ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้คนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น หาวิธีต่างๆ มาดูแลตัวเอง เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสโควิด
จึงทำให้มีผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่อวดอ้างเกี่ยวกับการรักษาโควิด-19 ถูกแชร์กันอย่างมากมายโลกออนไลน์ มักอ้างว่ามีผลในการรักษาโรคโควิด ข่าวเหล่านี้จะจริงเท็จแค่ไหน? มีวิธีตรวจสอบอย่างไร เรามีคำตอบ
ผลิตภัณฑ์รักษาโควิดสุดฮิตที่เป็นข่าวปลอมมากที่สุด
สเปรย์พ่นคอและจมูก
สเปรย์ลำไยพ่นคอและจมูกป้องกันการติดเชื้อได้จริงหรือไม่?
จากที่มีการส่งต่อข้อมูลในโลกออนไลน์เกี่ยวกับสเปรย์สมุนไพรพ่นจมูกและลำคอป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 เป็นการนำลำไยสกัดเข้มข้นมาพัฒนาเป็นสูตรตำรับสมุนไพรพ่นลำคอและจมูก สามารถลดการติดเชื้อที่โพรงจมูกและลำคอได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียง และยังมีการวิจัยจากภาควิชาเภสัชกรรมปฏิบัติ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง
ข้อเท็จจริง : เป็นข่าวปลอม เป็นการแอบอ้างใช้ชื่อและอ้างผลงานวิจัยของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งซึ่งผลิตภัณฑ์สารสกัดลำไยก็ไม่ได้รับการรับรองว่า ป้องกันการติดเชื้อโควิดได้จริง
สเปรย์ฟ้าทะลายโจร ช่วยฆ่าเชื้อไวรัส รักษาโควิด จริงหรือไม่?
จากที่มีโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ โดยเฉพาะทางสื่อออนไลน์ เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสเปรย์ฟ้าทะลายโจรว่าสามารถช่วยฆ่าเชื้อไวรัส รักษาโควิด
ข้อเท็จจริง : เป็นข่าวปลอม จากการตรวจสอบผลิตภัณฑ์สเปรย์ฟ้าทะลายโจร จดแจ้งเป็นเครื่องสำอางใช้ฉีดพ่นในช่องปาก เพื่อระงับกลิ่นปากเท่านั้น ทั้งนี้ สเปรย์พ่นช่องปากที่มีส่วนผสมของสมุนไพร หากมีสรรพคุณในการต้านไวรัส ป้องกันหรือรักษาโควิด จะจัดเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรตามกฎหมาย ซึ่งจะต้องมายื่นขอขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
ผลิตภัณฑ์สเปรย์พ่นคอกัญชง ช่วยยับยั้งไวรัส แบคทีเรีย และเชื้อโรคต่างๆ จริงหรือไม่?
จากกรณีที่มีการบอกต่อข้อมูลด้านสุขภาพโดยระบุว่าผลิตภัณฑ์สเปรย์พ่นคอกัญชง ช่วยยับยั้งไวรัส แบคทีเรีย และเชื้อโรคต่างๆ
ข้อเท็จจริง : เป็นข่าวปลอม จากการตรวจสอบในฐานข้อมูลด้านเครื่องสำอางพบว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจดแจ้งเป็นเครื่องสำอาง ใช้ฉีดพ่นภายในช่องปากเพื่อระงับกลิ่นปาก ดังนั้นการกล่าวอ้างว่าใช้พ่นคอ ยับยั้งไวรัส แบคทีเรีย และเชื้อโรคต่างๆ จึงเป็นเท็จ โอ้อวดเกินจริง
ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารช่วยรักษาอาการอ่อนเพลียเรื้อรังจากอาการลองโควิดได้จริงหรือ?
มีการแชร์ข้อมูลผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโดยระบุว่า ช่วยรักษาอาการอ่อนเพลียเรื้อรังจากอาการลองโควิด เริ่มดีขึ้นได้แค่กินวันละ 2 แคปซูลเท่านั้น
ข้อเท็จจริง : เป็นข่าวปลอม ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่มีการยื่นข้อมูลประสิทธิผลในการรักษาอาการอ่อนเพลียเรื้อรังจากอาการลองโควิด (Long COVID) ตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด หากผู้ป่วยหลงเชื่อซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมารับประทาน เพื่อหวังผลในการรักษาอาการอ่อนเพลียเรื้อรังจากอาการลองโควิด (Long COVID) อาจเสียเงินเปล่า และเสียโอกาสในการรักษา ควรสังเกตอาการของตนเอง หากรู้สึกว่าร่างกายยังอ่อนเพลีย ฟื้นตัวได้ไม่เท่าเดิม ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย และการรักษาที่ถูกต้อง
หน้ากากอนามัย
หน้ากากทำจากทองแดง ฆ่าเชื้อโควิดได้ 100% ใน 30 นาที จริงหรือ?
