ประเด็น ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสถานภาพรัฐมนตรีร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า กลายเป็นเรื่องที่สื่อต่างประเทศสนใจ และที่ออสเตรเลีย พร้อมใจกันรายงานและจับตาเรื่องนี้ พร้อมกับตั้งคำถามสำคัญว่า คนที่เคยถูกตัดสินในศาลประเทศอื่น สามารถทำงานการเมืองในประเทศไทย ใช่หรือไม่?
• สปอร์ตไลท์ส่องธรรมนัส
กลับกลายเป็นเรื่องที่สปอร์ตไลท์สาดส่องไม่ใช่แค่เป็นเรื่องในประเทศ แต่ถูกแสงไฟจับในต่างประเทศด้วย สำหรับ เรื่องราว ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสถานภาพของร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพราะสื่อจากออสเตรเลีย หลายสำนัก ลงข่าวทันทีที่ มีคำตัดสิน อาทิ Sydney Morning Herald, sydneynewstoday และ 247newsaroundtheworld
ทุกสำนักข่าว ลงรายละเอียดไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ รายงานผลคำตัดสินของ ศาลรัฐธรรมนูญ ต่อกรณีที่มีประเด็นปัญหาว่า ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า จะพ้นสภาพการเป็นรัฐมนตรีหรือไม่ หลังจากที่ ในอดีต ศาลมลรัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศ ออสเตรเลีย เคยตัดสินจำคุกร้อยเอกธรรมนัสในเรือนจำซิดนีย์เป็นเวลา 4 ปี จากการนำเข้าเฮโรอีน 3.2 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 4.1 ล้านเหรียญออสเตรเลีย ในสมัยที่ยังใช้ชื่อ มนัส บ่อพรหม
นอกจากนี้ สื่อออสเตรเลีย Sydney Morning Herald ได้อ้างบทสัมภาษณ์แสดงความคิดเห็นต่อกรณีนี้ โดย ได้ลงคำสัมภาษณ์ของ วรนัยน์ วาณิชกะ บรรณาธิการบริหารสำนักข่าว Thisrupt ซึ่งให้ความเห็นว่า ไม่มี ‘หลักนิติธรรม’ ในประเทศไทย มีแต่ ‘Rule of Power’ หรือ "กฎแห่งอำนาจ" เท่านั้น พร้อมระบุว่า สถานะของธรรมนัสถือเป็น "ดีลเมกเกอร์" ผู้ทรงพลังคนสำคัญในรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ฉะนั้น คำตัดสินที่ออกมาจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร
• ผิดที่เมืองนอก ไม่ได้ผิดที่ไทย ?
สื่อออสเตรเลียชื่อดัง Sydney Morning Herald ยังได้สัมภาษณ์ วรนัยน์ วาณิชกะ บรรณาธิการบริหารสำนักข่าว Thisrupt ซึ่งให้ความเห็นว่า ไม่มี ‘หลักนิติธรรม’ ในประเทศไทย มีแต่ ‘Rule of Power’ หรือ ‘กฎแห่งอำนาจ’ เท่านั้น
"ในช่วงที่ผ่านมา รัฐมนตรีธรรมนัส กลายเป็นนักการเมืองตัวหลัก และเป็น "ดีลเมกเกอร์" คนสำคัญของรัฐประยุทธ จันทร์โอชา ตัวรัฐมนตรีธรรมนัสรู้ดีว่าเขามีคุณค่า รัฐบาลของประยุทธ จันทร์โอชาก็รู้ดีเช่นกัน ดังนั้น ที่คำตัดสินที่ออกมาจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลย"
นอกจากนี้ สื่อ Sydney Morning Herald ยังได้อ้างคำพูดของ สุณัย ผาสุข นักวิชาการของ Human Rights Watch ประจำประเทศไทย อีกว่า ด้วยคำตัดสินล่าสุดของศาลรัฐธรรมนูญ อาชญากรทุกประเภทที่ถูกตัดสินในศาลประเทศอื่นก็สามารถเข้ามาทำงานการเมืองในประเทศไทยได้โดยไม่ต้องกังวล การก่ออาชญากรรมไม่ว่าจะร้ายแรงขนาดไหนก็ไม่ผิดรัฐธรรมนูญไทย
• ทบทวนความจำปี 28 ปีที่แล้ว
ในช่วงท้ายของรายงานพิเศษ สื่อออสเตรเลีย Sydney Morning Herald ได้หมุนเข็มนาฬิกา ย้อนกลับไปในปี 1993 หรือ พ.ศ. 2536 โดยสรุปเหตุการณ์ในอดีตในคดีนี้ว่า สำนวนข้อเท็จจริงทางคดีระบุว่ามนัส ถูกจับเมื่อวันที่ 15 เม.ย. 2536 ที่โรงแรมพาลาจใกล้ชายหาดบอนได พร้อมผู้กระทำความผิดร่วมอีก 3 คน ซึ่งเป็นคนไทย 1 คน และคนออสเตรเลีย 2 คน
ทั้งนี้ เฮโรอีนของกลางในคดีนี้มีน้ำหนัก 3.2 กิโลกรัม ทางการออสเตรเลียประเมินว่า อาจมีมูลค่าสูงสุดในท้องตลาดในขณะนั้นถึง 4.1 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (มูลค่าตามอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบันราว 80 ล้านบาท)
ด้านบันทึกของศาลระบุว่า มนัส บ่อพรหม ยอมรับสารภาพเมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2536 ในฐานมีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องกับการนำเข้าเฮโรอีนในปริมาณเพื่อการค้าเข้าไปยังออสเตรเลีย ศาลมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 31 มี.ค.2537 ลงโทษจำคุก 6 ปี โดยให้เริ่มนับวันรับโทษตั้งแต่วันที่ถูกจับกุม และจะไม่ปล่อยตัวจนกว่าจะรับโทษไปแล้ว 4 ปี จากนั้นประสงค์ให้เนรเทศออกนอกประเทศ อย่างไรก็ตาม ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า ยืนยันเสมอว่าไม่เคยให้การรับสารภาพว่าเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับคดีนี้