svasdssvasds

ยุติการลงโทษด้วยความรุนแรงต่อเด็ก ปรับพฤติกรรมที่ไม่สร้างผลลบในระยะยาว

ยุติการลงโทษด้วยความรุนแรงต่อเด็ก ปรับพฤติกรรมที่ไม่สร้างผลลบในระยะยาว

การลงโทษเด็กด้วยความรุนแรง ไม่ว่าในกรณีผู้ปกครองหรือในสถานศึกษา เป็นการใช้อำนาจที่ผู้ใหญ่กระทำต่อผู้เเยาว์ ที่ตามหลักการแล้วถือว่าเป็นบุคคลที่มีสิทธิในเนื้อตัวร่างกายเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ จึงควรมีการปรับแนวคิดการเลี้ยงดูและรับมือนี้ด้วยการเสริมแรงทางบวกแทน

อัพเดตประเทศที่ออกกฏหมายยกเลิกการลงโทษด้วยการตีรวมทั้งหมด 63 ประเทศ

ในปัจจุบันมีประเทศ 63 ประเทศ ที่มีข้อห้ามการลงโทษทางร่างกายเด็กโดยสมบูรณ์ทั้งในบ้านและภายนอกเช่นโรงเรียนหรือสถานรับเลี้ยงเด็ก ทั้งนี้อีก 26 ประเทศที่มุ่งมั่นที่จะปฏิรูปกฎหมายของตนเพื่อให้มีการสั่งห้ามทางกฎหมายโดยสมบูรณ์ 

 

ส่วนใน 30 ประเทศการลงโทษทางร่างกาย หรือ การเฆี่ยนตี นั้นยังคงชอบด้วยกฎหมายภายใต้กฎหมายของรัฐ ประเพณี และ/หรือศาสนา ซึ่งเป็นโทษสำหรับความผิดที่กระทำโดยบุคคลทั่วไปและรวมถึงเยาวชน 

 

โดยประเทศแรกที่ริเริ่มกฏหมายและรณรงค์เรื่องการยกเลิกการลงโทษเด็กด้วยความรุนแรงทางร่างกายและจิตใจ คือ ประเทศสวีเดน โดยออกกฏหมายบังคับใช้ในปี 1979 หรือ เมื่อ 43 ปีมาแล้ว

 

โดยจากรายงานขององค์กร The Global Initiative to End All Corporal Punishment of Children

ความริเริ่มระดับโลกในการยุติการลงโทษเด็กทุกรูปแบบ สนับสนุนการห้ามและยุติการลงโทษและให้การสนับสนุนทางเทคนิคและคำแนะนำที่เกี่ยวกับการปฏิรูปกฎหมายอย่างรอบด้าน ไม่ระบุว่าประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มไหนอย่างแน่ชัดเพราะ ไม่มีระบุออกเป็นตัวบทกฏหมายมีเพียงออกเป็น กฏกระทรวงไว้เท่านั้น 

ภาพแสดงผลสรุปประเทศทั่วโลกกับกฏหมายการยกเลิกการลงโทษด้วยการตี

ข่าวล่าสุดที่รายงานว่าครูในโรงเรียนทำโทษเด็กนักเรียนด้วยการตีอย่างที่เห็นแต่ก็จบลงด้วยการที่ครูไม่ได้รับโทษจกาการกระทำ

ซึ่งถือว่าดำเนินการตาม
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (The United Nations Convention on the Rights of the Child, หรือ UNCRC) คือเอกสารว่าด้วยสิทธิเด็กที่สมบูรณ์ที่สุด อนุสัญญาฯ ประกอบไปด้วยมาตราต่าง ๆ ที่ครอบคลุมสิทธิทุกประการที่เด็กพึงได้รับ 54 มาตรา ประเทศ 196 ประเทศให้การรับรอง ซึ่งมากกว่าที่อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ได้รับคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติมีหน้าที่ดูแลให้ประเทศต่าง ๆที่ลงนามรับรองและให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กด้านดำเนินการตามอนุสัญญาฯ คณะกรรมการฯ ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าหากประเทศต่างๆ จะทำการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของเด็กอย่างถูกต้อง สิ่งหนึ่งที่ต้องทำคือการออกกฎหมายซึ่ง ห้ามการลงโทษเด็กทุกรูปแบบ