กรณีที่มีการแชร์ข้อมูลเรื่องหน้ากากอนามัยที่ทำจากทองแดง ซึ่งมีการกล่าวว่าสามารถฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ถึง 97% ในเวลาเพียง 5 นาที และ 100% ใน 30 นาที มีการศึกษาว่าสาร COPPER หรือ ทองแดง มีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสได้ จึงมีนักวิจัยสนใจจะพัฒนาหน้ากากที่ทำจากทองแดง เพื่อหวังว่าหน้ากากจะสามารถฆ่าเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียได้ โดยหน้ากากทองแดงเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผู้ผลิตหรือเจ้าของผลิตภัณฑ์มุ่งหมายใช้เพื่อป้องกันโรค จึงจัดเป็นเครื่องมือแพทย์
ข้อเท็จจริง : ไม่พบการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์หน้ากากทองแดงในสากล และยังไม่มีบริษัทใดยื่นขออนุญาตนำเข้าผลิตภัณฑ์หน้ากากทองแดงต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของประเทศไทย ซึ่งเมื่อหน้ากากอนามัยทองแดงไม่ได้ขออนุญาตนำเข้าต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จึงยังไม่ผ่านการตรวจสอบว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยหรือไม่
ผลิตภัณฑ์ยา
“แซ่วี Method” ใช้ยาปฏิชีวนะ “อะม็อกซีซิลลินและอะซิโธรมัยซิน” รักษาโรคโควิด 19 ได้จริงหรือไม่?
จากกรณีที่มีการแชร์คลิปวีดีโอหรือข้อความเกี่ยวกับแนวคิด “แซ่วี Method” สามารถรักษาโรคโควิด 19 ได้โดยการรับประทานยาปฏิชีวนะ 2 ชนิด ได้แก่ อะม็อกซีซิลลิน (Amoxycillin) และอะซิโธรมัยซิน (Azithromycin)
ข้อเท็จจริง : ไม่เป็นความจริง ยาอะม็อกซีซิลลินและยาอะซิโธรมัยซินเป็นยาปฏิชีวนะ ที่ใช้รักษาโรคหรืออาการที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไม่สามารถรักษาโรคโควิด 19 ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัสได้แต่อย่างใด โดยยาอะม็อกซีซิลลิน จัดอยู่ในกลุ่มเพนิซิลลิน (Penicillin) ใช้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินหายใจ ทางเดินปัสสาวะ หู คอ จมูก และผิวหนัง เป็นต้น
ส่วนยาอะซิโธรมัยซินจัดอยู่ในกลุ่มแมคโครไลน์ (Macrolide) ใช้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น โรคปอดบวม โรคหลอดลมอักเสบ ทอนซิลอักเสบ ไซนัสอักเสบ การติดเชื้อที่หูชั้นกลาง การติดเชื้อที่ทางเดินหายใจ เป็นต้น
การรักษาโรคด้วยยาปฏิชีวนะจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำในการใช้ยาจากแพทย์หรือเภสัชกร เพราะหากรับประทานยาปฏิชีวนะไม่ถูกวิธีจะทำให้เกิดเชื้อดื้อยา ภายหลังเมื่อป่วยจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อจะมีความทนต่อยามากขึ้น ทำให้ใช้ยาไม่ได้ผลนำไปสู่การเสียชีวิตได้
แผ่นช่วยฆ่าเชื้อไวรัส
แผ่น Virus Shut Out ช่วยฆ่าเชื้อโรค และเชื้อไวรัสได้ถึง 99.99% จริงหรือ?
จากกรณีที่มีข้อความโฆษณาขายสินค้าโดยระบุว่าแผ่น Virus Shut Out ช่วยฆ่าเชื้อโรค และเชื้อไวรัสได้ถึง 99.99%
ข้อเท็จจริง : ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า ผลิตภัณฑ์แผ่น Virus Shut Out ยังไม่รับอนุญาตจากอย. และเป็นผลิตภัณฑ์ที่ลักลอบนำเข้ามาขายโดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ที่สามารถฆ่าเชื้อในอากาศจัดเป็นวัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือนหรือทางสาธารณสุข ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งต้องขอขึ้นทะเบียนและขออนุญาตนำเข้ากับ อย. และผ่านการประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยก่อนจึงจะสามารถขายได้
ผลิตภัณฑ์ชนิดใช้กลั้วคอ
ผลิตภัณฑ์ใช้กลั้วคอทำลายไวรัส ป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสจากลำคอลงสู่ปอด?
มีข่าวในโลกออนไลน์เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ชนิดใช้กลั้วคอ มีส่วนผสมของโพวิโดน ไอโอดีน ช่วยทำลายเชื้อไวรัส ป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสจากลำคอลงสู่ปอด
ข้อเท็จจริง : ไม่เป็นความจริง โพวิโดนไอไอดีนชนิดกลั้วคอมีคุณสมบัติเป็นเพียงยาฆ่าเชื้อโรค เชื้อจุลินทรีย์หรือแบคทีเรียลดอาการอักเสบบริเวณช่องปากและลำคอ แผลในปาก และระงับกลิ่นปากเท่านั้น ไม่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสจากลำคอลงสู่ปอด
ตั้งสติก่อนซื้อ อย่าตกเป็นเหยื่อข่าวปลอม
หากพบเห็นข่าวปลอม หรือผลิตภัณฑ์หลอกลวง สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน อย. 1556 และ อีเมล์ [email protected]