svasdssvasds

ปูเสื่อรอ วัคซีนโควิดชนิดพ่นจมูก ใช้ละอองฝอยกระตุ้นภูมิและรุกฆาต

ปูเสื่อรอ วัคซีนโควิดชนิดพ่นจมูก ใช้ละอองฝอยกระตุ้นภูมิและรุกฆาต

แม้อยู่ในขั้นทดลองทางคลินิก แต่วัคซีนโควิดชนิดพ่นจมูก (Intranasal COVID-19 Vaccine) โดยทีมนักวิจัยไทย ไบโอเทค ก็ได้รับความสนใจอย่างมาก เพราะผ่านการทดลองด่านแรก พบว่ากระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ และยังช่วยยับยั้ง-ฆ่าเชื้อโควิดได้อีกด้วย

ผลงานวิจัยเกี่ยวกับไวรัสวิทยาในกลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพของไทย ก้าวไปอีกขั้น เมื่อกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ได้พัฒนา วัคซีนโควิดชนิดพ่นจมูก เผยการทดสอบการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในหนูทดลองแล้ว และใกล้จะเข้าสู่การทดลองในมนุษย์

ทีมวิจัยไวรัสกับงานวิจัยวัคซีนโควิด-19 3 ประเภท

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ไบโอเทค สวทช. ให้ข้อมูลว่า ทีมวิจัยไวรัสวิทยาและเซลล์เทคโนโลยี ไบโอเทค ได้ดำเนินงานวิจัยและพัฒนาวัคซีนต้านโรคติดเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่เริ่มมีการระบาดที่จีนเมื่อเดือนมกราคม 2563 เป็นต้นมา

วัคซีนโควิด-19 แบบพ่นจมูก หมออนันต์

วัคซีนโควิด-19 แบบพ่นจมูก ทีมวิจัยไวรัสวิทยา ทางทีมวิจัย เริ่มงานวิจัยโดยการสังเคราะห์ยีนสไปค์ของไวรัสขึ้นเอง โดยอาศัยข้อมูลรหัสพันธุกรรมของไวรัสที่เผยแพร่หลังจากที่มีการถอดรหัสสำเร็จ และนำยีนดังกล่าวไปใช้เป็นแอนติเจนหรือโปรตีนกระตุ้นภูมิในรูปแบบต่างๆ ประกอบกับความสามารถในการทำวิจัยเชิงลึกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการตัดต่อพันธุกรรมของไวรัส ที่ทีมวิจัยมีความเชี่ยวชาญในเรื่องของการตัดต่อพันธุกรรมไวรัสให้มีความอ่อนเชื้อลง และไม่สามารถแบ่งตัวเพิ่มได้ ซึ่งทีมวิจัยได้ประยุกต์ใช้เป็นต้นแบบวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดยมุ่งเน้นพัฒนาต้นแบบวัคซีน 3 ประเภท คือ

  • 1) วัคซีนประเภท Virus-like particle (VLP) หรือ วัคซีนอนุภาคไวรัสเสมือน เป็นเทคโนโลยีการสร้างโครงสร้างเลียนแบบอนุภาคไวรัสแต่ไม่มีสารพันธุกรรมของไวรัสบรรจุในโครงสร้างดังกล่าว ด้วยเหตุผลดังกล่าววัคซีนรูปแบบนี้จึงปลอดภัย และสามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีต่อโปรตีนสไปค์จากผิวของวัคซีนได้ด้วย
  • 2) วัคซีนประเภท Influenza-based คือการปรับไวรัสไข้หวัดใหญ่ให้สามารถแสดงออกโปรตีนสไปค์ของไวรัส SAR-CoV-2 หลังจากนำส่งเข้าสู่ร่างกาย วิธีนี้จะทำให้ร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อทั้งไวรัสไข้หวัดใหญ่ และ SARS-CoV-2 ได้ในเวลาเดียวกัน
  • 3) วัคซีนประเภท Adenovirus vector-based คือ การปรับพันธุกรรมไวรัส Adenovirus serotype 5 ให้อ่อนเชื้อและสามารถติดเชื้อได้ครั้งเดียว ทั้งยังเพิ่มยีนที่กำหนดการสร้างโปรตีนสไปค์เพิ่มลงไปในสารพันธุกรรมของไวรัส เมื่อนำไวรัสชนิดนี้ฉีดเข้าสู่ร่างกายจะมีการสร้างโปรตีนสไปค์เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันขึ้นมาได้ ซึ่งทีมได้ดำเนินการวิจัยพัฒนาในหลอดทดลอง ทดสอบการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในหนูทดลอง และประเมินประสิทธิภาพของวัคซีนแต่ละชนิดต่อการคุ้มกันโรคที่เกิดขึ้นจริงในเฟสต่างๆ

งานวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิดที่ได้ไปต่อ

ดร.อนันต์ให้ข้อมูลต่อว่า ปัจจุบันทีมวิจัย สวทช. มีความคืบหน้าในการพัฒนาเป็นต้นแบบวัคซีนเป็นอย่างมาก และได้ผลักดันต้นแบบ วัคซีนโควิดชนิดพ่นจมูก 2 แบบ ที่พบว่ามีประสิทธิภาพต่อการคุ้มกันโรค และจะผลักดันให้เป็นวัคซีนต้นแบบสำหรับป้องกันโรคโควิด-19 รวมถึงจะนำไปทดสอบทางคลินิกในอาสาสมัครต่อไป

  • วัคซีนชนิดแรก Adenovirus ที่มีการแสดงออกของโปรตีนสไปค์ ออกแบบโดยการพ่นเข้าจมูกผ่านละอองฝอย

รูปแบบนี้น่าจะเป็นวัคซีนที่ใกล้เคียงกับหลายๆ ที่ ซึ่งการทดสอบในเฟส 1-2 ของทีม สวทช. ผ่านการทดสอบในหนูทดลองที่ฉีดเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว พบว่า นอกจากหนูทดลองไม่มีอาการป่วย ยังมีน้ำหนักเพิ่มมากกว่ากลุ่มที่ฉีดเข้ากล้ามอย่างเห็นได้ชัด ผลการทดสอบความปลอดภัยไม่มีปัญหา

ด้านการผลิตก็จะอยู่ในระดับ GMP (Good Manufacturing Practice) โดยร่วมมือกับบริษัท KinGen BioTech และกำลังจะทดสอบวัคซีนนี้ในอาสาสมัครมนุษย์ในรูปแบบที่สร้างจากไวรัสสายพันธุ์เดลต้า ในเร็วๆ นี้ ส่วนผลงานวิจัยอยู่ระหว่างเร่งรวบรวมส่งไปตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ

วัคซีน แบบพ่นจมูก หมออนันต์

หนูทดลอง

  • วัคซีนชนิดที่สอง Influenza virus ที่มีการแสดงออกของโปรตีน RBD ของสไปค์

วัคซีนตัวนี้กำลังต่อคิวทดสอบประสิทธิภาพการคุ้มโรคโควิด-19 และผลการวิจัยเรื่องระดับภูมิคุ้มกันในหนูทดลองได้ตีพิมพ์ไปแล้ว ซึ่งการทดสอบในหนูทดลองโดยการพ่นเข้าจมูกผ่านละอองฝอยและฉีดเข้ากล้าม พบว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันทั้งในรูปแบบแอนติบอดี และ T cell ได้สูงเช่นเดียวกัน ซึ่งวัคซีนตัวนี้ร่วมมือกับทีมองค์การเภสัชกรรม และมีแผนจะนำออกมาทดสอบความปลอดภัยเป็นตัวต่อไป

อย่างไรก็ตาม เมื่อวัคซีนนี้ผ่านขั้นตอนการศึกษาในสัตว์ทดลองแล้ว พบว่าได้ผลดี ไม่มีผลข้างเคียง จึงจะยื่นเอกสารต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อขอทดสอบในมนุษย์ โดยจะร่วมกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ วางแผนทดสอบประสิทธิภาพวัคซีนกับเชื้อสายพันธุ์เดลตา หาก อย. อนุมัติเร็วก็เริ่มทดสอบในมนุษย์เฟสแรกปลายปี 2564 นี้ ต่อเนื่องสู่เฟส 2 ในเดือนมีนาคม 2565 และหากได้ผลดีจะสามารถผลิตเพื่อใช้ประมาณกลางปี 2565

