เหตุการณ์เพลิงไหม้โรงงานที่กิ่งแก้ว และ #โรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้ เป็นสิ่งที่คนพูดถึงมากในโลกออนไลน์ และที่ผ่านมาในต่างประเทศเคยมีเหตุการณ์ หายนะที่เกิดขึ้นจากโรงงานเช่นกัน อุบัติภัยทั้งหมดที่รวบรวมมา นับเป็นความเสียหายต่อชีวิตมนุษย์ที่ไม่อาจหาสิ่งใดมาทดแทนได้
แอมโมเนียมไนเตรทระเบิดที่เลบานอน
จากเหตุการณ์ #โรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้ ขอย้อนรอยเหตุการณ์โรงงานไฟไหม้และระเบิดที่เลบานอน เพราะคงยังไม่จางหายไปจากความทรงจำ เพราะเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ปี 2020 โดย เหตุระเบิดครั้งใหญ่ที่คลังเก็บสารแอมโมเนียมไนเตรทในกรุงเบรุต ประเทศเลบานอน ที่คร่าชีวิตผู้คนไปนับร้อยในชั่วพริบตา ตัวเลขยืนยันอย่างเป็นทางการคือเสียชีวิต 215 ราย และมีผู้บาดเจ็บ 7,500 คน
ทางการ เลบานอน สรุปจากเหตุการณ์โรงงานนั้น มี ผู้คนถึง 3 แสนคนที่ต้องไร้ที่อยู่แบบฉับพลัน
เหตุการณ์เมื่อปีที่แล้ว ประชาชนในเมืองเบรุต เมืองหลวงของเลบานอน ต่างวิพากษ์วิจารณ์ รวมถึง ตำหนิรัฐบาลอย่างรุนแรง ว่าไร้ความสามารถ ปล่อยปละละเลย การดูแลสารเคมีอันตรายจนเป็นเหตุให้เกิดระเบิดครั้งใหญ่ และสูญเสียอย่างใหญ่หลวง
ครั้งนั้น หลายประเทศได้ส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและส่งสิ่งของบรรเทาทุกข์มายังกรุงเบรุต เช่น สหภาพยุโรป รัสเซีย ตูนิเซีย ตุรกี อิหร่าน กาตาร์และสหราชอาณาจักร
โรงงานเคมีระเบิดที่เจียงซู
โรงงานเคมีระเบิดที่มณฑลเจียงซู วันที่ 21 มีนาคม ปี 2019 โดย มีเหตุการณ์โรงงานเคมีระเบิดครั้งนี้เกิดขึ้นที่นิคมอุตสาหกรรมในเมืองเหยียนเฉิง มณฑลเจียงซู ในภาคตะวันออกของจีน
โรงงานนี้เป็นของบริษัทเทียนเจียอี้เคมิคอล ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2017 มีลูกจ้าง 195 คน ระเบิดก่อให้เกิดเพลิงไหม้รุนแรงที่พนักงานดับเพลิงต้องควบคุมเพลิงกันตลอดทั้งคืน มีถังเก็บสารเคมี 3 ถัง และพื้นที่ใกล้เคียง 5 จุดโดนเพลิงเผาผลาญ
แรงระเบิดซึ่งสร้างความสั่นสะเทือนไกลถึง 4 กิโลเมตร ยังสร้างความเสียหายแก่อาคารของโรงงานหลายแห่งในนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ และทำให้กระจกหน้าต่างบ้านเรือนประชาชนที่อยู่ไกลเป็นกิโลแตกกระจาย
