ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สิ่งหนึ่งที่กลายเป็นปัญหาสำคัญ จนทำให้เกิดปัญหาด้านอื่นๆ ตามมา คือ วิกฤตการสื่อสาร ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ต้องตระหนักและแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และป้องกันไม่ให้เกิดความตื่นตระหนก ความสับสน
แนวทางการจัดการสื่อสารในภาวะวิกฤต
1. สร้างการมีส่วนร่วมในการสื่อสาร สื่อสารด้วยความเข้าใจ โดยรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน
2. ผลิตสื่อในรูปแบบที่ชัดเจน เข้าใจง่าย เข้าถึงกลุ่มคนทุกช่วงวัย
3. สื่อสารข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา พร้อมทั้งชี้แจงเหตุผล
4. สื่อสารด้วยความรวดเร็ว และทันต่อเหตุการณ์ เพื่อลดช่องว่างในการสื่อสาร
5. ปรับรูปแบบการสื่อสารให้เข้ากับลักษณะของพื้นที่ หรือชุมชน
สถานการณ์ของโรคระบาดที่แพร่กระจายไปพร้อมกับข้อมูลข่าวสารในตอนนี้ คือ การมีข้อมูลจำนวนมาก และแข่งกันทำเวลาในการเผยแพร่ จนทำให้ขาดการตรวจสอบความถูกต้อง น่าเชื่อถือของข้อมูลนั้นๆ นอกจากนี้ การรับข้อมูลในโซเชียลมีเดีย จะทำให้การรับข้อมูลของเราแคบลง เพราะระบบคัดกรองจะคัดกรองเฉพาะเนื้อหา หรือข้อมูลที่เราให้ความสนใจหรืออยากได้ยิน ซึ่งส่วนใหญ่ข้อมูลเหล่านั้นจะถูกนำเสนอโดยสอดแทรกความคิดเห็นมากกว่าที่จะเป็นข้อเท็จจริง การตรวจสอบข้อมูลข่าวสารให้ถูกต้องก่อนทำการเผยแพร่หรือส่งต่อ จะช่วยลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นในสังคมได้