 

โดยเหตุผลที่ประเทศเรายังไม่สามารถปรับใช้ตามอนุสัญญาฯ นี้สรุปไว้ว่า 

 

1.ผู้ใหญ่อ้างว่าตัวเองโตมาด้วยไม้เรียวเมื่อตอนเด็ก มองว่าเป็นการเลี้ยงดูตามปกติที่เคยได้รับมาและส่งต่อให้กับบุตรหลานได้ต่อ

2.ลงโทษเด็กเพราะเกิดความโกรธและเครียด จนทำเป็นเรื่องเคยชิน และยากที่จะเปลี่ยนแปลง

3.ไม่มีรู้ว่ามีวิธีการสอนหรือรับมือกับพฤติกรรมแบบอื่นอยู่ด้วย  

 

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น  ได้เขียนสนับสนุนให้มีการยกเลิกการลงโทษทางร่างกายแก่เด็ก เพราะนอกจากผลวิจัยทางด้านจิตวิทยา ที่ชี้ชัดแล้วว่าการลงโทษมีแต่จะสร้างเจ็บปวด

และไม่สามารถ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ได้อย่างที่ผู้ใหญ่คาดหวังแล้วนั้น ยังสร้างผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจในระยะยาวแก่เด็กคนนึงที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตต่อไป 

 

ทั้งนี้ในส่วนของพัฒนาการทางด้านกฏหมายและระเบียบมีกล่าวไว้ว่า ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2515 และฉบับที่ 2 พ.ศ. 2522 โดยให้เฆี่ยนด้วยไม้เรียว เหลากลม ผิวเรียบ เส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 0.7 ซม. ที่บริเวณก้นหรือขาอ่อนท่อนบนด้านหลัง ซึ่งมีเครื่องแต่งกายรับรอง กำหนดการเฆี่ยนไม่เกิน 6 ที การเฆี่ยนต้องทำในที่ไม่เปิดเผย และในลักษณะเพื่อว่ากล่าวสั่งสอนให้เข็ดหลาบ แต่ก็ถูกยกเลิกไปใน ปี พ.ศ. 2543

 

ต่อมากระทรวงศึกษาธิการ ได้ออกระเบียบว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548 ห้ามลงโทษนักเรียนและนักศึกษาด้วยวิธีรุนแรง หรือแบบกลั่นแกล้ง หรือลงโทษด้วยความโกรธ หรือด้วยความพยาบาท โดยคำนึงถึงอายุนักเรียนหรือนักศึกษาและความร้ายแรงของพฤติการณ์ประกอบการลงโทษด้วย การลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษาให้เป็นไปเพื่อเจตนาที่จะแก้นิสัย และความประพฤติไม่ดีของนักเรียนหรือนักศึกษาให้รู้สำนึกในความผิด และกลับประพฤติตนในทางที่ดีต่อไป ถ้าครูยังลงโทษด้วยความรุนแรง ก็อาจมีความผิดทางวินัย และความผิดทางอาญาด้วย

 

พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 กำหนดไว้ว่า ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำหรือละเว้นการกระทำ อันเป็นการทำทารุณกรรมต่อร่างกายหรือจิตใจของเด็ก

 

ผลเสียของการทำโทษด้วยการตีคือ

  • การตีทำลายความไว้วางใจ เด็กที่ถูกตีจะถอยกลับมาสร้างพื้นที่เล็กๆ ให้กับตัวเองและลดความสัมพันธ์กับผู้ที่ตีลง เมื่อเด็กมีความไว้วางใจน้อยลง ก็มีความเป็นไปได้ที่เขาจะแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวออกมาต่อคนๆ นั้น โดยอาจจะเลือกที่จะแสดงความก้าวร้าวออกมาก่อนที่จะถูกกระทำด้วย
  • การตีทำลายสุขภาพจิต (ไม่น่าจะมีเด็กที่ถูกตีคนไหนรู้สึกดีหรือมีความสุขทางใจเพิ่มขึ้นหรอกจริงไหมคะ)
  • การตีเป็นการเพิ่มอัตราการกระทำผิดกฎหมายและการต่ออาชญากรรม
    (เช่นอาจจะทำให้เกิดเหตุที่รุนแรงต่อมาจากการตีนั้นๆ )
  • การตีส่วนใหญ่เป็นลักษณะที่ดูเหมือนเป็นการทำร้ายร่างกายเด็กมากกว่าการอบรมสั่งสอน

