วัคซีน Chula-Cov19 ขั้นตอนต่อไป คือ รอการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาว่า วัคซีนปลอดภัย และตรวจสอบโรงงานแล้วว่าไว้ใจได้ จึงจะสามารถเปิดรับสมัครจิตอาสามาทดสอบวัคซีน
ศูนย์วิจัย วัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยรัฐเพนซิลเวเนียของสหรัฐฯ พัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิด mRNA ที่มีชื่อว่า Chula-Cov19 หรือ จุฬาโควิดนายทีน
ที่ผ่านมา การทดลองวัคซีนในลิงเห็นผลดี ขั้นตอนต่อไป รอหน่วยงานเกี่ยวข้องไฟเขียวการทดสอบในมนุษย์ (จิตอาสา) อย่างเร็วที่สุดน่าจะเป็นเดือนตุลาคมนี้
ศ. นพ. เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ขณะนี้ วัคซีนที่ขึ้นทะเบียนให้องค์การอนามัยโลกรับรู้ น่าจะเกิน 150 ชนิด ประเทศไทยมี 20 ชนิด ขึ้นทะเบียนไป 7 ชนิด โดยมีของจุฬาฯ 3 ชนิด นั่นคือ DNA mRNA และ โปรตีน ซึ่งก่อนหน้านี้ จุฬาฯได้ทดลองชนิด DNA ในหนู และได้ผลค่อนข้างดี ต่อมา ก็มาเลือก mRNA ส่วนโปรตีนนั้นทีมของคณะเภสัชฯ กำลังทำอยู่
การทดสอบวัคซีนในหนูและในลิงไม่ยาก เพราะระบบเราดีมาก ต่อไปถ้าเรามีวัคซีนตัวอื่นๆ การทดสอบในหนูในลิงเราก็จะสปีดเร็วแบบนี้ได้เลย แต่ส่วนที่ยากก็คือ
"บริษัทแรกที่ซานดิเอโก้ ก็ส่งอีเมลตรงดุ่ยๆ ไปเลยนะ แล้วเขาก็ตอบมาว่าสนใจๆ แล้วยิ่งมารู้ว่าทำกับ ดรูว์ ไวส์แมน ที่มีชื่อเสียงมาก เขาก็ไว้ใจเรา ทั้งที่ตอนนั้นเงินเรายังไม่มีเลยนะ ต้องไปหาเงินมาจอง ตอนนั้นจุฬาฯ เขาลงเงินให้เราอยู่ส่วนหนึ่ง แล้วก็มีเงินบริจาค ถ้ารอเงินรัฐบาลก็ไม่ต้องหวังจะจอง อันนี้เล่าแบบเบื้องลึกให้ฟัง"ศ. นพ. เกียรติ กล่าว
"ส่วนที่จะมาหุ้มวัคซีนเรา คือ ไขมันขนาดจิ๋ว อันนี้เราต้องไปซื้อเทคโนโลยีมา โชคดีมีเพื่อนดีอีก ที่บริษัทนี้เคยทำงานกับ โปรเฟสเซอร์ ดรูว์ ไวส์แมน เขาก็ไว้ใจเราว่าเราไม่โม้ แต่ก็ต่อรองเงินกันเหนื่อยมาก มีแนวโน้มที่จะออกมาดี เราจะไม่ต้องจ่ายเยอะมากในตอนแรก แต่ถ้าวัคซีนขายได้จริงก็ต้องจ่ายเขา นั่นก็แฟร์ เพราะเราใช้เทคโนโลยีของเขา" ศ. นพ. เกียรติ กล่าว
ศ. นพ. เกียรติ กล่าวว่า ความสำเร็จแค่มาถึงในลิงเราก็ต้องเรียกว่าไชโย เป็นด่านที่สองแล้ว ความสำเร็จที่เราอยากจะดูก่อนว่าเข้าคนได้จริงไหม ประเทศไทยเราโดนปรามาสมาโดยตลอด ตอนนี้คนไทยเองก็ปรามาสว่าวัคซีนเขาใช้เวลาเป็นสิบปี อยู่ๆ จุฬาฯ จะไปทดลองกับคนภายในไม่ถึง 9 เดือนได้จริงหรือเปล่า อันนี้เราก็อยากเห็นว่ามันเกิดไหม เราอยากเห็นว่ามันเป็นไปได้ โรคมันใช้เวลาแค่ 2-3 เดือน เข้าคนได้ ประเทศไทยจะทำได้ไหม อันนั้นเป็นด่านที่สามที่ถ้าเราทำได้ก็ถือว่าสุดยอดของประเทศไทยแล้ว ถึงเราจะไม่สำเร็จในระยะที่สาม ระยะที่หนึ่งผ่าน ระยะที่สองนี่ก็หมูแล้ว เราได้แต่หวังว่าเราไม่ต้องทำสาม ถ้าเราทำสำเร็จ เรามีโรงงานเอกชนไทยซึ่งกล้ามาก กล้าลงทุนก่อนที่รัฐบาลจะฟันธงเสียด้วยซ้ำว่าจะเอาด้วย แม้ตอนนี้รัฐบาลบอกจะให้เงินมา แต่ตอนนี้ก็ยังไม่มีอะไรชัดเจนสักอย่าง เพราะระบบของงบประมาณ ซึ่งถ้าเขาผลิตได้จริง 10 ล้านโดสขึ้นไปภายในกลางปีหน้า อันนั้นคือฉลองชัยชนะของประเทศไทย ตอนนี้ไม่มีใครคิดหรอกว่าประเทศไทยจะมีวัคซีนโควิดที่เข้าคนแข่งกับโลกได้ แต่ถ้าตุลาคมหรือก่อนสิ้นปีนี้เราเข้าคนได้ แน่นอนว่า ธงไทยเราจะไปอยู่ในแมพของโลก ว่ามาจากไหนถึงมาแข่งโอลิมปิกแล้วมาเข้ากับเขาได้ด้วย
วัคซีน โควิด-19 ในประเทศไทย หากเราข้ามเฟสที่ 3 ไป คาดว่าเร็วสุดก็กลางปีหน้า ซึ่งก็ต้องดูด้วยว่า อย. หรือ สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา ใช้วิจารณญาณในการอนุมัติด้วย เพราะสุดท้ายต้องเน้นเรื่องความปลอดภัยก่อน ความน่าเชื่อถือของทีมจุฬาฯ ว่ามันจริงไหม ไปดูในรายละเอียดอีกที
"สำหรับการทดสอบในคน ยังไม่สามารถเปิดรับสมัครจิตอาสามาทดสอบวัคซีน Chula-Cov19 ได้ เราจะเริ่มรับอาสาสมัครตามคิวได้ก็ต่อเมื่อ อย. อนุมัติว่าวัคซีนของเราปลอดภัย ตรวจสอบโรงงานแล้วว่าไว้ใจได้ ผลงานวิจัยไม่หมกเม็ดอะไร และกรรมการยุติธรรมคณะแพทย์ดูแล้วว่าทีมอาจารย์เกียรติข้อมูลเชื่อถือได้นะ แล้วหลังจากนั้น เราถึงจะประกาศรับสมัครได้ เชื่อว่าในระยะที่ 1 ระยะที่ 2 มีอาสาสมัครพร้อมได้เร็ว ถ้าเราเริ่มงานได้เร็ว ผลก็ออกมาเร็ว ย้ำว่า เราเอาความปลอดภัยของอาสาสมัครมาเป็นอันดับที่หนึ่งเสมอ ลุ้นวัคซีนได้ผลเป็นลำดับที่สอง คาดว่าเร็วสุดน่าจะประมาณเดือนกันยายน เราคุยกับ อย. หลายรอบแล้ว ซึ่ง อย. กรุณาเรามาก ภายใต้วิกฤตนี้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงประเทศจริงๆ อย. ตั้งทีมอย่างดี หารือกับเราเชิงรุกเลย เราต้องระดมคนมาเขียน ที่เล่ามาต้องเขียนให้เขาเห็น ให้เขาพิสูจน์ได้ ไม่เกิน 2-4 อาทิตย์นี้ ถ้าเอกสารเราพร้อมเราก็ส่ง อย."ศ. นพ. เกียรติ กล่าว
ท้ายที่สุด ศ. นพ. เกียรติ ฝากให้คนไทยเริ่มเห็นคุณค่าของการพัฒนาเทคโนโลยี เราอย่ารอว่ามีวิกฤตแล้วเรามาพัฒนา นี่เราสะสมมา 15 ปี ถ้าคนไทยมีจิตใจนอกจากบริจาควัด บริจาคโรงเรียนแล้ว อยากให้บริจาควิจัย ให้นักวิจัยเก่งๆ มีอาชีพ มีงานทำ สมมุติถ้าเราเข้มแข็งต่อไปเราทำอะไร สุดท้าย ยังไงเสียช่วงวิกฤตโควิด การใส่หน้ากากป้องกันโรคได้แน่นอน ไม่ให้เราแพร่คนอื่น และไม่ให้เราหายใจเอาของคนอื่นเข้ามา การล้างมือ การเช็ดแอลกอฮอล์บ่อยๆ การอยู่ห่างกัน จนกว่าเราจะมีวัคซีนที่ปลอดภัย ซึ่งต่อให้โลกนี้มีวัคซีนปลายปีหน้าก็ไม่ใช่ทุกคนที่ได้วัคซีน ฉะนั้นการดูแลตนเอง การดูแลคนที่เรารัก การดูแลหน่วยงานที่เราอยู่ ต้องดูแลให้ปลอดภัยเอาไว้ก่อน นี่จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