บล็อกเชน เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกที่ผลักดัน สินทรัพย์ดิจิทัล ให้มีมูลค่ามหาศาล แต่จะใช้ประโยชน์ได้อย่างไรเพราะรัฐบาลออกกฎควบคุมเข้มข้น ลองฟังข้อเสนอจากงาน "Blockchain Thailand Genesis 2021 โอกาสของประเทศไทยในสังเวียน Digital Asset” โดย ปริญญ์ พานิชภักดิ์
มองในระดับประเทศ Digital Asset หรือ สินทรัพย์ดิจิทัล ส่งผลให้เม็ดเงินและตัวเลขทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในหลายประเทศ และเป็นคลื่นความเปลี่ยนแปลงที่พัดพา "โอกาส" เข้ามาสารพัด แต่สำหรับประเทศไทย เรายังใช้ประโยชน์เทคโนโลยีบล็อกเชนได้ไม่เต็มที่ การเข้าถึงสินทรัพย์ดิจิทัลก็ยังไม่มากเท่าที่ควร กอปรกับรัฐบาลออกกฎเกณฑ์เก็บภาษีคริปโตเคอเรนซี แล้วแบบนี้ คนไทยจะใช้โอกาสในโลกที่ใช้เทคโนโลยีก้าวหน้าและมีการแข่งขันมากขึ้นอย่างไร
หยิบมาเล่าจากงาน Blockchain Thailand Genesis 2021
ความน่าสนใจของงานที่เพิ่งผ่านไปหมาดๆ Blockchain Thailand Genesis 2021 “โอกาสของประเทศไทยในสังเวียน Digital Asset” ซึ่งจัดขึ้นโดย สัญชัย ปอปลี CSO Cryptomind Group และศุภกฤษณ์ บุญสาตร์ นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย เป็นภาพสะท้อนของโลกการเงินยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงกการดำเนินชีวิตและการดำเนินธุรกิจในหลายบริบท เฉพาะในสังเวียน สินทรัพย์ดิจิทัล ที่สามารถเปลี่ยนมุมมองที่เรามีต่อสินทรัพย์ในวันนี้และในอนาคต
จากเวที Blockchain Thailand Genesis 2021 “โอกาสของประเทศไทยในสังเวียน Digital Asset” มีผู้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจาก 3 คน 3 ขั้วการเมือง ดังนี้
มุมมองที่มีต่ออุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลของประเทศ
พาร์ทแรก : ปริญญ์ พานิชภักดิ์ กล่าวถึงบล็อกเชนกับ Metaverse นวัตกรรมโลกเสมือนจริงว่า ประเทศไทยยังไม่ได้ใช้โอกาสนี้อย่างเต็มที่
ปริญญ์กล่าวถึงเทคโนโลยียุคใหม่ว่า ทำให้โลกไร้พรมแดน ส่วนบล็อกเชนกับ Metaverse นวัตกรรมโลกเสมือนจริงนั้น ประเทศไทยยังไม่ได้ใช้โอกาสนี้อย่างเต็มที่
"ส่วนหนึ่งมาจากหน่วยงานที่ควบคุมกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลยังออกกฎเกณฑ์ที่พะรุงพะรัง ทําตัวเสมือนคุณพ่อแสนรู้ และให้ความสําคัญกับการปราบปรามมากกว่าการพัฒนาวัฏจักรของนวัตกรรมทางการเงิน เราจึงต้องร่วมกันปรับมุมมองความคิด เร่งสร้างองค์ความรู้ทางการเงินให้กับคนไทยตั้งแต่เยาว์วัย รวมถึงการเสริมทักษะและสมรรถนะเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม"
สินทรัพย์ดิจิทัล โอกาสของประเทศ อุปสรรคของผู้ที่ต้องการเข้าถึง
ปริญญ์ตอกย้ำว่า ระบบราชการที่ไม่ได้เอื้ออำนวยให้มีความคล่องตัวในการบริหารประเทศ จากการที่รัฐบาลเร่งออก พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล) ทําให้เกิดภาระทางภาษีแก่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม และประชาชนทั่วไปที่ลงทุนในคริปโต ซึ่งเป็นการซํ้าเติมปัญหาที่เขากําลังเผชิญอยู่จากวิกฤตโควิด-19
"หลายปีที่ผ่านมา นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถทํากําไรได้ดีโดยที่ไม่ต้องเสียภาษี (ยกเว้นภาษีเงินปันผล 10%) แต่นักลงทุนรายย่อยในคริปโตกลับต้องเสียภาษีและยังไม่มีความชัดเจนในการประเมินอัตราภาษีที่จะต้องเสีย
"ในขณะที่เขาไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ถูกและเป็นธรรม ภาครัฐต้องส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันในอุตสาหกรรมการเงินยุคใหม่เพื่อการให้บริการที่ดีขึ้นกับประชาชน รวมถึงการลดภาระต้นทุนทางการเงินให้กับผู้ประกอบการ"
คำแนะนำสำหรับสถานการณ์นี้ ปริญญ์บอกว่า รัฐควรให้การสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อผ่านระบบบล็อกเชน P2P (Peer-to-Peer lending) เพื่อเปิดอีกช่องทางให้ SMEs เข้าถึงการกู้ยืมเพื่อเพิ่มสภาพคล่องได้สะดวกขึ้น
"บางอย่าง กฎหมายไม่ต้องมาเร็วเกินไปครับ พยายามโฟกัสเรื่องการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล ทำให้พี่น้องประชาชนตระหนักรู้ว่า อะไรเป็นแชร์ลูกโซ่ อะไรเป็นการโกง เพราะมี Farming, DeFi, NFTs ออกมาหลอกเยอะมาก"
นอกจากนี้ ปริญญ์ยังกล่าวถึงกระแสของผลงานในรูปแบบดิจิทัล หรือ NFTs ที่กำลังสร้างมูลค่าให้งานศิลปะเพิ่มสูงขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน กระทรวงการคลังจึงควรยกเว้นการจัดเก็บภาษีจากนักลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลและปรับกฎเกณฑ์สนับสนุนการเติบโตของวัฏจักรอุตสาหกรรมยุคใหม่ในทุกรูปแบบ ไม่อย่างนั้น การลงทุนจะไหลออกต่างประเทศ
โปรดติดตามพาร์ท 2 - คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์