มาดามเดียร์ ชี้ Soft Power อย่างวงการหนังไทยต้องได้รับการพัฒนาทั้งระบบ ทั้งด้าน "คน" , "เงินทุน" และ "โอกาส" เพื่อให้วงล้อเศรษฐกิจนี้สามารถหมุนไปได้ด้วยตัวเอง เชื่อคนไทยมีศักยภาพ เหลือฝ่ายบริหารจะวางยุทธศาสตร์อย่างไร
น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี หรือ ที่รู้จักกันในนาม มาดามเดียร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ที่พยายามผลักดันเรื่อง Soft Power ไทย ด้วยการพาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมภาพยนตร์เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2564 ได้เปิดเผยกับทาง SPRiNG ถึงประเด็น Soft Power ไทยในเวทีโลก ว่า "ที่ผ่านมา โดยส่วนตัวในฐานะที่เดียร์เป็น ส.ส. เป็นตัวแทนของประชาชน มีหน้าที่ในการออกกฎหมาย เรื่องของนิติบัญญัติ ได้รับฟังเรื่องราวต่าง ๆ รวมถึงปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ และเสนอต่อ นายกฯ ไปแล้ว เหลือเพียงแต่ว่าทางฝ่ายบริหารจะดำเนินการอย่างไรต่อไป"
โดย มาดามเดียร์ ได้ให้ความหมายเกี่ยวกับ Soft Power เอาไว้ว่า "คำว่า Soft Power หากแปลเป็นไทย อาจแปลได้ว่า "อำนาจอ่อน" , "อำนาจละมุน" แต่ทำให้สับสนมากยิ่งขึ้น จึงมักใช้คำว่า Soft Power ทับศัพท์เสียมากกว่า"
"อ้างอิง ศจ.โจเซฟ ไนย์ (Joseph Nye) นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า Soft Power ไว้คร่าว ๆ คือ สิ่งที่มีอิทธิพลทำให้เราเปลี่ยนแปลง 'ความคิด' หรือ 'พฤติกรรม' หรือให้เราไปทำอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยไม่ใช่ 'การบังคับขู่เข็ญ' , 'การใช้อำนาจทางด้านการทหาร' , 'การใช้อำนาจเรื่องของเงินตรา' หรือ 'การว่าจ้าง' ซึ่งล้วนเป็น Hard Power" มาดามเดียร์ กล่าวเสริม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เหตุใด Soft Power ไทยไม่ดังไกลไปทั่วโลกอย่างที่ควรจะเป็น ?
Soft Power เป็นการแสดงออกทางความคิดที่สอดแทรกไปกับสื่อประเภทต่าง ๆ อาทิ ศิลปะ ภาพยนตร์ เพลง การ์ตูน เกม และอีกหลากหลาย แต่ Soft Power ที่จะพูดถึงในกรณีนี้ คืออุตสาหกรรมบันเทิงอย่าง "ภาพยนตร์" โดยหากจะพูดถึงปัญหา ต้องพูดถึงปัญหาในองค์รวม
อุตสาหกรรมภาพยนตร์ ที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ประกอบไปด้วยวงล้อทั้งสามอย่างที่ว่าด้วยเรื่องของ "คน" , "เงินทุน" และ "โอกาส" ซึ่งวงล้อนี้จำเป็นจะต้องได้รับการพัฒนาไปพร้อม ๆ กัน
ประเด็นแรกที่สำคัญสุดคือ ประเทศไทยป้อน "คน" เข้าสู่อุตสาหกรรมบันเทิงมากเพียงพอแล้วหรือยัง ?
"คน" ในที่นี้ไม่ใช่แค่ดารา นักแสดง คนที่อยู่หน้ากล้องเพียงเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงทีมงานทั้งหลายที่อยู่เบื้องหลัง ทั้งช่างแต่งหน้า-ทำผม , ทีมตัดต่อ , ผู้กำกับ และอื่นๆ อีกมากมาย แต่ทีมที่ควรได้รับการพัฒนาเพื่อออกไปแข่งในเวทีโลกคือ "ทีมเขียนบท" เพราะสุดท้ายแล้วภาพยนตร์ตัดสินกันที่เรื่องของ "บทภาพยนตร์"
แต่เพียงแค่ "บทภาพยนตร์" เพียงอย่างเดียวก็ไม่อาจใช่สูตรสำเร็จของทั้งหมด ภาพยนตร์ที่ดีจำเป็นต้องได้ส่วนอื่น ๆ เข้ามาช่วยเสริมเติมแต่งด้วยเช่นกัน นักแสดงเก่ง ๆ และทีมโปรดักชั่นดี ๆ ที่จะเข้ามาขับให้บทภาพยนตร์ที่ดีให้ดียิ่งขึ้นไปอีกก้าว
เมื่อพูดถึง Soft Power เรามักยกตัวอย่าง "เกาหลีโมเดล" สิ่งที่เขาให้ความสำคัญไม่ใช่แค่เรื่องของ "เงินทุน" หรือ "กองทุน" เพียงเท่านั้น แต่เขาลงทุนกับเรื่องของ "คน" ด้วยการก่อตั้งสถาบัน อะคาเดมี โดยทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่ต้องอาศัย "เงินทุน"
