svasdssvasds

"ทางรัฐ" แอปรวมศูนย์ รู้-ยื่น-จ่าย-รับ เพื่อคนไทย จบไวไม่ต้องรอเวลาราชการ

"ทางรัฐ" แอปรวมศูนย์ รู้-ยื่น-จ่าย-รับ เพื่อคนไทย จบไวไม่ต้องรอเวลาราชการ

เพื่อเป็นทางลัดในการเข้าถึงบริการของภาครัฐ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA ร่วมกับสำนักงาน ก.พ.ร. และหน่วยงานพันธมิตร เปิดตัวแอปพลิเคชัน ‘ทางรัฐ’ ที่ช่วยให้ทุกคน ทุกช่วงวัย ใช้แอปนี้แอปเดียวก็รับรู้และตรวจสอบ สิทธิ สวัสดิการ จากภาครัฐได้ตลอดชีวิต

หลังจากที่ได้ร่วมงานเปิดตัวแอปพลิเคชัน ทางรัฐ แบบ Virtual Seminar น่ายินดีที่เราจะมีช่องทางรับบริการจากภาครัฐผ่าน "แอปเดียวจบ" ชีวิตก็จะสะดวกยิ่งขึ้นเพราะไม่ต้องเดินทางไปยื่นเอกสารที่นั่นที่นี่แบบเดิมๆ ประหยัดเวลา ประหยัดค่าเดินทาง ตอบโจทย์ทุกช่วงวัยและปลอดภัยกว่า เพราะเข้าใช้งานจากที่ไหนก็ได้จึงเอื้อต่อการใช้ชีวิตทั้งแบบ New Normal และ Next Normal

ทางรัฐ : บริการออนไลน์ที่เข้าถึงง่ายแค่ปลายนิ้ว

ต้องอธิบายก่อนว่า แอปพลิเคชัน ทางรัฐ จะตอบโจทย์ทุกช่วงวัยได้อย่างครบลูป แต่ในตอนนี้ยังไปไม่ถึงขั้นนั้น เนื่องจาก สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. หรือ DGA กำลังทำงานแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานราชการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการประชาชน เพื่อเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลของส่วนงานต่างๆ มาแสดงในแอปพลิเคชันที่ออกแบบมาให้คนไทยใช้งานง่าย รักษ์โลกด้วย เพราะเมื่อทำให้ระบบทำงานได้ครบลูป ก็จะเปลี่ยนจากการใช้ Paper เป็น Paperless ได้จริง

citizen portal

แผนแม่บท

ความเปลี่ยนแปลงระดับชาติ มีหลากขั้นหลายตอนที่ดำเนินการมาก่อนหน้า โดย สพร.ร่วมกับหน่วยงานรัฐจัดทำ แผนแม่บทพอร์ทัลกลางเพื่อประชาชนระยะ 3 ปี เพื่อเป็นแนวทางในการยกระดับการให้บริการประชาชน ร่วมมือกันพัฒนาระบบบริการกลางที่รวบรวมงานบริการภาครัฐ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการติดต่อขอรับบริการผ่านช่องทางออนไลน์

อนุชา นาคาศัย อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงนโยบายและทิศทางการขับเคลื่อนการพัฒนาภาครัฐสู่การเป็น “รัฐบาลดิจิทัล” ซึ่งถือว่าเป็นนโยบายเร่งด่วนและสำคัญมาก ทั้งนี้ก็เพื่อ

  • พัฒนาระบบการให้บริการประชาชนที่ดีขึ้น โปร่งใสตรวจสอบได้
  • พัฒนาระบบจัดเก็บและเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐ
  • ปรับปรุงระบบ ลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน
  • ลดขั้นตอนที่ยุ่งยากเกินความจำเป็น
  • ลดข้อจำกัดด้านกฎหมายที่เป็นปัญหา/อุปสรรคต่อการทำธุรกิจและการดำรงชีวิตของประชาชน 

จากแนวทางดังกล่าว สพร.จึงพัฒนาแพลตฟอร์มกลางต่อยอดขึ้นมาภายใต้ชื่อ ทางรัฐ ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการภาครัฐได้จากจุดเดียวได้ ทุกที่ทุกเวลาผ่านสมาร์ทโฟน โดยไม่ต้องโหลดแอปนั้นแอปนี้เพื่อแยกใช้บริการต่างๆ ของรัฐ มิเช่นนั้น หน่วยความจำของสมาร์ทโฟนเต็มแน่ๆ

