กลายเป็นประเด็นร้อนแรง จากการตั้งคำถามจากภาคสังคม ที่้ตั้งคำถามว่า ไทยไม่ได้อยู่ ในโครงการโคแวกซ์ เป็นเพราะรัฐบาลประมาทเกินไป เพราะการที่ไทยไม่ได้อยู่ในโคแวกซ์นั้น ถือเป็นส่วนหนึ่งทำให้ตอนนี้ปัญหาโควิด ในไทย ระบาดยังไม่คลี่คลาย และวัคซีนก็ดูจะยังไม่เพียงพอ...
พลาดเข้าโคแวกซ์เพราะประมาท ?
หลังจาก มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ อภิปรายตอนหนึ่งในสภาในการอภิปรายงบประมาณประจำปี 2565 ว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดวิธีแก้ปัญหา คือ รัฐบาลต้องเร่งจัดหาวัคซีนมาให้เพี่น้องประชาชนให้ได้ 60-70% จากจำนวนประชากรทั้งหมด
“แต่ปัจจุบันเราฉีดวัคซีนไปได้เพียงประมาณ 3.5 ล้านคน นี่คือรวมเข็ม 1 และเข็ม 2 เราพลาดการร่วมโครงการวัคซีนกับโคแวกซ์เพราะเราประมาท เราได้วัคซีนจากไฟเซอร์ช้า เพราะความประมาทของนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในช่วงแรก เพราะผูกขาดวัคซีนเพียง 2 ยี่ห้อ แม้ภาคเอกชน และโรงพยาบาลเอกชนจะพยายามนำเข้ามาก็ไม่สามารถนำเข้ามาได้ เพราะมีการตั้งกำแพงเรียกค่าหัวคิวในการฉีดโดสละประมาณ 500-1,000 บาท ดังนั้นปัญหาในอนาคตเราก็ไม่สามารถการท่องเที่ยวได้”
จึงมีคำถามมากมายในจากภาคสังคม ว่า ประเทศไทย ไม่เข้าโครงการโคแวกซ์ (COVAX) เพราะประมาท และตัดสินใจไม่เด็ดขาดจริงหรือ ? เพราะหากมีวัคซีนจากโคแวกซ์มาช่วยในสถานการณ์นี้ ก็น่าจะทำให้ประเทศไทยมีวัคซีนเพียงพอต่อความจำเป็นในเบื้องต้น...
...นั่นคือ คำถาม จาก สังคมส่วนหนึ่ง
โคแวกซ์คืออะไร
มาทำความรู้จักกับ โครงการโคแวกซ์ อีกครั้งหนึ่ง โดยโครงการนี้ ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือน เม.ย. ปี 2020 มุ่งสนับสนุนการพัฒนา จัดซื้อ และส่งวัคซีนไปยังกว่า 180 ประเทศทั่วโลก โดยมีองค์การอนามัยโลก หรือ WHO เป็นผู้นำ ร่วมกับองค์กรพันธมิตรเพื่อวัคซีน (The Vaccine Alliance หรือ Gavi) ที่ก่อตั้งโดยบิลและเมลินดา เกตส์ และกลุ่มพันธมิตรความร่วมมือด้านนวัตกรรมเพื่อรับมือโรคระบาด (Coalition for Epidemic Preparedness Innovations หรือ Cepi)
โดย โคแวกซ์ หรือ Covax ย่อมาจาก Covid-19 Vaccines Global Access Facility หรือโครงการเพื่อการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ระดับโลก
โดย ผู้ที่คิดโครงการนี้ ย่อมมองเห็นอนาคตแล้วว่าประเทศที่ยากจนหรือด้อยพัฒนาย่อมเข้าถึงวัคซีนโควิด-19ได้ยากกว่าประเทศชั้นนำ จึงทำให้โครงการ COVAX นี้เกิดขึ้น
เหตุผลที่ไทยไม่เข้าโคแวกซ์
ทั้งนี้ ประเทศไทย ไม่ได้เข้าร่วมโครงการตั้งแต่ต้น โดย นพ. ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เคยอธิบายว่า มีความพยายามแสวงหาความร่วมมือผ่านโคแวกซ์ แต่ก็ยอมรับว่าการทำสัญญาสั่งจองซื้อมีความยุ่งยากบางประการทำให้การได้มาของวัคซีนยังไม่แน่นอน และอาจจะเป็นไปได้ค่อนข้างยาก
โคแวกซ์ มีเป้าหมายเพื่อแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 ให้กับประเทศยากจน โดยในอาเซียนมีประเทศที่ได้รับวัคซีนฟรี ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว เมียนมา ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ส่วนประเทศไทย บรูไน สิงคโปร์ และมาเลเซีย ไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับวัคซีนฟรี หากจะเข้าร่วมโครงการต้องนำเงินไปร่วมลงขันในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 นั่นแปลว่า ไทยหากคิดจะเข้าโครงการต้องเอางบประมาณมหาศาลไปวางไว้ก่อน
ด้านนายอนุทิน ชาญวีระกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็ได้ชี้แจงว่า ไทยได้เจรจากับโคแวกซ์มาตลอด แต่ไม่อยู่เกณฑ์ที่ได้รับวัคซีนฟรี เนื่องจากโคแวกซ์ให้สิทธิแก่ประเทศยากจนที่องค์การอนามัยโลก และพันธมิตรวัคซีน Gavi ให้การสนับสนุนจำนวน 92 ประเทศ แต่ไทยเป็นประเทศฐานะปานกลาง หากจะร่วมกับโคแวกซ์ไทยต้องซื้อราคาแพงกว่า และไม่สามารถเลือกวัคซีนจากผู้ผลิตรายใดได้ มีความไม่แน่นอนทั้ง ชนิด จำนวน และราคา รวมทั้งต้องจ่ายเงินล่วงหน้า นั่นจึงเป็นเหตุให้ ไทยไม่เข้าร่วมโครงการโคแวกซ์
โคแว็กซ์เคยสะดุดเพราะโควิดอินเดีย
เมื่อเดือนพฤษภาคม มีการเปิดเผยข้อมูลว่า มีเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ตามเป้า เช่น มอลโดว่า, ตูวาลู, นาอูรู และโดมินิกัน ส่วนประเทศอื่นๆ ได้วัคซีนไปเพียงไม่ถึง 1 ใน 3 ของเป้าหมายที่วางไว้เท่านั้น อาทิ ในทวีปแอฟริกา รวันดา ซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนไปมากที่สุดในภูมิภาค ได้วัคซีนไปเพียงแค่ 32%
เหตุผลที่ทำให้โครงการสะดุดนั้น เป็นเพราะ โคแวกซ์ มีวัคซีนติดค้างส่งจากอินเดียถึง 190 ล้านโดสเลยทีเดียว และอินเดียเจอการระบาดหนัก จึงไม่สามารถกระจายวัคซีนได้ นั่นทำให้ มีการเรียกร้องให้ประเทศยักษ์ใหญ่อย่าง G7 ช่วยเหลือ
ประเทศใหญ่สบทบช่วยโคแวกซ์
ประเทศมหาอำนาจ ต่างลงขันช่วยเหลือโครงการโคแวกซ์ โดยล่าสุด ญี่ปุ่น กำลังจะบริจาคเงินเพิ่มเติมให้แก่โครงการโคแวกซ์ ขององค์การอนามัยโลกอีก 800 ล้านดอลลาร์ หลังจากก่อนหน้านี้สมทบไปแล้ว 200 ล้านดอลลาร์
ขณะที่ สหรัฐอเมริกา ลงขันเงินเยอะที่สุดตอนนี้ คือ 2,500 ล้านดอลลาร์ ,เยอรมนี ลงขันไปเกือบ 1100 ล้านดอลลาร์ , ขณะที่ สหราชอาณาจักร สมทบไป 735 ล้านดอลลาร์
ณ เวลานี้ อินเดีย ได้รับการจัดสรรวัคซีนจากโครงการโคแวกซ์มากที่สุด ราวๆ 97 ล้านโดส, ปากีสถาน 17 ล้านโดส , ไนจีเรีย 16 ล้านโดส , อินโดนีเซีย 14 ล้านโดส และ บังคลาเทศ 13 ล้านโดส ขณะที่บราซิลได้ 10 ล้านโดส
อย่างไรก็ตาม ในหลายๆประเทศที่เข้าโครงการโคแวกซ์แล้ว พวกเขาไม่ได้ รอวัคซีนเพียงแค่ทางเดียวจากโครงการ เพราะรัฐบาลในทุกประเทศพยายาม หาทางติดต่อนำเข้าวัคซีน จากหลายๆช่องทาง เพราะ ปัญหาโควิด19 ระบาดครั้งนี้ ทุกกประเทศต่าง พยายามหาทางออกสำรองไว้หลายๆทาง
ในยามวิกฤตโควิดระบาด ที่มี ความเป็นความตายของประชาชนเป็นตัวประกัน การมี "ทางออก" ทางเลือกไว้มากกว่าหนึ่งทาง ย่อมดีกว่า การถูกบังคับให้เดินแค่ ทางเดียว...