svasdssvasds

วิธีการดูแล หญิงตั้งครรภ์ หญิงหลังคลอด และทารกแรกเกิด ช่วงโควิด 19

วิธีการดูแล หญิงตั้งครรภ์ หญิงหลังคลอด และทารกแรกเกิด ช่วงโควิด 19

ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ควรปฏิบัติตามคำแนะนำในการดูแล หญิงตั้งครรภ์ และหญิงหลังคลอด รวมถึงการดูแลทารกแรกเกิดอย่างเคร่งครัด

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยแพร่วิธีการดูแลผู้หญิง ตั้งครรภ์ หลังคลอด และทารกแรกเกิด ช่วงการแพร่ระบาดโควิด 19 ขึ้น โดยแบ่งเป็น หญิงตั้งครรภ์ หญิงหลังคลอด กลุ่มปกติ และ ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง รวมถึงการดูแลทารกแรกเกิดในกรณีแม่เป็นผู้ที่สงสัยติดเชื้อและติดเชื้อ COVID-19

การดูแลหญิงตั้งครรภ์ หญิงหลังคลอด กลุ่มปกติ

กลุ่มปกติในที่นี้ คือ กลุ่มที่ไม่ติดเชื้อ ไม่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ COVID-19 และเนื่องจากเป็นเชื้อไวรัสชนิดใหม่ จึงยังไม่มีข้อมูลว่า โอกาสติดเชื้อ covid-19 มากกว่าคนทั่วไปหรือไม่ แต่ในหญิงตั้งครรภ์มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย จึงมีโอกาสเสี่ยงทำให้เกิดการติดเชื้อไวรัสตระกูลเดียวกับ covid-19 และไวรัสชนิดอื่นที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจอื่นๆ

สำหรับหญิงตั้งครรภ์ หญิงหลังคลอด กลุ่มปกติ ให้ใช้หลักการป้องกัน 3 ล. นั่นคือ เลี่ยง ลด ดูแลตนเอง อย่างเคร่งครัด ดังนี้

  1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดผู้ที่มีอาการไอ เป็นไข้ หรือผู้ที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง และในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด หรือรวมกลุ่มกันเป็นจำนวนมาก
  2. รักษาระยะห่าง social distancing ในการอยู่ร่วมกับบุคคลอื่น ด้วยการอยู่ห่างกัน 1 – 2 เมตร
  3. หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสบริเวณดวงตา ปาก และจมูก
  4. รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่เสมอ หรือปรุงอาหารให้สุกร้อนทั่วถึง
  5. หลีกเลี่ยงการใช้ภาชนะรับประทานอาหารและของใช้ส่วนตัว ร่วมกับผู้อื่น
  6. ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำสะอาดนานอย่างน้อย 20 วินาที ทุกครั้งที่มีการไอจาม สัมผัสสิ่งแปลกปลอม ก่อนรับประทานอาหาร หรือออกจากห้องน้ำ หากไม่มีสบู่ ให้ใช้แอลกอฮอล์เจล 70 เปอร์เซ็นต์
  7. ในขณะไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย ถ้ามีอาการไอ จาม ให้ใช้ต้นแขนด้านบนปิดปากทุกครั้ง
  8. แม่ทุกคนที่อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ หรือมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ หากมีอาการป่วยเล็กน้อย ควรพักผ่อนอยู่ที่บ้าน ถ้ามีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ หายใจเหนื่อย ควรรีบไปพบแพทย์
  9. หญิงตั้งครรภ์สามารถฝากครรภ์ได้ตามนัด

การดูแล หญิงตั้งครรภ์ หญิงหลังคลอด ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง

กลุ่มเสี่ยงในที่นี้คือ ผู้ที่มีประวัติการเดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง หรือสัมผัสหรือใกล้ชิดผู้ป่วย COVID-19 ควรปฏิบัติตน ดังนี้

  • แยกตนเองออกจากครอบครัว และสังเกตอาการจนครบ 14 วัน งดการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น
  • งดการออกไปในที่ชุมชนสาธารณะโดยไม่จำเป็น และงดการพูดคุย หรืออยู่ใกล้ชิดกับผู้อื่นในระยะใกล้กว่า 2 เมตร
  • กรณีครบกำหนดนัดฝากครรภ์ ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบว่าตนเองอยู่ระหว่างการเฝ้าระวัง 14 วัน เพื่อพิจารณาเลื่อนการฝากครรภ์ และปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่
  • กรณีเจ็บครรภ์คลอด ต้องไปโรงพยาบาลทันที และแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบว่าตนเองอยู่ระหว่างการเฝ้าระวัง 14 วัน

การดูแลทารกแรกเกิด ในกรณีแม่เป็นผู้ที่สงสัยติดเชื้อและติดเชื้อ COVID-19

  • ยังไม่มีหลักฐานการติดต่อผ่านทางรกหรือผ่านทางน้ำนมแต่อย่างใด
  • ทารกที่เกิดจากแม่ที่ติดเชื้อ COVID-19 จัดเป็นผู้มีความเสี่ยง จะต้องมีการแยกตัวออกจากผู้อื่น และต้องสังเกตอาการเป็นเวลา 14 วัน
  • บุคลากรทางการแพทย์ ควรอธิบายถึงความเสี่ยง ความจำเป็น และประโยชน์ ของการแยกแม่ออกจากทารกชั่วคราว ให้แม่เข้าใจและปฏิบัติตาม

แนวทางการปฏิบัติในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เมื่อคำนึงถึงประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการในการแพร่เชื้อไวรัสผ่านทางน้ำนม ดังนั้นจึงสามารถกินนมแม่ได้ โดยปฏิบัติตามแนวทางป้องกันการติดเชื้ออย่างเคร่งครัด

ข้อแนะนำการปฏิบัติสำหรับแม่

ในกรณีแม่เป็นผู้ที่สงสัยว่าจะติดเชื้อ หรือ แม่ที่ติดเชื้อ COVID-19 แล้วและมีสภาพร่างกายพร้อมที่จะปั๊มนมได้ ควรปฏิบัติตาม ดังนี้

ก่อนเริ่มกิจกรรมที่เกี่ยวกับการเตรียมนมและการปั๊มนม

  • อาบน้ำหรือเช็ดทำความสะอาดบริเวณเต้านมและหัวนมด้วยน้ำและสบู่
  • ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ นานอย่างน้อย 20 วินาที หรือแอลกอฮอล์เข้มข้น 70 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นไป
  • สวมหน้ากากอนามัย ตลอดการทำกิจกรรมเกี่ยวกับการเตรียมนม และการปั๊มนม

หลังเสร็จสิ้นกิจกรรมที่เกี่ยวกับการเตรียมนมและการปั๊มนม

  • ล้างทำความสะอาดอุปกรณ์ เช่น ที่ปั๊มนม ขวดนม ด้วยน้ำยาล้างอุปกรณ์ และทำการนึ่งเพื่อฆ่าเชื้อ
  • การให้นม ให้หาผู้ช่วยเหลือหรือญาติที่มีสุขภาพแข็งแรงที่ทราบวิธีการป้อนนมที่ถูกต้อง และต้องปฏิบัติตามวิธีการป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด โดยวิธีการนำน้ำนมแม่มาป้อนด้วยการใช้ช้อน หรือถ้วยเล็ก หรือขวด
  • กรณีที่แม่ต้องอยู่เพียงลำพัง แม่สามารถป้อนนมลูกได้เอง โดยต้องปฏิบัติตามแนวทาง เพื่อป้องกันการติดเชื้ออย่างเคร่งครัด

วิธีการดูแล หญิงตั้งครรภ์

related