ายเงินก้อนนั้นแทนเขาได้ทั้งหมด แต่ถ้าไม่โอ๋แนะนำว่า Say sorry ไปตรงๆเลยดีกว่า ถ้าเจ้าหนี้ยังไม่อนุมัติให้เขา แสดงว่าสถานะทางการเงินของเขายังไม่พร้อมที่จะเป็นหนี้

 

ก่อนค้ำประกัน ควรรู้อะไรบ้าง?

  1. สำรวจภาระตัวเอง
    เราต้องคิดเสมือนเรากำลังจะเป็นหนี้เพิ่ม สำรวจกำลังทรัพย์ตัวเองก่อน ภาระมีเท่าไหร่  อะไรก็เกิดขึ้นได้ วันข้างหน้าถ้าเราต้องจ่ายหนี้ก้อนนี้แทนเขาทั้งหมด เราไหวไหม?
  2. อ่านสัญญาให้ละเอียด : เรากำลังจะเป็นหนี้เพิ่ม มีผลผูกพันทางกฏหมาย เราต้องดูให้ชัด และเป็นหนี้อะไร บ้าน เงินกู้ ไฟแนนซ์รถ และเราต้องรับผิดชอบในส่วนใดบ้าง ทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร เลยด้วยนะ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

 

รู้กฏหมายไว้สักนิด ปกป้องสิทธิ์ผู้ค้ำประกัน

  1. ขอจำกัดวงเงินหนี้ ที่รับผิดชอบได้
    ผู้ค้ำประกันสามารถกำหนดจำนวนเงินและระยะเวลาในการค้ำประกันได้ ก่อนเซ็นควรตกลงและเซ็นสัญญากันเป็นลายลักษณ์อักษ
  2. ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย
    ผู้ค้ำไม่ต้องรับผิดชอบหนี้ทั้งหมดเหมือนกับลูกหนี้ รับผิดชอบแค่ส่วนที่ตัวเองตกลงไว้ โดยหลังจากใช้หนี้แทนแล้วสามารถใช้สิทธิฟ้องไล่เบี้ยลูกหนี้ให้จ่ายเราคืน พร้อมดอกเบี้ย และค่าเสียหายได้
  3. เจ้าหนี้ต้องทวงลูกหนี้จนสุดความสามารถก่อน
    ไม่ใช่อยู่ๆจะมาทวงกับผู้ค้ำได้ ในกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัด เจ้าหนี้จะต้องทำหนังสือแจ้งผู้ค้ำให้ทราบก่อนภายใน 60 วัน และห้ามเรียกเอาหนี้กับผู้ค้ำในทันที จนกว่าพยายามไล่เบี้ยหรือเรียกหนี้กับลูกหนี้จนสุดความสามารถก่อน
  4. ผู้ค้ำประกัน หลุดพ้นได้ 2 กรณี คือ
    -เมื่อถึงเวลากำหนด ลูกหนี้ และ เจ้าหนี้ ตกลงเลื่อนการจ่ายหนี้ออกไปได้
    -เมื่อคนค้ำขอชำระหนี้แทน แต่เจ้าหนี้ไม่รับ ถือว่าผู้ค้ำ หลุดพ้นจากการค้ำประกันในสัญญา

       สุดท้ายนี้ถือว่าโอ๋ได้ เตือนทุกคนแล้วนะ ว่ารักแค่ไหน ก็อย่าค้ำประกัน ใครง่ายๆเลย จะได้ไม่ต้องมานั่งเครียดทีหลังได้ ไม่ใช่ว่าจะแนะให้ใจดำ การช่วยเหลือกันเป็นสิ่งดีค่ะ แต่จะโลกสวยก็ไม่ได้ ประเมินเงินตัวเองมีแค่ไหน ภาระเยอะไหม และประเมินตัวเขาว่า น่าจะจ่ายหนี้ไหวไหม ถ้าคิดดูแล้วไม่เข้าท่า ปฏิเสธไปตรงๆดีกว่า ดีกว่ารู้งี้ และ มานั่งเสียใจทีหลังนะคะ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ยังคงใช้ได้ทุกยุคสมัย เพราะเวลาคุณลำบากหาเงิน คุณก็หามาด้วยตัวเอง แล้วจะมานั่งเกรงใจกันทำไม และในอีกมุม หากตอนนี้เขายังไม่สามารถกู้ได้ด้วยตัวเอง เขาอาจจะยังไม่พร้อมที่จะเป็นหนี้ก้อนนี้ก็ได้นะ

related