บีบีซี รายงานว่า กลุ่มสังเกตการณ์ด้านการคุ้มกันข้อมูลของอังกฤษเตรียมเรียกค่าปรับเฟซบุ๊ก 5 แสนปอนด์ หรือ ราว 21 ล้านบาท จากกรณีอื้อฉาวเคมบริดจ์ อนาลิติกา โดยคาดว่าจะเป็นการสั่งปรับที่สูงที่สุดจากสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของอังกฤษ
อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นยังไม่มีรายงานยืนยันว่า เครือข่ายโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ของโลกจะยื่นอุทธรณ์ขอลดโทษหรือไม่
ด้านอลิซาเบธ เดทแฮม หนึ่งในคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของอังกฤษ กล่าวว่า เฟซบุ๊กได้ละเมิดกฎหมายเพราะล้มเหลวในการป้องกันข้อมูลของประชาชน และไม่โปร่งใสถึงความแน่ชัดว่าข้อมูลที่ถูกเก็บไว้ในเฟซบุ๊กถูกดึงไปใช้ในทางที่ผิดอย่างไร นอกจากนี้ คณะกรรมการยังได้เขียนจดหมายถึงพรรคการเมืองหลักของอังกฤษทั้งหมด 11 พรรค บังคับให้เข้ารับการตรวจสอบวิธีการปกป้องข้อมูลของพรรคด้วย
เมื่อเดือนเมษายนทีผ่านมา เฟซบุ๊กกลายเป็นข่าวอื้อฉาว และต้องเผชิญวิกฤตความน่าเชื่อถือครั้งใหญ่ เมื่อบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลและที่ปรึกษาทางการเมือง เคมบริดจ์ อนาลิติกา นำข้อมูลผู้ใช้เฟซบุ๊กในสหรัฐฯ 87 ล้านรายชื่อ ไปใช้เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลผู้มีสิทธิเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯในปี 2016 โดยไม่ได้รับอนุญาต จนนำไปสู่กระแสเรียกร้องให้มีการยกเลิกการใช้เฟซบุ๊ก
ขณะที่ภายหลัง นายมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟชบุ๊ค เผชิญกับการซักถามโดยคณะกรรมาธิการสภาคองเกรสของสหรัฐฯนานกว่า 10 ชั่วโมง ซึ่งนายซักเคอร์เบิร์กได้ยอมรับว่า เฟซบุ๊กทำผิดพลาดอย่างมหาศาลที่ไม่พิจารณาให้ทั่วถึงมากพอว่าเฟซบุ๊กมีหน้าที่รับผิดชอบต่อโลกมากเพียงใด และทางบริษัทก็ไม่ได้ป้องกันอย่างดีพอที่จะไม่ให้เฟซบุ๊กถูกใช้ประโยชน์ในเชิงลบ ดังนั้นนี่จึงเป็นความผิดของเขา และเขาอยากจะขอโทษ ในฐานะที่เป็นผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก