ปัจจุบันชีวิตของคนวัยทำงานหรือพนักงานออฟฟิศก็ยังอยู่กับความเร่งรีบ วันนี้มีเทคนิคง่าย ๆ ที่จะทำให้สุขภาพของคนวัยทำงานดีขึ้นกว่าเดิม
ปัจจุบันที่ยังเป็นยุคโควิดทำให้บางคนอาจจำเป็นที่จะต้องทำงานจากที่บ้าน หรือ Work From Home ทำให้คนวัยทำงานแทบไม่มีเวลาดูแลตัวเองเลย ทั้งในเรื่องของอาหารการกินที่อาจจะเลือกกินอาหารที่ไม่ค่อยดีกับสุขภาพ จนอาจจะทำให้ขาดสารอาหารบางชนิด หรือได้รับพลังงานส่วนเกินได้ รวมทั้งไม่สามารถจัดสรรเวลาแม้แต่จะออกกำลังกายหรือพักผ่อนให้เพียงพอ ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา
1. กินอาหารให้ครบมื้อ และที่สำคัญอย่าลืมมื้อเช้า
โดยทั่วไปแล้วคนวัยทำงานจะมีความต้องการพลังงานอยู่ที่ 1,800 – 2,000 กิโลแคลอรี ต่อวัน โดยแบ่งกระจายไปตามมื้อต่างๆ ทั้งมื้อหลักและมื้อว่าง แต่ด้วยความเร่งรีบอาจทำให้พนักงานออฟฟิศหลาย ๆ คนไม่มีเวลาเพียงพอต่อการกินอาหารมื้อเช้า ซึ่งจากการศึกษาจะพบว่าหากมีการอดอาหารมื้อเช้าจะทำให้ร่างกายไม่พร้อมต่อการทำงาน เช่น สมองเบลอ ไม่มีสมาธิในการทำงานจากความรู้สึกหิว ส่งผลต่อเนื่องให้การเลือกกินอาหารในมื้อกลางวันนั้นไม่ดีต่อสุขภาพตามไปด้วย เช่น การกินเยอะเกินไป การเลือกอาหารที่มีส่วนประกอบของคาร์โบไอเดรต ไขมัน จำนวนมาก เป็นต้น ส่งผลให้เกิดการขาดสารอาหารที่จำเป็น เเละการได้รับพลังงานส่วนเกินจำนวนมาก ทำให้เกิดโรคอ้วนได้ในที่สุด
2. กินมื้อเที่ยงแบบไม่อ้วน
หลักการเลือกกินอาหารเที่ยงให้ดีต่อสุขภาพง่าย ๆ เพียงแค่ใช้หลักการลด หวาน มัน เค็ม หรือจะใช้การลดหวานมันเค็มควบคู่ไปกับการกินอาหารตามหลักจานสุขภาพแบบง่ายๆ ที่เรียกว่า 2 1 1 โดยการแบ่งจานอาหารหรือกินอาหารให้มีผักเป็นครึ่งหนึ่งของจาน มีเนื้อสัตว์ และข้าว-แป้งอีกอย่างละ 1 ใน 4 ของจานนั่นเอง ควบคู่กับการสั่งอาหารโดยปรับเปลี่ยนให้ดีต่อสุขภาพ เช่น การเปลี่ยนจากไข่เจียวเป็นไข่ต้ม เลือกหมูชิ้นไม่ติดมันแทบหมูสับ เลือกเมนูเนื้อสัตว์ไม่ติดหนัง หรือเลือกเมนูที่ใช้การต้ม นึ่ง ยำ ย่าง แทนการผัดและทอด เป็นต้น
3. ดื่มน้ำเปล่าให้ได้วันละ 8 แก้ว
การดื่มน้ำให้เพียงพอต่อวันจะช่วยให้ช่วยส่งเสริมด้านความจำ อารมณ์ และการทำงานของสมอง รวมถึงช่วยลดความเครียดลงได้ ในทางตรงข้าม หากเราดื่มน้ำไม่เพียงพอจะทำให้สมองกระตุ้นการสร้าง ฮอร์โมนคอร์ติซอล ที่จะทำให้เกิดความเครียดมากขึ้น จากการศึกษายังค้นพบอีกว่าหากดื่มน้ำเพิ่มประมาณ 1 แก้วใหญ่ (300 มิลลิลิตร) จะมีส่วนช่วยในเรื่องความจำระยะสั้นได้ และพบว่าหากดื่มน้ำมากขึ้นเป็นวันละ 12 แก้ว ยังช่วยเพิ่มความสามารถในการตอบสนองของร่างกาย ความจำระยะสั้นและจิตใจ รวมไปถึงเมื่อเปรียบเทียบระหว่างคนที่ดื่มน้ำอย่างเพียงพอกับคนที่ดื่มน้ำน้อย พบว่า คนที่ดื่มน้ำอย่างเพียงพอจะมีอารมณ์ที่ดี และการนอนหลับที่ดีกว่าด้วย นอกจากนี้ น้ำยังมีส่วนช่วยป้องกันท้องผูก ดังนั้น คนวัยทำงานอย่าลืมดื่มน้ำให้ครบ 8 แก้ว หรือ 1.5 ลิตรต่อวัน โดยอาจพกน้ำขวดใหญ่และจิบไปเรื่อย ๆ ตลอดวัน หรือตั้งนาฬิกาเตือนให้หมั่นดื่มน้ำในทุก ๆ ชั่วโมงก็ได้เช่นกัน โดยดื่มน้ำเปล่าก็จะดีที่สุด
สำหรับคนที่ชอบเครื่องดื่มที่มีรสชาติควรเลือกดื่มเป็นเครื่องดื่มหวานน้อย เครื่องดื่มสูตรที่ไม่มีน้ำตาล เช่น ชาเขียวสูตรหวานน้อย ชาเขียวสูตรไม่มีน้ำตาล น้ำอินฟิวส์ (Infused Water) หรือน้ำแช่ผลไม้ ที่จะช่วยให้น้ำมีกลิ่นหอมของผลไม้เมื่อดื่ม ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการดื่มน้ำให้เพียงพอได้เช่นกัน
4. ถ้าต้องยิงยาว หาอะไรรองท้องสักหน่อย
สำหรับคนวัยทำงานที่มีงานด่วนทำให้ต้องเลิกงานช้า หรือติดประชุมจนค่ำ อาจจะมีอาการหิวมาก ๆ ในช่วงเย็น ซึ่งจะส่งผลทำให้กินอาหารมากกว่าปกติ ดังนั้น หากรู้ว่าตัวเองต้องมีประชุมหรือต้องทำงานยิงยาวกว่าปกติ อาจเตรียมเลือกซื้อของว่างติดไม้ติดมือไว้แก่หิวสักหน่อย โดยเลือกของว่างที่ดีต่อสุขภาพและยังช่วยแก้หิวได้ เช่น เครื่องดื่มธัญพืช ผลไม้รสหวานน้อย นม ผลิตภัณฑ์จากนม นมถั่วต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งของว่างเหล่านี้นอกจากจะมีสารอาหารที่หลากหลาย ยังช่วยให้อยู่ท้อง ไม่ต้องกลัวหิวระหว่างประชุมหรือระหว่างทำงาน
5. พักเบรกเคลื่อนไหว คลายปวดเมื่อย
การทำงานของพนักงานออฟฟิศในปัจจุบัน คือ การนั่งพิมพ์งานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ ทำให้ไม่ค่อยได้ขยับตัวไปไหน และยังต้องเพ่งสายตาไปที่หน้าจอจนอาจทำให้รู้สึกปวดเมื่อยตามร่างกายหรือสายตาล้าได้ ดังนั้น เมื่อเกิดอาการปวดเมื่อยตามตัว ก็ควรขยับร่างกายหรือยืดเส้นยืดสาย เช่น ท่ายืดไหล่ โดย การยืดแขนข้างหนึ่งไปทางด้านข้างทำมุม 45 องศา แล้วใช้แขนอีกข้างพับแขนขึ้นมาหาตัว ดึงแขนให้ตึงที่สุดเพื่อยืดเส้นบริเวณหัวไหล่ แล้วหันหน้าไปฝั่งตรงกันข้ามแขน ค้างไว้ประมาณ 10-20 วินาที และท่าท่ายืดกล้ามเนื้อคอ โดยยกแขนขวาแล้วโอบไปจับที่หูข้างซ้าย แล้วค่อย ๆ เอียงคอไปทางขวาจนรู้สึกว่ากล้ามเนื้อคอตึง แล้วค้างไว้ประมาณ 10-15 วินาที จากนั้นเปลี่ยนสลับข้างอีก 5-10 ครั้ง เป็นต้น
ถ้าหากรู้สึกตาล้าก็สามารถมองออกไปที่ท้องฟ้าไกล หรือเดินไปพูดคุยกับสมาชิกครอบครัว (กรณีทำงานที่บ้าน) หรือเพื่อนร่วมงาน เพื่อเป็นการบริหารจัดการอารมณ์ไม่ให้เครียดและกดดันมากเกินไป อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มการเคลื่อนไหวในกิจวัตรประจำวันอีกด้วย