ถ้าดูจากปัจจุบัน ยังไม่มีปรากฏความเสี่ยงที่สัมพันธ์กับการรับวัคซีนโควิดในกลุ่มบุคคลข้ามเพศ แต่เนื่องจากมีความวิตกกังวลกันมาก SPRiNG จึงนำข้อมูลจาก คลินิกสุขภาพเพศ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มาฝากกันในช่วง Pride Month
โดยทั่วไป บุคคลข้ามเพศที่มีสุขภาพแข็งแรงดีและใช้ฮอร์โมนข้ามเพศอย่างเหมาะสมตามคำแนะนำของแพทย์ควรให้ไปรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 แต่ถึงอย่างนั้นหลายคนก็ยังมีข้อสงสัยบางเรื่อง
ไขข้อข้องใจเรื่องวัคซีนให้บุคคลข้ามเพศ (Transgender)
ไม่มีข้อแนะนำให้หยุดใช้ฮอร์โมนข้ามเพศก่อนการรับวัคซีนโควิด เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลที่เชื่อมโยงปฏิกิริยาของวัคซีนกับฮอร์โมนข้ามเพศ
ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนเข้ารับวัคซีน
ให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสุขภาพของบุคคลข้ามเพศว่า ควรเลือกใช้ฮอร์โมนชนิดใดที่ส่งผลต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตันน้อยที่สุด
ในกรณีที่รับยาต้านไวรัสเอชไอวี หรือได้รับยาสำหรับการป้องกันก่อนหรือหลังการสัมผัสเชื้อเอชไอวี (ART,PrEP หรือ PEP) ยังไม่พบข้อมูลปฏิกิริยาระหว่างยากับวัคซีน จึงแนะนำให้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19
หลังจากรับวัคซีนแล้ว เกิดอาการแบบนี้ต้องรีบไปพบแพทย์
หากบุคคลข้ามเพศที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 มีอาการข้างเคียง เช่น หายใจติดขัด เจ็บหน้าอก ขาบวม ปวดท้องรุนแรงโดยไม่ทราบสาเหตุ ต้องรีบไปพบแพทย์
ที่มา : รศ. นพ.กระเษียร ปัญญาคำเลิศ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย (12 มิถุนายน 2564)