เหตุการณ์ครั้งนั้น รัฐบาลท้องถิ่นเมืองเหยียนเฉิง มีคนเสียชีวิตอย่างน้อย 47 คน และบาดเจ็บมากกว่า 600 คน ในจำนวนนี้บาดเจ็บสาหัสไม่ต่ำกว่า 90 คน นับเป็นความน่าเศร้าของหายนะในครั้งนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เช็กพื้นที่อพยพกิ่งแก้ว 5 กม. เลี่ยงอันตรายควัน เคมีไฟไหม้โรงงานหมิงตี้
กรมอนามัยแนะวิธีปฏิบัติ คนในพื้นที่ โรงงานกิ่งแก้วระเบิด เป็นสารอันตราย
ผู้ว่าฯสมุทรปราการ สยบข่าวลือ ยัน! ไม่มีการฝังถังเคมี 5 แสนลิตรใต้ดิน
โรงงานผลิตยาฆ่าแมลง แก๊ซรั่วที่อินเดีย
ย้อนเข็มนาฬิกากลับไป วันที่ 2 ธันวาคม 1984 หรือเมื่อ 37 ปีที่แล้ว เกิดอีกหนึ่งหายนะของโลก โดย ก๊าซพิษจากโรงงานผลิตยาฆ่าแมลงของบริษัทยูเนียน คาร์ไบด์ (Union Carbide)ณ เมืองโภพาล ที่อินเดีย เริ่มรั่วไหล ก๊าซพิษดังกล่าวนี้มีชื่อว่า Methyl Isocyanate gas และยังคงรั่วในวันต่อมาคาดกันว่า ชาวเมืองโภพาลตายทันทีประมาณ 1,750 คน ศพเกลื่อนเมือง นับเป็นอุบัติเหตุด้านอุตสาหกรรมที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ
นับเป็นภาพที่เศร้าสลด แต่จำนวนผู้ตายยังคงทับทวีในเวลาต่อมา จนเพิ่มเป็นประมาณ 7,000 คน ในปัจจุบัน แม้ว่าเวลาจะล่วงเลยมา 37ปี แล้วก็ตาม ชาวเมืองโภพาลจำนวนมากยังคงทนทุกข์ด้วยโรคร้ายอันเป็นผลจากการสูดดมและสัมผัสก๊าซพิษ บ้างก็เป็นโรคปอด บ้างก็มีปัญหาระบบการหายใจ บางคนเป็นวัณโรค โรคผิวหนัง โรคตา และที่เป็นโรคจิตประสาทก็มี ชาวเมืองโภพาลที่ต้องทุกข์ทนกับโรคร้ายเหล่านี้มีจำ นวนเท่าใด ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด ประมาณการมีตั้งแต่ 120,000 คน จนถึง 250,000 คน
โรงกลั่นน้ำมันที่ฟิลาเดลเฟียไฟไหม้
ขณะที่ สหรัฐ เคยมีเหตุการณ์อุบัติภัยจากโรง กลั่นน้ำมันดิบในเมืองฟิลาเดลเฟียเกิดเพลิงไหม้ ของบริษัทเอเนอจี โซลูชันส์ อิงค์ (PES) เมื่อ 21 มิ.ย. 2019 เหตุการณ์ครั้งนั้น กลายเป็นเหตุหายนะครั้งร้ายแรงล่าสุดในพื้นที่อุตสาหกรรมชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกา
แรงระเบิดส่งเศษซากปรักหักพังปลิวว่อนตกเกลื่อนถนน แรงสั่นสะเทือนรู้สึกได้และมองเห็นเปลวเพลิงได้อย่างชัดเจนแม้อยู่ไกลออกไปหลายกิโลเมตร
สำหรับโรงงานกลั่นน้ำมันแห่งนี้ ถือเป็นโรงงานขนาดใหญ่ที่มีอัตราการกลั่นน้ำมันดิบเฉลี่ย 335,000 บาร์เรลต่อวัน มีพนักงานมากกว่า 1,000 คน และเป็นแหล่งพลังงานเชื้อเพลิงหลักในภูมิภาคโดยรอบ มีรายงานว่าหลังจากเหตุเพลิงไหม้ครั้งนี้ ทำให้โรงงานต้องหยุดชะงักไปชั่วคราว
หายนะครั้งใหญ่ The Deepwater Horizon!
