เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วมาก เผลอแป๊บเดียว Smart Watch ที่ซื้อมาใช้เมื่อปีที่แล้วก็ดูเหมือนจะตกรุ่น ขณะเดียวกัน ของใช้ใกล้ตัวก็ได้รับการพัฒนาและเพิ่มความฉลาดเข้าไปอย่างต่อเนื่อง เช่น กระจกอัจฉริยะ แปรงอัจฉริยะ ทำให้มี อุปกรณ์อัจฉริยะ มากมายเกิดขึ้นบนโลก
Saffron Tech Pvt. Ltd. ผู้ให้บริการด้านไอทีโซลูชันที่ก่อตั้งในประเทศอินเดียเมื่อปี 2008 เผยข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับเทรนด์ของ อุปกรณ์อัจฉริยะ หรือ Wearable Technology ประจำปี 2022 ว่ามี 6 อย่าง ดังนี้
1. เสื้อผ้าและอุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะ
(Smart Clothing & Wearables)
2. หมวกกันน็อกอัจฉริยะ
(Smart Helmets)
3. แว่นตาอัจฉริยะ
(Smart Glasses)
4. แหวนอัจฉริยะ
(Smart Rings)
5. หูฟังอัจฉริยะ
(Smart Hearables)
6. เทคโนโลยีอัจฉริยะที่ฝังเข้าไปในร่างกายมนุษย์
(Smart Implantables)
อุปกรณ์อัจฉริยะที่จะมาแรงในปี 2022 ทำอะไรได้บ้าง พร้อมตัวอย่างจากแบรนด์ต่างๆ
สิ่งของอัจฉริยะที่ใช้สวมใส่บนร่างกายจะซิงก์ข้อมูลผ่านแอป เช่น เสื้อผ้าอัจฉริยะ ชุดทำงานอัจฉริยะ ชุดนอนอัจฉริยะ รองเท้าอัจฉริยะ ถุงเท้าอัจฉริยะ
เช่น ถุงเท้าวิ่งอัจฉริยะ แบรนด์ Sensoria ที่มีถุงเท้า ซึ่งผ่านกระบวนผลิตแบบมีเซ็นเซอร์ในเส้นใย กับอุปกรณ์สวมข้อเท้า ทำหน้าที่มอนิเตอร์และเก็บข้อมูลร่างกายของผู้สวมใส่
อุปกรณ์คล้ายกำไลข้อเท้านี้จะส่งข้อมูลผ่านบลูทูธไปยังโทรศัพท์มือถือ เพื่อบอกเทคนิคการออกกำลังกายของผู้สวมใส่ ท่าทางหรือรูปเท้าขณะวิ่งหรือเดิน ความเร็ว จำนวนก้าว ระยะทาง รวมถึงแคลอรีที่เผาผลาญได้ นอกจากนี้ยังช่วยวิเคราะห์ได้ด้วยว่า การวิ่งหรือเดินแบบไหนทำให้เกิดการบาดเจ็บได้
นอกจากหูฟังบลูทูธ ก็มี หมวกกันน็อกอัจฉริยะ ที่ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ใช้รับโทรศัพท์ได้ ฟังเพลงได้ มีลำโพงและระบบ GPS ในตัว ทั้งยังเก็บข้อมูลสุขภาพ ความเร็วของการขับขี่ ระยะทาง ผ่านแอปได้อีกด้วย
เช่น แบรนด์ Skully โดย SKULLY Technologies บริษัทสตาร์ทอัพที่ประกาศระดมทุนเพื่อสร้างหมวกกันน็อกอัจฉริยะผ่านแพลตฟอร์ม Indiegogo
รู้เพิ่มเกี่ยวกับอุปกรณ์อัจฉริยะและประโยชน์ใช้สอยจาก IoT
IoT, Wearable Tech & VR สามเทคโนโลยีที่ดีต่อสุขภาพและความปลอดภัยในที่ทำงาน
Biotherm ปรับโฉมยูนิฟอร์ม ผลิตจากวัสดุภัณฑ์รีไซเคิลและธรรมชาติ 100%
สำหรับความสามารถของหมวกกันน็อกอัจฉริยะที่ระบุบนเว็บไซต์ฝั่งยุโรป เช่น รุ่น SKULLY FENIX AR สามารถรับสายได้, เชื่อมต่อบลูทูธกับสมาร์ทโฟน สั่งให้เล่นเพลงแบบไร้สายได้ มีกล้องมองหลังแบบ 180 องศา มีหน้าจอ HUD ขนาดเล็กอยู่ใต้ตาด้านขวา ทั้งยังมีระบบนำทาง มีเลนส์กันหมอก ฯลฯ
เป็นอุปกรณ์ที่คาดว่าจะได้รับความนิยมมากๆ ในปี 2022 เพราะแว่นตาอัจฉริยะจะมากับเทคโนโลยี AR (Augment Reality) ความเป็นจริงเสริม หรือ VR (Virtual Reality) ความจริงเสมือน โดยมาพร้อมกล้อง มีหูฟัง มีบลูทูธ มีระบบช่วยจดจำใบหน้า และฟีเจอร์อีกสารพัดที่คล้ายกับสมาร์ทโฟน
มีหลายแบรนด์ที่ผลิตแว่นตาออกมาจำหน่ายในท้องตลาด เช่น AR Smart Glasses ของ Google, Ray-Ban Stories ที่ Facebook (Meta) ร่วมกับ Ray-Ban พัฒนาขึ้น และแน่นอน จะเป็นที่ต้องการมากขึ้นเพราะกระแส Metaverse
สำหรับแว่นตาอัจฉริยะที่นำมาให้ดูเป็นตัวอย่าง พัฒนาโดย Google สามารถใช้เพื่อการเรียนการสอน การดูแลรักษาผู้ป่วย การฝึกทักษะให้แก่พนักงานใหม่ การปฏิบัติงานภาคสนาม ฯลฯ
เป็นอุปกรณ์อัจฉริยะที่เก็บข้อมูลสุขภาพ เตือนเรื่องสำคัญๆ และใช้จ่ายแบบไร้สัมผัสได้แบบไม่น่าเชื่อ
เช่น แบรนด์ Oura Ring ที่มีหลาย Generation โดย Gen 3 สามารถวัดอัตราการเต้นของหัวใจได้อย่างต่อเนื่อง วัดค่าออกซิเจนในเลือดด้วยเซ็นเซอร์ SpO2 วัดประสิทธิภาพการออกกำลังกาย เช็กอุณหภูมิร่างกายและแจ้งเตือนได้ว่าเริ่มป่วยไข้หรือกำลังจะมีประจำเดือน รวมถึงข้อมูลและประสิทธิภาพการนอน
ด้วยอายุที่เพิ่มขึ้น เช่น ผู้ที่มีอายุ 55-74 ปี ซึ่งมีมากถึง 40% มีอาการหูตึง หูดับ รวมถึงสูญเสียการได้ยิน ปัญหาเกี่ยวกับการได้ยินที่ผิดไปจากมาตรฐานจึงทำให้เกิดนวัตกรรม เครื่องช่วยฟัง แต่ค่าอุปกรณ์ ค่าบำรุงรักษา ความสวยงามขณะสวมใส่ ความพอเหมาะพอดีกับผู้ต้องการใช้งาน อาจไม่สามารถเข้าถึงหรือเหมาะสมสำหรับทุกคน
การพัฒนาหูฟังโดยเพิ่มโหมดช่วยฟังจึงเห็นได้มากขึ้น เช่น แบรนด์ Signia หูฟังอัจฉริยะที่มีเทคโนโลยีวิเคราะห์เสียงพูดท่ามกลางสภาพแวดล้อมต่างๆ ลดเสียงรบกวน จึงสามารถใช้เพื่อความบันเทิง เช่น ดูหนัง ฟังเพลง พร้อมๆ กับมอนิเตอร์สุขภาพได้
สำหรับภาพด้านบนเป็นหูฟัง Signia Active Pro ที่ออกแบบในสไตล์เดียวกับหูฟังประเภท earbuds ที่ใช้งานกันทั่วไป เพื่อความสวยงามเมื่อสวมใส่ นอกจากนี้ยังมีระบบช่วยเหลือ (Signia Assistant) สำหรับผู้ประสบปัญหาด้านการได้ยินอีกด้วย
เทคโนโลยีนี้จะเน้นที่การดูแลรักษาหรือติดตามปัญหาสุขภาพ โดยนำอุปกรณ์บางอย่างเข้าสู่ร่างกาย เช่น ในรูปแบบยาเม็ดที่ให้ผู้ป่วยกลืนลงไปเพื่อดูการทำงานของอวัยวะภายใน การฝังอุปกรณ์เฉพาะเพื่อบำบัดรักษาอาการเกี่ยวกับโรคหัวใจ
เนื่องจากมีประชากรโลกอย่างน้อย 26 ล้านคนที่ประสบภาวะหัวใจล้มเหลว บริษัทผู้พัฒนาเครื่องมือแพทย์ Impulse Dynamics จึงคิดค้น Optimizer® Smart อุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวด้วยเทคโนโลยี CCM® Therapy
ด้านการใช้งาน แพทย์จะฝังอุปกรณ์ Optimizer® Smart ไว้ใต้ผิวหนัง บริเวณหน้าอกส่วนบน และจะสอดสายสำหรับกระตุ้นคลื่นไฟฟ้าหัวใจในช่องท้องด้านขวา จากนั้นตั้งโปรแกรมส่งคลื่นไฟฟ้าด้วยความแม่นยำเข้าไปที่กล้ามเนื้อหัวใจ (ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล) เพื่อรักษาการยืดหดตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ (CCM® Therapy) ช่วยให้ผู้ป่วยที่มีอาการอ่อนเพลีย หายใจถี่ หรืออยู่ในภาวะหัวใจล้มเหลว (CHF : Congestive Heart Failure) รอดพ้นนาทีวิกฤต และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
สังเกตได้ว่า อุปกรณ์อัจฉริยะเหล่านี้มีระบบติดตาม/ตรวจวัดและเก็บข้อมูลสุขภาพ และสถานการณ์โรคระบาดก็ทำให้ผู้คนใส่ใจสุขภาพและการออกกำลังกายมากขึ้น ความต้องการอุปกรณ์ก็จะเพิ่มอีกหลายเท่าตัว
หากเจาะจงดูแค่แว่นตา AR อย่างเดียว Statista คาดการณ์ไว้ว่า ในปี 2022 มูลค่าตลาดรวมของแว่นตา AR ทั่วโลกจะสูงถึง 19,718.88 ล้านดอลลาร์ หรือราว 655,743.50 ล้านบาท
.......................
ที่มา
Smart running socks : SENSORIA FITNESS SOCK AND ANKLET
Skully back in business with its updated AR smart helmet
Google says the new Google Glass gives workers ‘superpowers’
Signia Active Pro: Stylish Earbuds That Are Actually Hearing Aids
Smart augmented reality glasses revenue worldwide from 2016 to 2022