 

โดยนพ.ทวีศักดิ์กล่าวเสริมต่อว่า หลักวิธีทางจิตวิทยา หรือ พฤติกรรมศาสตร์การลงโทษ (punishment) คือการทำให้อัตราการตอบสนอง หรือความถี่ของพฤติกรรมลดลง แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

1. การลงโทษทางบวก (positive punishment)

เป็นการให้สิ่งที่บุคคลไม่พึงพอใจ มีผลทำให้บุคคลมีพฤติกรรมลดลง เช่น การให้ทำกิจกรรมชดเชย (overcorrection)

ประกอบด้วย 

  • re-stitutional overcorrection การแก้ไขผลของที่ทำผิดพลาดไปแล้วให้ถูกต้อง เช่น การให้เด็กเช็ดโต๊ะที่ทำแก้วน้ำหก
  • positive-practice overcorrection การฝึกพฤติกรรมซ้ำๆ ใช้กับสิ่งที่ทำผิดแล้วไม่สามารถแก้ไขผลได้ เช่น เด็กคนที่ชอบโยนบอลใส่เพื่อน ให้ฝึกรับส่งบอลที่ถูกต้องซ้ำๆ หลายรอบ 

 

2. การลงโทษทางลบ (negative punishment)

เป็นการนำสิ่งที่บุคคลพึงพอใจออกไป มีผลทำให้บุคคลมีพฤติกรรมลดลง เช่น การไทม์เอ๊าท์หรือเข้ามุม (time out) การปรับสินไหม (response cost)

 

แม้แต่สัตว์เลี้ยงถ้าเราจะฝึกฝนหรือปรับพฤติกรรมก็ยังต้องใช้เทคนิกหลอกล่อและค่อยๆ ใช้เวลาให้เกิดเรียนรู้ แล้วทำไมการอบรม สั่งสอนลูกหลานของเราเองถึงต้องใช้ความรุนแรงในการลงโทษเมื่อพวกเขาทำผิด วัยเด็กเป็นวัยแห่งการเรียนรู้โลกใบนี้ที่ยังใหม่สำหรับเขา ผู้ใหญ่เองที่ผ่านช่วงเวลาและมีประสบการณ์มากกว่าควรใช้เหตุผลและมีวิธีการที่ช่วยประคับประคองการเติบโตของเด็กๆ ให้อยู่ในลู่ทางที่เหมาะสม 


การตีด้วยความรัก จึงไม่ควรเป็นข้ออ้างในการกระทำความรุนแรงต่อเด็ก เพราะเทียบกับในกรณีของผู้หญิงหรือผู้สูงอายุที่มีการรณรงค์หยุดใช้ความรุนแรง ก็ถือว่าเป็นสิ่งผิดที่สังคมไม่ยอมรับ การลงโทษเด็กด้วยความรุนแรงจึงเหมือนเป็นการส่งเสริมการใช้ความรุนแรงให้เด็กจดจำนำไปต่อกับคนที่เด็กกว่าหรือตัวเล็กกว่า ระเบียบวินัยไม่อาจสร้างจากการลงโทษด้วยการใช้ความรุนแรง แต่ควรปลูกฝังให้เด็กเคารพซึ่งกันและกัน ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นเพศหรืออายุไหน การส่งเสริมให้ออกเป็นกฏหมายในการลงโทษทุกรูปแบบต่อเด็ก จะช่วยสร้างความชัดเจนและตอกย้ำให้ผู้ใหญ่ต้องยกเลิกการตีและปรับวิธีการรับมือพฤติกรรมของเด็กด้วยการเสริมแรงทางบวก เพราะถือเป็นการละเมิดสิทธิเนื้อตัวร่างกายของเด็กที่ถือเป็นบุคคลหนึ่งเหมือนผู้ที่บรรลุนิติภาวะแล้วเชนกัน

ที่มา

1 2 3 4