ปัจจุบัน พลังงานหมุนเวียนเข้ามาทดแทนพลังงานฟอสซิลแล้วอย่างเต็มตัว ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ พลังงานชีวมวล หรือพลังงานความร้อนใต้พิภพ
พลังงานเหล่านี้เป็นพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แถมยังช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าด้วย
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก็เช่นกัน ได้เดินหน้าโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด (Hydro-floating Solar Hybrid) โรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดแบบผสมผสานระหว่าง “พลังงานแสงอาทิตย์” ที่มีอยู่อย่างไม่จำกัด ไม่มีต้นทุนค่าเชื้อเพลิง เพื่อทำงานร่วมกับ โรงไฟฟ้า “พลังน้ำ” ของ กฟผ. ที่มีอยู่เดิม ทำให้ผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องยาวนานขึ้น และยังทำให้ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าต่ำลง โดยโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดของ กฟผ. แห่งแรก ตั้งอยู่ที่เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี ได้ชื่อว่าเป็น โครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดใหญ่ที่สุดในโลก มีกำลังผลิตไฟฟ้าถึง 45 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์แล้ว เมื่อปี 2564
ล่าสุดปี 2566 กฟผ. ได้ดำเนินโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดแห่งที่ 2 เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น กำลังผลิตไฟฟ้า 24 เมกะวัตต์ โดยจุดเด่นของโครงการฯ คือ เพิ่มการติดตั้งแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน BESS (Battery Energy Storage System) เสริมประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยลิเธียมไออนขนาด 6 เมกะวัตต์-ชั่วโมง สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ประมาณ 30 นาที จึงช่วยลดข้อจำกัดของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่จะผลิตไฟฟ้าได้ต้องขึ้นอยู่กับสภาพอากาศเป็นหลัก
รู้ไหมว่า.. โครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น นั้น ใช้แผงโซลาร์เซลล์ถึง 47,000 – 49,000 แผง ติดตั้งอยู่บนพื้นที่ผิวน้ำประมาณ 320 ไร่ โดยมีส่วนการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้า 22 กิโลโวลต์ เชื่อมต่อกับสถานีไฟฟ้าแรงสูงอุบลรัตน์ ส่วนแผงโซลาร์เซลล์ใช้ชนิด Double Glass ที่มีความแข็งแรงทนทานสูง ทนความชื้นได้ดี สามารถวางชิดผิวน้ำได้ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้ถึงร้อยละ 10-15 เลยทีเดียว ในส่วนของทุ่นลอยน้ำเป็นทุ่นพลาสติกชนิด High Density Poly Ethylene (HDPE) ซึ่งเป็นวัสดุประเภทเดียวกับท่อส่งน้ำประปา จึงไม่ทำร้ายระบบนิเวศ เป็นมิตรกับสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังทนแดดและรังสี UV ได้เป็นอย่างดี ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้จึงทำให้โซลาร์เซลล์ลอยน้ำมีอายุการใช้งานนานถึง 25 ปี
นอกจากนี้ ยังเป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่เดิมอย่างเต็มศักยภาพ ไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทางเกษตร อีกทั้งยังใช้อุปกรณ์โครงข่ายไฟฟ้าของเขื่อนที่มีอยู่เดิม เช่น หม้อแปลงและสายส่ง จึงช่วยให้การผลิตไฟฟ้ามีต้นทุนที่ลดลง นอกจากประโยชน์เรื่องความมั่นคงทางพลังงานแล้ว โซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดแห่งนี้ยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ ตั้งแต่การก่อสร้างที่ใช้แรงงานท้องถิ่น ทำให้เกิดการจ้างงาน ไปจนถึงการต่อยอดประโยชน์ด้านการท่องเที่ยว ซึ่ง กฟผ. ร่วมกับจังหวัดขอนแก่นพัฒนาโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดแห่งนี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวด้านพลังงานหมุนเวียนแห่งใหม่ของ จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ให้กับประชาชนในท้องถิ่นอีกทางหนึ่ง
กฟผ. มีแผนพัฒนาโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำ กฟผ. 16 โครงการทั่วประเทศ รวมกำลังการผลิต 2,725 เมกะวัตต์ สามารถดูได้จากบทความ “ส่องโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด กฟผ. กำลังผลิต 2,725 เมกะวัตต์ บทบาทที่ยิ่งใหญ่ ช่วยลดต้นทุนค่าไฟ ช่วยลดโลกร้อน”