 

วัคซีนโควิดชนิดพ่นจมูก

ใช้ละอองฝอยกระจายวัคซีน - สกัดจับ - ยับยั้งเชื้อ

ไวรัสส่วนใหญ่รวมถึงไวรัสโคโรนาอันเป็นสาเหตุของโควิด-19 มักจะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางจมูก และก่อตัวขึ้นในโพรงจมูกก่อนที่จะแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย รวมถึงปอด 

จากการทดสอบพบว่า แอนติบอดีในเยื่อเมือกระบบทางเดินหายใจส่วนบน จะสร้างภูมิคุ้มกันได้เร็วและดีกว่าวัคซีนแบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อ รวมถึงสามารถกระตุ้นการผลิต อิมมูโนโกลบูลินเอ (Ig A) ที่จำเพาะต่อแอนติเจน และเม็ดเลือดขาวชนิด T cell ในทางเดินหายใจ ซึ่งช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันแบบฆ่าเชื้อ และสามารถสกัดกั้นไวรัสและสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อต่อสู้กับไวรัสป้องกันการติดเชื้อในระบบต่างๆ ของร่างกาย

ไทยไม่ใช่ประเทศแรกที่คิดค้นวัคซีนชนิดนี้ เพราะมีผู้พัฒนาวัคซีนโควิดชนิดพ่นจมูกก่อนแล้วในอเมริกา แต่ปัจจุบันยังอยู่ในขั้นทดลอง โดยนักวิจัยไทยศึกษาข้อมูลพบว่า เป็นวัคซีนที่ใช้งานสะดวกและเป็นทางเลือกใหม่ที่วัคซีนจะเข้าสู่โพรงจมูกโดยตรง ทั้งยังลดโอกาสที่ผู้ป่วยจะแพร่เชื้อไวรัสต่อ ลดความเสี่ยงของการเกิดผลข้างเคียงจากภาวะลิ่มเลือดอุดตันได้ด้วย จึงมองว่า หากพัฒนาวัคซีนชนิดนี้สำเร็จจนได้ใช้จริง จะเป็นวิธีแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพเช่นเดียวกับวัคซีนที่ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ

ปูเสื่อรอ วัคซีนโควิดชนิดพ่นจมูก ใช้ละอองฝอยกระตุ้นภูมิและรุกฆาต

vaccine พ่นจมูก วัคซีนโควิดชนิดพ่น พ่นแบบไหน ยังไง?

จากความเชี่ยวชาญของทีมวิจัยไบโอเทค สวทช. สามารถอัปเดตวัคซีนให้ตอบสนองต่อการกลายพันธุ์ของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่จะอุบัติขึ้นได้ไวภายใน 2-3 สัปดาห์นี้

ดร.อนันต์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า วัคซีนโควิด-19 ชนิดพ่นจมูก เป็นวัคซีนที่พ่นละอองฝอยในโพรงจมูกผ่านเข็มฉีดพ่นยาชนิดพิเศษที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อส่งวัคซีนไปเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในเยื่อเมือกของระบบทางเดินหายใจส่วนบนโดยตรง 

ผลงานวัคซีนโควิด-19 ชนิดพ่นจมูกนี้ เกิดขึ้นจากองค์ความรู้ที่สั่งสมมาจากงานวิจัยโดยคนไทยทั้งหมด ผสมผสานกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยทัดเทียมกับนานาชาติ ประกอบกับการจัดสรรทุนสนับสนุนการวิจัยจากรัฐบาลในการพัฒนาและผลิตวัคซีนโควิด-19 จากสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนผลักดันวัคซีนที่พัฒนาขึ้นได้ออกไปสู่ผู้ใช้จริง และส่งเสริมการสร้างวัคซีนโควิด-19 ที่มีคุณภาพสำหรับคนไทย 

ที่มา 

related