รมว.อุตสาหกรรม พร้อมด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ร่วมแถลงถึงสถานการณ์เหตุเพลิงไหม้ โรงงานผลิตเม็ดโฟมพลาสติก หมิงตี้เคมีคอล จำกัด เผยสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผล กระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเหตุเพลิงไหม้ โรงงานผลิตเม็ดโฟมพลาสติก หมิงตี้เคมีคอล จำกัด พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมแถลงข่าวถึงสถานการณ์เหตุเพลิงไหม้โดยนายวันชัย ระบุว่า เหตุเพลิงไหม้เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเช้ามืดของวันนี้ (5 ก.ค.) ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้มีการเข้าไปควบคุมสถานการณ์อย่างเต็มที่แต่ยังไม่สามารถควบคุมเพลิงได้ เนื่องจากเชื้อเพลิงเป็นสารเคมีจึงต้องใช้โฟมเข้ามาดับไฟ โดยโฟมดังกล่าว ได้รับความร่วมมือมาจากหลายหน่วยงานรวมกว่า 66,000 ลิตร
ซึ่งขณะนี้เวลาประมาณ 15.00 น. เฮลิคอปเตอร์ที่ทำหน้าที่โปรยสารเคมีทางอากาศได้ออกปฏิบัติการแล้ว 2 เที่ยวบิน เที่ยวบินละ 3,000 ลิตรซึ่งจากการปล่อยโฟมทั้ง 2 เที่ยวบินพบว่าสถานการณ์เริ่มดีขึ้น จึงคาดว่าอีก 6 เที่ยวบินน่าจะสามารถควบคุมเพลิงทั้งหมดไว้ได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• ด่วน! ลมเปลี่ยนทิศ จนท.ขยายพื้นที่เสี่ยง 10 กม. รอบโรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้
• ปภ.เผย คืบหน้าไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว บ้านพัง 70 หลัง เจ็บอย่างน้อย 33 ราย ดับ1
• นายกฯ กำชับหน่วยงานดูแลความปลอดภัยประชาชน เหตุไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว
ด้านนายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ยืนยันว่าจำนวนสารเคมีในถังเคมีภัณฑ์บ่อที่ 2 มีเพียง 20,000 ลิตรไม่ใช่ 5 แสนลิตร ตามที่มีกระแสข่าวออกไปก่อนหน้านี้
ขณะที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่าขณะนี้สั่งการให้กรมแรงงานอุตสาหกรรม พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผล กระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว พร้อมขอความร่วมมือประชาชนห้ามกลับเข้าบ้านเรือนในช่วงเวลานี้จนกว่าเจ้าหน้าที่จะแจ้ง เนื่องจากพบว่าสารเคมีที่ถูกเพลิงไหม้ได้แก่ไบเทน และสารสไตรลีน มีความเป็นพิษ สูงและเป็นอันตรายต่อประชาชน เพราะเป็นสารก่อมะเร็งในระยะยาว
อย่างไรก็ตามนายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ขณะนี้ทุกหน่วยงานกำลังอยู่ในระหว่างระดมทีมเพื่อตรวจสอบสาเหตุการเกิดเพลิงไหม้และอนุมัติให้ทางจังหวัด สามารถเบิกงบประมาณฉุกเฉินออกมาใช้ได้โดยคำนวณจากความเหมาะสม
นอกจากนี้ นายสุริยะยังกล่าวถึงกรณีที่หลายคนตั้งคำถามว่าเหตุใดโรงงานนี้จึงตั้งอยู่บริเวณชุมชน ซึ่งความเป็นจริงแล้วโรงงานดังกล่าวตั้งอยู่ในบริเวณนี้เริ่มดำเนินการครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2532 ในขณะที่ขอใบอนุญาตการประกอบกิจการโรงงานดังกล่าวยังไม่มีชุมชนเกิดขึ้นแต่หลังจากที่โรงงานเริ่มดำเนินการชุมชน เกิดตามขึ้นมาภายหลัง
สำหรับ เหตุการณ์ระเบิดครั้งนี้ทำให้โรงงานโดยรอบต้องปิดตัว และหยุดเดินเครื่องจักรอย่างไม่มีกำหนด จนกว่าจะมีการประเมินความเสี่ยง จากเจ้าหน้าที่ว่ามีความปลอดภัยแล้ว แบ่งเป็น รัศมี 5 กิโลเมตรมีโรงงานอุตสาหกรรม 301 โรง 7.5 กิโลเมตร มี 257 โรงงาน ส่วนระยะรัศมี 10 กิโลเมตรมี 562 โรงงานส่วนชุมชนในรัศมี 5 กิโลเมตร 243 ชุมชน