พบว่าที่ผ่านมา ประเทศไทยขาดแคลนต้นทุกที่เรียกว่า "คน" โดยเดียร์เชื่อว่า คนไทยเป็นคนที่มีศักยภาพ มีพลังความคิดสร้างสรรค์อยู่แล้ว เหลือเพียงแค่การผลักดันของภาครัฐในการผลิต "คน" เพื่อป้อนเข้าสู่ระบบ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐจะต้องชี้ให้เห็นถึงเป้าหมายของประเทศในการนำ Soft Power มาเป็นยุทธศาสตร์ชาติ และสิ่งที่ประเทศจะก้าวเดินต่อไป
นอกจากที่ภาครัฐจะต้องพัฒนาเรื่องของคนแล้ว "รัฐบาล" โดยเฉพาะ "คนที่กำหนดนโยบายต่าง ๆ" จำเป็นที่จะต้องเป็นบุคคลที่มี "ความรู้" , "ความเข้าใจ" และที่สำคัญคือ "ต้องมีวิสัยทัศน์" เพื่อเล็งเห็นว่า Soft Power คืออะไร และมีโอกาสที่จะพัฒนาเพื่อนำมาเป็นยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้มากเพียงใด
ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย Soft Power หากให้ภาคเอกชนเป็นคนผลักดันเรื่องนี้ด้วยตัวเอง ก็จะติดกับดักด้านเงินทุนเหมือนที่ผ่าน ๆ มา เพราะเขาต้องคำนวนถึงผลกำไร ด้วยจำนวนเม็ดเงินที่หมุนเวียนอยู่ภายในประเทศ ภาพยนตร์หนึ่งเรื่องมีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 20-30 ล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงมากแล้วสำหรับวงการภาพยนตร์ไทย
ในเรื่องนี้รัฐควรจัดตั้งกองทุน ให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนที่มากขึ้น เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมบันเทิงไทย สร้างภาพยนตร์ที่มีคุณภาพมากขึ้น เพื่อเปิด "โอกาส" ให้ทั่วโลกเห็นถึงพลัง Soft Power ของไทย
อย่างสุดท้าย "โอกาส" ภาครัฐต้องเปิดโอกาสด้วยการสนับสนุนด้านนโยบาย ทำให้การติดต่อข้าราชการเพื่อขออนุญาตสร้างภาพยนตร์เป็นเรื่องที่ง่ายมากยิ่งขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ ทั้งผู้ประกอบการชาวไทย และผู้ประกอบการต่างประเทศที่ต้องการมาถ่ายทำในไทย ไม่เช่นนั้นจะเป็นการปิด 'ประตูโอกาส' ที่จะดึงเม็ดเงินจากต่างประเทศเข้าสู่ไทย
เมื่อภาครัฐได้ให้การสนับสนุนวงล้ออุตสาหกรรมไทยครบทั้ง 3 ด้าน "คน" , "เงินทุน" และ "โอกาส" ให้วงล้อนี้หมุนไปได้พร้อม ๆ กัน และหมุนต่อไปได้ด้วยตัวเอง จะทำให้ Soft Power ไทยยืนหยัดทัดเทียมในระดับโลก
"คนธรรมดา" ช่วยดัน Soft Power ไทยสู่เวทีโลก ?
หนึ่งสิ่งในตอนนี้ที่เราทุกคนสามารถทำได้เลย คือเรื่องของ "ลิขสิทธิ์" เพียงแค่ทุกคนไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ ก็เป็นเรื่องที่ดีต่ออุตสาหกรรมบันเทิง เพราะเม็ดเงินทั้งหลายที่สนับสนุนลิขสิทธิ์จะเป็นการช่วยพัฒนาต่อยอด Soft Power ไทยให้เข็มแข็ง
ทางภาครัฐเองเล็งเห็นความสำคัญประเด็น "ลิขสิทธิ์" เช่นกัน ด้วยการยื่นเรี่องปรับแก้กฎหมายด้านลิขสิทธิ์ที่กำลังจะเข้าสภาในเร็ว ๆ นี้
มาดามเดียร์ กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า "การเข้ามาถึงของเทคโนโลยี โซเชียลมีเดีย เป็นโอกาสที่ได้เห็นคนไทยระเบิดไอเดียสร้างสรรค์ ผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ สร้างตัวตนจนเป็นที่รู้จัก ยึดเป็นอาชีพ เพิ่มโอกาสทางชีวิต จากการเป็นบล็อกเกอร์ วล็อกเกอร์ ยูทูปเบอร์ สิ่งนี้การันตีถึงความสามารถของคนไทยอยู่แล้ว แต่แทนที่จะปล่อยให้แต่ละคนแยกกันทำกระจัดกระจายและไม่มีเป้าหมายร่วมกัน แต่ประเทศที่ประสบความสำเร็จ สิ่งสำคัญมาก ๆ คือการกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ ทำให้ประชาชนเห็นภาพว่าประเทศจะเดินไปทิศทางไหน เป้าหมายคืออะไร แล้วมองหาสิ่งใด เหลือเพียงแต่ 'คนบริหารประเทศ' จะวางยุทธศาสตร์อย่างไร เพื่อสื่อสารให้ทุกคนในชาติรู้ เราจะสร้างโอกาสของประเทศด้วยความคิดสร้างสรรค์ ศักยภาพของคนไทย ไปสู่สายตาโลกอย่างไร เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย"