svasdssvasds

เสพข่าว ดราม่าเยอะไปเสี่ยงจิตตก พร้อมแนะวิธีบำบัดความเครียด

เสพข่าว ดราม่าเยอะไปเสี่ยงจิตตก พร้อมแนะวิธีบำบัดความเครียด

ทุกวันนี้มีเรื่องราวข่าวสารที่สะเทือนอารมณ์มากมาย ทั้งในและต่างประเทศ การติดตามข่าวสารที่ผู้คนสนใจอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายวัน อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต เพราะข่าวและเนื้อหาต่าง ๆ ที่เผยแพร่ในสื่อและโซเชียลมีเดีย สร้างความเศร้า ความเครียดสะสม ที่มากเกินไป

การเสพข่าวหดหู่มากไปสามารถส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจได้มากและหลายระบบ เช่น ใจสั่น แน่นหน้าอก นอนไม่หลับ วิตกกังวล ซึ่งถ้าปล่อยไว้นาน อาจส่งผลต่อการเกิดโรคบางอย่างได้ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

จากข้อมูลการเปรียบเทียบระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ กับ ต้นเดือนมีนาคม 2565 ที่ผ่านมา สำรวจประชาชนทั่วไป พบว่า เสี่ยงเครียดสูงขึ้นเป็น 2.1 เท่า จากเดิม 1.7% เป็น 3.6% และเสี่ยงซึมเศร้าสูงขึ้นเป็น 4.8 เท่าจากเดิม 2.1% เป็น 10.1% ซึ่งที่น่ากังวลมาก โดยมีจิตแพทย์อย่างน้อย 4-5 คนพบว่า ผู้ป่วยที่เราดูแลอยู่ โดยเฉพาะกลุ่มโรคซึมเศร้า เริ่มมีจิตใจเศร้าหมองลง หลับยาก และบางคนจินตนาการภาพขึ้นมาจากข่าว ส่งผลให้ทำร้ายจิตใจตัวเอง ไม่มีสมาธิ เบื่อหน่ายสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิตแนะนำ 5 วิธีจัดการความเครียดด้วยตัวเอง

1.จัดสรรเวลาในชีวิตประจำวัน

Work Life Balance เป็นคำที่ทุกคนอยากจะทำให้ได้ นอกจากการจัดสรรเวลาการทำงาน และการใช้ชีวิตส่วนตัวให้ดีจะช่วยให้ชีวิตส่วนตัวดีขึ้นแล้วยังช่วยในเรี่องของการที่เราไม่เอาความเครียดต่างๆ อาจงดเสพข่าวหรือใช้สื่อสังคมออนไลน์ไปสักพัก อย่าเชื่อพาดหัวข่าวที่เห็นในทันที เพราะมักใช้คำกระตุ้นอารมณ์ดึงดูดให้สนใจ แนะนำให้อ่านรายละเอียดของข่าวก่อน

2.ผ่อนคลายด้วยการดูหนัง ฟังเพลง

 หนึ่งวิธีทำทำได้ง่ายและรวดเร็วที่สุด อาจยังกำจัดคราวเครียดไม่ได้ทันที แต่การที่เราเอาตัวเองหรือออกไปหากิจกรรมทำที่นอกจากการนั่งจมกับความคิดเครียดๆออกมาจากความเครียดได้สักพักหนึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดีได้ทำตามใจตัวเองบ้าง เช่น การนอนดูหนัง ฟังเพลงสบายๆ แน่นอนว่าช่วยให้สมองปลอดโปร่งสักพัก และอาจทำให้เรากลับมาคิดแก้ไขปัญหาหรือเรื่องเครียดได้ด้วย

3. ออกกำลังกาย คลายเครียด

การออกกำลังกายในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงการออกแรงอย่างหนัก เหงื่อตกมากๆ แต่เป็นการออกกำลังกายที่ให้ผลทางสุขภาพจิต เพียงแค่เดินปกติสัก 10 นาที หันเหความสนใจไปในทางบวก ก็ได้ผลแล้ว แต่ถ้ามีเวลาหลังเลิกงานควรจะไปออกกำลังกายอย่างจริงจัง อย่างน้อยวันละ 30 นาที แค่ 3-5 วันต่อสัปดาห์ก็เพียงพอให้ฮอร์โมนแห่งความสุขทำงานได้อย่างเต็มที่บ้าง

4. ฝึกสมาธิ ลดเครียด

การจมอยู่กับความเครียดอาจทำให้เราไม่อยากทำอย่างอื่นเลย ดังนั้น การแก้ปัญหาง่ายๆ เมื่อรู้สึกวิตกกังวลมากเกินไป ลองหาเวลาทำสมาธิ หรือสวดมนต์ไหว้พระ ฝึกลมหายใจ ลองกำหนดลมหายใจเข้า-ออกง่ายๆ ทำให้ชีพจรเต้นช้าลง เอาใจไปโฟกัสการกำหนดลมก็ทำให้เราลืมเรื่องเครียด ๆ ได้เช่นกัน

5.ปรับเปลี่ยนความคิด

เอาตัวเองออกมายืนเป็นคนนอกดูบ้าง อาจทำให้เราเห็นสาเหตุของปัญหาและวิธีแก้ไขได้ง่ายกว่าการเอาตัวเองไปจมอยู่กับตรงนั้น หรือหากเรามองข้ามเรื่องเล็กน้อย และยอมรับข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นของงานหรือเพื่อนร่วมงาน อาจทำให้เราเข้าใจสถานการณ์ และหายเครียดได้เร็วขึ้น อีกทั้งยังน่าจะป้องกันตัวจากความทุกข์ต่างๆ ได้ดีอีกด้วย

แน่นอนว่าเมื่อติดตามข่าวสารของสถานการณ์ต่างๆ ที่มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาจนมากเกินไป ย่อมมีความรู้สึกกังวล มีอารมณ์ร่วม ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ตามกลไกธรรมชาติของมนุษย์เมื่อเผชิญกับเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อความรู้สึก แต่หากไม่มีการจำกัดการเสพข่าวสารอย่างพอดี อาจส่งผลทำให้เกิดความกังวลและเครียดมากยิ่งขึ้น ทั่งนี้ทุกอย่างต้องขึ้นอยู่ที่ความพอดี