ข่าวดีสำหรับคนไทย เพราะทีมนักวิจัยพัฒนา ชุดตรวจโควิด 19 ได้ในต้นทุนต่ำ ทุกคนก็จะมีโอกาสเข้าถึงและตรวจหาเชื้อได้เร็วขึ้น
ผลงานวิจัยนี้มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า 'COXY-AMP ชุดตรวจโควิด 19 ด้วยเทคนิคแลมป์เปลี่ยนสีในขั้นตอนเดียว' ร่วมพัฒนาโดย ทีมวิจัยจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. กับ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล
COXY-AMP ชุดตรวจโควิด-19 ชิ้นแรกที่ผลิตขึ้นนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกใบรับรองให้ผ่านการประเมินเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์แล้ว และยังเป็นผลงานหนึ่งเดียวจากภูมิภาคเอเชียที่เข้ารอบ 1 ใน 20 ทีมสุดท้าย ในการประกวดของมูลนิธิ XPRIZE ซึ่งเป็นมีผู้เข้าแข่งขันจากทั่วโลกมากกว่า 700 ทีม
ผู้ใช้ชุดตรวจใส่สารพันธุกรรม RNA ที่สกัดได้ในหลอดปฏิกิริยาทดสอบ แล้วนำไปบ่มที่อุณหภูมิ 65 องศาเซลเซียส นาน 75 นาที หากมีการติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ สีของสารในหลอดปฏิกิริยาจะเปลี่ยนจาก สีม่วง เป็น สีเหลือง อัตโนมัติ รู้ผลได้ทันที
จากการทดสอบชุดตรวจนี้กับตัวอย่างเริ่มต้น 146 ตัวอย่าง พบว่ามีค่าความไว (sensitivity) 92% ความจำเพาะ (Specificity) 100% และมีความแม่นยำ (accuracy) ที่ 97% อีกทั้งยังสามารถแสดงผลได้ภายใน 75 นาที ตามที่ระบุไว้
ทั้งนี้ การเก็บตัวอย่าง การตรวจสอบและประเมินผล ต้องดำเนินการโดยผู้ที่ได้รับอนุญาตและอยู่ในความควบคุมของแพทย์ นักวิจัย หรือผู้ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น
ผลงานวิจัยภายใต้ สวทช.ที่ผ่านหลักเกณฑ์การตรวจสอบแล้วจะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการหรือภาคเอกชนที่สนใจนำไปผลิตชุดตรวจฯ เชิงรุกควบคุมโรคโควิด-19 หรือต่อยอดสู่การใช้งานกับโรคอุบัติใหม่อื่นๆ ต่อไป
ล่าสุด วรรณสิกา เกียรติปฐมชัย นักวิจัยอาวุโส หัวหน้าทีมวิจัยเทคโนโลยีวิศวกรรมชีวภาพและการตรวจวัด กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยและการค้นหาสารชีวภาพ ไบโอเทค สวทช. ผู้พัฒนาชุดตรวจโควิด-19 แบบรวดเร็ว เผยว่า มีองค์กรเอกชนซื้อลิขสิทธิ์ไปดำเนินการผลิต โดย SPRiNG จะอัปเดตให้ทราบในตอนต่อไป
เนื่องจากเป็นผลงานที่ทีมวิจัยคนไทยพัฒนาขึ้นและสามารถส่งต่อให้ผู้ประกอบการผลิตในเชิงพาณิชย์ได้เอง จึงช่วยชาติประหยัดได้ในแง่ 'ลดการนำเข้า' หรือหากผลิตได้มากพอก็ไม่จำเป็นต้องนำเข้าชุดตรวจโควิดราคาแพงจากเมืองนอก และคนทั่วไปก็สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้นเพราะต้นทุนในการตรวจคัดกรองตัวอย่างละ 300 บาท (ถูกกว่าวิธีตรวจ RT-qPCR ที่มีต้นทุนสูงเกือบ 1,000 บาท) ทั้งนี้ ยังไม่รวมค่าแล็บ ค่าบุคลากรทางการแพทย์ ค่าดำเนินการอื่นๆ ซึ่งต้องนำมาคำนวณรวมเป็นต้นทุนที่แท้จริงของการตรวจหาเชื้อต่อไป