ทำไมประเทศไทยไม่มีมาตรการให้ฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง? เป็นคำถามที่หลายคนอยากรู้ และ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค จะอธิบายให้ฟัง
จากการได้พูดคุยกับ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ในประเด็น การฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง SPRiNG สอบถามเพิ่มเติมไปยัง นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ว่าเหตุใดรัฐบาลไม่สามารถอนุมัติให้ใช้การฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนังโดยทั่วไป
SPRiNG : ใครเป็นผู้พิจารณาว่าคนไทยสามารถฉีดวัคซีนยี่ห้อใดได้ และต้องฉีดเข้าส่วนใดของร่างกาย?
หมอโสภณ : คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เป็นผู้พิจารณาข้อมูลและให้ข้อสรุป ซึ่งข้อมูลมาจาก 3 ส่วน คือ 1) ผู้เชี่ยวชาญ 2) การขึ้นทะเบียนของบริษัทผู้ผลิต และ 3) ผลการศึกษาวิจัยใหม่ๆ
ล่าสุดมีข้อสรุปจากที่ประชุมเมื่อเดือนก่อน ให้ผู้รับวัคซีนฉีดตามที่ขึ้นทะเบียนกับ อย.ไว้ เพราะมีข้อมูลรองรับครบถ้วนและครบขั้นตอนการใช้วัคซีน ซึ่งในด้านการขึ้นทะเบียน ต้องดูผู้ผลิตวัคซีนว่า แจ้งขึ้นทะเบียนวัคซีนเพื่อใช้ในรูปแบบใด
บทความก่อนหน้าที่พูดถึง "การฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง vs การฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อ" จากรายการโหนกระแส
ID (Intradermal) ใช้เรียกการฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง ส่วน IM (Intramuscular) ใช้เรียกการฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อ
SPRiNG : ถ้าจะปลดล็อกให้คนมีทางเลือกในการฉีดวัคซีนแบบ ID ต้องแก้ตรงไหนก่อน?
หมอโสภณ : ต้องไปแก้ทะเบียนครับ อย่างวัคซีนพิษสุนัขบ้าขึ้นทะเบียนฉีดทั้ง ID และ IM คนฉีดก็ฉีดตามคำแนะนำจากการขึ้นทะเบียน แต่วัคซีนโควิดขึ้นทะเบียนเฉพาะ IM อย่างเดียว มันเหมือนเป็น Off Label (ยานอกข้อบ่งใช้) ก็ต้องมีข้อมูลรองรับ
SPRiNG : บริษัทผู้ผลิตวัคซีนต้องดำเนินการ?
หมอโสภณ : บริษัทที่ไปขึ้นทะเบียนนั่นแหละครับ ดังนั้น ถ้าอนาคตอยากจะฉีดแบบ ID บริษัทก็ต้องไปแก้ทะเบียนด้วย
SPRiNG : แสดงว่าการฉีดแบบ ID ไม่ได้เป็นข้อจำกัดหรือข้อห้ามของประเทศ สอดคล้องกับที่มีโรงพยาบาลเอกชนให้บริการฉีดวัคซีนใต้ชั้นผิวหนัง
หมอโสภณ : การฉีดแบบ ID ไม่ได้เป็นข้อจำกัดของประเทศไทย แต่ที่มีการฉีดนั้นต้องดูเป็นกรณีไป ตามที่แพทย์เห็นว่าจำเป็นและเหมาะสม ซึ่งก็เป็น Indication ในระดับบุคคล ไม่ใช่การแนะนำให้ทำเป็น Routine
SPRiNG : ในฐานะประชาชนที่ต้องการวัคซีนเข็ม 3 มากระตุ้นภูมิ สามารถเลือกหรือเสนอว่า ขอฉีดเข้าชั้นผิวหนังจากแพทย์ที่ประจำ ณ จุดฉีดได้หรือไม่
หมอโสภณ : เป็นทางเลือกที่เปิดให้ทำได้ตามมติคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค คือ สามารถฉีดครึ่งโดสหรือฉีดเข้าในผิวหนังได้ โดยอยู่ภายใต้ดุลพินิจของแพทย์และความสมัครใจของผู้รับวัคซีนครับ