สำหรับความร่วมมือในการพัฒนา ทางรัฐ ได้รับเกียรติจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และหน่วยงานพันธมิตร ร่วมดำเนินการ ได้แก่

  • กรมการปกครอง
  • สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
  • สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
  • บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด
  • สำนักงานประกันสังคม

ทางรัฐ สำหรับการให้บริการดิจิทัล เราสามารถเข้าใช้งานได้หลายอุปกรณ์ เช่น สมาร์ทโฟน, แท็บเล็ต, ตู้คีออส และแอปของพันธมิตร ทั้งนี้ บริการภาครัฐจะครอบคลุม 13 หมวด ได้แก่ 

  • หมวดทะเบียนราษฎร
  • หมวดที่อยู่อาศัยและที่ดิน
  • หมวดการเดินทาง
  • หมวดสุขภาพ
  • หมวดการศึกษา
  • หมวดสวัสดิการภาครัฐ
  • หมวดการทำงาน
  • หมวดการเงินและภาษี
  • หมวดการเกษตร
  • หมวดความมั่นคงปลอดภัย
  • หมวดสิ่งแวดล้อม
  • หมวดนันทนาการ
  • หมวดสิทธิพลเมือง

อ่านข่าวก่อนหน้า

บางแนวคิดและความเปลี่ยนแปลงของบริการภาครัฐที่ SPRiNG อยากให้คุณรู้

ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ

ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กล่าวว่า การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างสรรค์บริการทั้งการพัฒนาบริการเดิม และเสริมบริการใหม่ มาช่วยลดขั้นตอนการติดต่อราชการที่ซ้ำซ้อนลง เพื่อให้หน่วยงานรัฐสามารถตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนให้ดำเนินชีวิตได้อย่างสะดวกรวดเร็ว เข้าถึงบริการของรัฐได้ง่ายขึ้น ตามความคาดหวังของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคดิจิทัล

"ในระยะเวลาอันใกล้นี้ หน่วยงานรัฐจะถูกคาดหวังจากประชาชนว่า จะสามารถเข้าถึงได้ 24 ชั่วโมง ไม่ใช่เพียงแค่ในเวลาราชการเท่านั้น"

อารีย์พันธ์ เจริญสุข สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) 

อารีย์พันธ์ เจริญสุข สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) กล่าวถึงการกระตุ้นให้หน่วยงานภาครัฐปรับปรุงระบบอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ประชาชนสามารถ รู้ ยื่น จ่าย รับ เบ็ดเสร็จได้ในแอปเดียว

"ต้องสามารถให้การบริการร่วมกันกับหลายหน่วยงาน ต้องแชร์ข้อมูลร่วมกัน มองกันตั้งแต่ต้นจนจบว่า เกี่ยวข้องกับกระทรวงใดบ้าง ภาครัฐเองก็ต้องขอให้ใช้เอกสารน้อยลง และเชื่อมต่อกัน ซึ่งต่อไปจะเป็น Superapp ที่สามารถโต้ตอบกับผู้ใช้บริการได้"

สัญชัย เตชนิมิตวัช ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบข้อมูล

ในด้านข้อมูลบุคคล สัญชัย เตชนิมิตวัช ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบข้อมูล สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กล่าวถึงการเก็บและใช้ข้อมูลว่า เคารพสิทธิส่วนบุคคล อัตลักษณ์ การพิสูจน์ตัวตน โดยจะให้บริการเฉพาะหน่วยงานภาครัฐ

"ทางรัฐ เป็นแอปที่ใช้งานเสมือนว่ามีตัวตน ซึ่งกรมการปกครองเข้าไปร่วมจัดการเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า ใครเข้าถึงข้อมูลเรา สามารถพิสูจน์ตัวตนได้ชัดเจน มีสิทธิการให้ consent สามารถเข้าสู่บริการต่างๆ ได้เลย และจะมี Notification บอกว่า ใครเข้าใช้ข้อมูลบ้าง"

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิริดา บุรชาติ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิริดา บุรชาติ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวถึง การประเมินผลการศึกษาในทุกระบบ ทุกระดับ กระบวนการจัดการศึกษาที่อำนวยความสะดวกผู้เรียนหรือผู้เข้าสอบได้ตรงจุด

"ผู้เรียนสามารถตรวจสอบผลคะแนนและดาวน์โหลดไปใช้ประโยชน์ได้ เพราะมีระบบออกหนังสือรับรองแบบ self-service สำหรับผู้เข้าสอบ โดยเราเรียกระบบนี้ว่า e-score เช่น ผลสอบโอเน็ต ซึ่งแต่ละปีมีประมาณ 80,000 ฉบับที่มีการดาวน์โหลด นอกจากนี้ยังมี e-certificate ในแอป ช่วยให้เข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา ประหยัดค่าใช้จ่าย"

อังคณา ใจกิจสุวรรณ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

อังคณา ใจกิจสุวรรณ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวถึงการอำนวยความสะดวกเรื่องการตรวจสอบสิทธิการรับเงินอุดหนุน เงินสงเคราะห์ ฯลฯ ผ่าน ทางรัฐ ได้เลย

"ประชาชนยังสามารถติดตามขอรับเงินสงเคราะห์ กระบวนการสิ้นสุดหรือยัง โดยไม่ต้องเดินทางไปยังสำนักงาน และต่อไปจะพัฒนาระบบเพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงสิทธิ บัตรประชาชนหมดอายุ หรือสิทธิบริการอื่นๆ รวมถึงบริการเงินกู้ยืมให้แก่คนพิการ"

สุรพล

สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด กล่าวถึงข้อมูลด้านการเงินส่วนบุคคลว่า ในช่วง 1 ปี มีคนขอดูข้อมูลตัวเองล้านกว่าคน มีคนขอสินเชื่อปีละ 100 ล้านฉบับ 

"เราจึงออกแบบการให้บริการที่ถูกจริตคนไทย จึงทำเป็นเมนูหนึ่งฝังเข้าไปกับแอปทางรัฐ เพราะอยากให้ทุกคนเข้าไปเช็กข้อมูลตัวเอง เพื่อให้รู้จักตัวเองก่อน ว่ามีหนี้อยู่กี่บาท มีกี่บัญชี มีบัตรเครดิตกี่ใบ มีสินเชื่อรถยนต์หรือบ้านมั้ย เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือแก่ตัวเอง เวลาที่จะไปยื่นขอสินเชื่อ คนหน้างานจะได้ประเมินศักยภาพที่คนคนนั้นจะชำระหนี้ได้”

ทุกช่วงวัย 'รู้ ยื่น จ่าย รับ' ยังไงในแอปเดียว?

จากความร่วมมือของ 47 หน่วยงาน (ณ วันที่ 11 ก.ย. 64) ทำให้เกิดบริการบนแอป ทางรัฐ มากกว่า 30 แอป ยกตัวอย่างการใช้งานในแต่ละช่วงวัย ดังนี้

วัยแรกเกิด รัฐมีโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดของประเทศไทยเพื่อช่วยครอบครัวยากจนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดย กรมกิจการเด็กและเยาวชน และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่สามารถเข้ามาตรวจสอบสถานะสิทธิได้

วัยเรียน มีเมนูหนังสือรับรองผลสอบ O-Net ที่สามารถดูผลคะแนนจากสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติได้

วัยทำงาน มีบริการภาครัฐรองรับการเติบโตต่อยอด ด้วยเมนูตรวจสอบเครดิตบูโร ของ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด และสามารถตรวจสอบสิทธิประกันสังคมของสำนักงานประกันสังคม สิทธิการรักษาพยาบาล สถานะผู้ประกันตนได้เพียงไม่กี่นาที

และช่วงรอยต่อของวัยทำงานที่กำลังเตรียมเข้าสู่ วัยชรา ก็สามารถเช็กยอดเงินสมทบชราภาพผ่านทางรัฐได้ด้วย

สรุปประโยชน์หลักๆ จากการใช้ ทางรัฐ

  • ประหยัดค่าใช้จ่าย สะดวก และรวดเร็ว
  • สามารถติดตามสถานะการขอใช้บริการภาครัฐได้สะดวก
  • ค้นหาข้อมูลการติดต่อราชการได้
  • ได้รับบริการตามสิทธิ์ที่พึงได้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม

ทางไปดาวน์โหลดเพื่อใช้บริการภาครัฐรูปแบบใหม่

แอปพลิเคชัน ทางรัฐ

  • สำหรับผู้ใช้สมาร์ทโฟนระบบ Android : ทางรัฐ
  • สำหรับผู้ใช้สมาร์ทโฟนระบบ iOS : ทางรัฐ

ที่มา : งานสัมมนาออนไลน์ (Virtual Seminar) เปิดตัว แอปพลิเคชันทางรัฐ ทางลัดเข้าถึงบริการรัฐได้ทุกช่วงวัย วันศุกร์ที่ 10 กันยายน 2564

related