คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโอ๊คแลนด์เรียกร้องการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบจากมลภาวะแสงและเสียงที่มีต่อรูปแบบการนอนหลับของนก และผลกระทบจากการอดนอนที่มีต่อการสื่อสารด้วยเสียงของสัตว์กลุ่มนี้
บทความที่เผยแพร่ผ่านวารสารออนไลน์ไบโอโลจี เลตเตอร์ส (Biology Letters) ในวันพุธ 17 ส.ค. 2565 ระบุว่าเหตุผลจำนวนหนึ่งสนับสนุนการคาดการณ์ว่า ภาวะอดนอนอาจส่งผลต่อการเรียนรู้เสียงร้อง ความจำ การผสมพันธุ์ และพฤติกรรมป้องกันอาณาเขตของนก ซึ่งมีนัยสำคัญต่อการอนุรักษ์นกในเขตเมืองทั่วโลก โดยการนอนหลับพบได้ในสัตว์ทุกชนิดที่เคยมีการวิจัยมา ตั้งแต่แมงกะพรุน หนอนตัวแบน นก ไปจนถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ส่วนสำหรับมนุษย์แล้วการอดนอนจะส่งผลต่อการพูดคุยและการเรียนรู้ภาษา
นกใช้การเปล่งเสียงเพื่อรับรู้ ดึงดูดคู่ครอง และป้องกันทรัพยากร การถูกรบกวนการนอนจึงอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพเสียงและการเรียนรู้ของนก ขณะการเปลี่ยนแปลงของเสียงที่มีต้นตอจากการอดนอนอาจกระทบความสำเร็จในการสืบพันธุ์และการอยู่รอดของสัตว์ชนิดนี้
เนื้อหาที่น่าสนใจ :
กรีนพีซ ญี่ปุ่นเผย สถิติแก้วกาแฟใช้ครั้งเดียวทิ้งในปีเดียวเฉียด 370 ล้านใบ
ลมหายใจเพื่อเมือง ปตท. ปลูกต้นไม้ 100,000 ต้น ทำไมคนกรุงควรมีพื้นที่สีเขียว
จูเลียน กาวีรากี มัสซอย นักศึกษาปริญญาเอกจากคณะวิทยาศาสตร์ชีวภาพของมหาวิทยาลัยฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เขียนบทความนี้ กล่าวว่าเรามักพูดคุยสื่อสารได้ไม่มีประสิทธิภาพเมื่อหลับไม่สนิท หรืออาจพูดจาไม่รู้เรื่องและแสดงความคิดออกมาได้ยาก นกเองก็ดูเหมือนจะมีปัญหาเดียวกันนี้
มัสซอยเสริมว่านกส่งเสียงร้องเพื่อปกป้องอาณาเขต หาคู่ และสื่อสาร บรรดาปัจจัยที่ไปรบกวนการนอนหลับ เช่น มลภาวะทางแสงหรือเสียง จึงสามารถส่งผลต่อการเปล่งเสียงร้อง และอาจนำไปสู่ผลกระทบด้านการสืบพันธุ์และการอยู่รอดของพวกมัน อย่างไรก็ดีตอนนี้เรายังคงศึกษาว่าการนอนหลับไม่สนิทตอนกลางคืนส่งผลต่อการร้องเพลงของนกอย่างไรด้วย
บทความดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการปริญญาเอก ซึ่งมุ่งศึกษาผลกระทบจากการถูกรบกวนการนอนหลับในกลุ่มนกแม็กพายออสเตรเลียและนกเอี้ยงสาลิกา