อย่างไรก็ตาม ทุกๆเหตุการณ์ที่ลำดับมานั้น เกิดขึ้นบนภาคพื้นดินบนทวีปต่างๆ แต่หากจะลอง นึกย้อนถึงเหตุการณ์ ไฟไหม้ที่มีผลต่อระบบอุตสาหกรรมมากที่สุดในประวัติศาสตร์ คงต้องเป็นเหตุการณ์ Deepwater Horizon แท่นขุดเจาะ แท่นขุดเจาะน้ำมันระเบิด ครั้งใหญ่สุดของโลก กินเวลาของการรั่วไหลของสารเคมี ยาวนาน 20 เมษายน - 15 กรกฎาคม 2010 (86 วัน)
เหตุการณ์ เกิดขึ้นเมื่อ วันที่ 20 เมษายน ปี 2010 ก๊าซธรรมชาติที่ปะปนอยู่ในแหล่ง ได้ถูกแรงดันผลักขึ้นมาข้างบนแท่น ผ่านรอยรั่วตามชั้นหิน และได้ทำปฏิกิริยากับอากาศ จนเกิดระเบิดขึ้นอย่างรุนแรง
ในเวลานั้น มีพนักงานทำงานอยู่ 126 คน บนแท่นขุดเจาะ ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับความช่วยเหลือให้อพยพออกมาทัน แต่ก็โชคร้ายที่มีผู้เสียชีวิตถึง 11 ราย
สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในระบบนิเวศน์ของทะเลในอ่าวเม็กซิโก เนื่องจากคราบน้ำมันได้กระจายไปยังพื้นที่กว้างถึง 176,100 ตารางกิโลเมตร โดยมีการค้นพบว่า สัตว์น้ำจำนวนมากได้เสียชีวิตลงจากสาเหตุนี้ เช่น นก 800,000 ตัว ,เต่า 65,000 ตัว ,ปลาวาฬและปลาโลมา 1,400 ตัว
ผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อหายนะครั้งนี้ ก็คือบริษัท BP และศาลสหรัฐฯ ได้ตัดสินให้บริษัทมีความผิด 14 คดี และสั่งปรับเงินทันที 143,000 ล้านบาท รวมทั้งต้องชดเชยค่าใช้จ่ายกำจัดคราบน้ำมันในทะเลด้วย
โรงงานตุ๊กตาไฟไหม้ในไทย
หากจะมองย้อนมาที่เหตุการณ์ไฟไหม้ โรงงานในประเทศไทยบ้าง หายนะครั้งใหญ่ที่สุด คงหนีไม่พ้นเหตุการณ์ "โรงงานเคเดอร์" ที่ความสูญเสียครั้งนั้น ยังคงติดอยู่ในความโศกเศร้าของผู้คน
โดย 10 พฤษภาคม พ.ศ.2536 หรือเมื่อ 28 ปีที่แล้ว บริษัทเคเดอร์อินดัสเตรียล ไทยแลนด์ จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานตุ๊กตาขนาดใหญ่ ประกอบด้วยอาคาร 5 ชั้น จำนวน 4 อาคาร ตั้งอยู่บนถนนพุทธมณฑลสาย 4 ตำบลกระทุ่มล้ม อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เกิดไฟไหม้
ณ เวลานั้น คนงานกว่า 1,400 ชีวิต ปฏิบัติหน้าที่กันเหมือนทุกวัน ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดเพลิงไหม้เผาบริเวณชั้นล่างของอาคาร ทุกคนพยายามวิ่งหนีตายออกจากอาคาร พร้อมๆ กับไฟที่ลุกลามอย่างรวดเร็ว เพราะภายในโรงงานมีเชื้อเพลิงอย่างดี
โศกนาฏกรรมครั้งนี้ได้คร่าชีวิตผู้คนมากถึง 200 ราย บาดเจ็บสาหัส 469 ราย บางรายต้องกลายเป็นคนพิการ หรือเป็นอัมพาตตลอดชีวิต นอกจากนี้ยังมีเด็กๆ อีกกว่า 50-60 คน ต้องกลายเป็นเด็กกำพร้า
เหตุการณ์อุบัติภัยทั้งหมดที่รวบรวมมา นับเป็นความเสียหายต่อชีวิตมนุษย์ที่ไม่อาจหาสิ่งใดมาทดแทนได้ ...สิ่งที่ได้จากเหตุการณ์ทุกๆเหตุการณ์ คือ ต้องถอดบทเรียนจากหายนะทุกๆครั้งให้ได้ ว่าสาเหตุเกิดจากปัจจัย เส้นทางการหลบเลี่ยงไม่ให้เกิดหายนะทำได้หรือไม่ ...ป้องกันเหตุดีที่สุดแล้วหรือยัง...
เพราะทุกๆความสูญเสีย...ไม่มีสิ่งใดที่ทดแทนกันได้....