svasdssvasds

‘ยานยนต์ไฟฟ้า’ ที่ใครๆ ก็ต้องการ กับดีมานด์ด้านจุดชาร์จที่ยากจะเพียงพอ

‘ยานยนต์ไฟฟ้า’ ที่ใครๆ ก็ต้องการ กับดีมานด์ด้านจุดชาร์จที่ยากจะเพียงพอ

แหล่งผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) แห่งใหญ่ในระดับ Top 3 อยู่ในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และจีน ประเทศไทยก็ตั้งเป้าว่าจะเป็นฐานการผลิตเช่นกัน แต่สถานการณ์โลกเป็นอย่างไร เมืองไทยจะก้าวต่อในอุตสาหกรรมนี้ได้หรือไม่ ต้องมาดูข้อมูลและนโยบายของประเทศ

McKinsey & Company บริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารชั้นนำของโลก เผยข้อมูลว่า ค่ายรถยนต์ทั่วโลกจะเปิดตัว ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) มากกว่า 350 รุ่น ภายใน 4 ปีข้างหน้า และระยะการขับขี่ของรถที่จะได้รับการพัฒนาให้ขับได้ไกลกว่าปัจจุบัน จะสนับสนุนให้รถ EV ในจีน สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกาเติบโตประมาณ 120 ล้านคัน ในปี 2573 

ev charger

   ถ้าอนาคตใช้ยานยนต์ไฟฟ้ากันเพียบ เรื่องที่ต้องคำนึงถึงต่อคือ?   

ปริมาณ EV ที่คาดว่าจะมากขึ้น ความต้องการชาร์จพลังงานให้ยานยนต์ไฟฟ้าก็ต้องเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว และพฤติกรรมผู้ใช้รถก็จะเปลี่ยนไป จากเดิมที่ใช้รถยนต์สันดาปภายใน (ICE) ซึ่งปล่อยก๊าซคาร์บอนออกสู่ชั้นบรรยากาศ และยังต้องไปเติมน้ำมันเชื้อเพลิงที่สถานีบริการเท่านั้น แต่หากใช้ EV ผู้ขับขี่สามารถชาร์จไฟได้ทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน และระหว่างการเดินทาง กับความรู้สึกว่า ได้มีส่วนร่วมในการใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ลองนึกดูว่าในปัจจุบัน เรามีปั๊มน้ำมันให้รถยนต์สันดาปจอดเติมอยู่ทุกจังหวัดมากเพียงใด หากคนไทยหันมาใช้รถ EV มากขึ้น ความต้องการพลังงานไฟฟ้าย่อมเพิ่มตาม ซึ่งต้องใช้ทั้งต้นทุนที่เป็นตัวเงินและต้นทุนเวลา ทีนี้การติดตั้งจุดชาร์จไม่ทันหรือไม่เพียงพอก็จะกลายเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์อย่างมีนัยสำคัญ

ยานยนต์ไฟฟ้า EV    เทรนด์การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในระดับโลกนั้นมากจริงๆ    

  • McKinsey & Company คาดการณ์ว่า จะมี EV มากกว่า 350 รุ่น ที่ค่ายรถทั่วโลกปล่อยออกมาชิงตลาดภายในปี 2568 
  • การพัฒนา EV ให้ขับขี่ได้ไกลกว่าในปัจจุบันจะหนุนให้การใช้งาน EV ในจีน สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา เติบโตราว 120 ล้านคัน ในปี 2573  
  • McKinsey & Company คาดการณ์ว่า ความต้องการด้านพลังงานสำหรับ EV จะเติบโตมากในช่วงปี 2563 - 2573 อยู่ที่ราว 20,000 – 280,000 ล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง
  • สำหรับประเทศไทย สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานคาดการณ์ว่า จะมีการใช้ EV 138,918 คัน ภายในปี 2568 
  • เพื่อให้ไทยเป็นฐานการผลิต EV สำคัญของโลก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยตั้งเป้าเร่งการผลิต EV สะสมไว้ที่ 1,051,000 คัน ภายในปี 2568 และจะเพิ่มการผลิต EV สะสมให้ได้ 6,224,000 คัน ภายในปี 2573 
  • ปัจจุบันไทยมีหัวชาร์จ EV 1,000 หัว หากหัวชาร์จ 1 หัว สามารถให้บริการชาร์จได้ 3 คัน สนพ.คาดว่า จะต้องมีหัวชาร์จเพิ่มขึ้นทั้งหมด 47,000 หัวชาร์จ ในปี 2568
  • ในด้านจุดชาร์จ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติตั้งเป้าให้มีสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะกระจายทั่วประเทศแบบ Fast Charge สำหรับรถยนต์และกระบะ 12,000 หัวชาร์จ ภายในปี 2573

นอกจากนี้ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติยังมีแผนจัดตั้งสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Battery Swap) ให้แก่รถจักรยานยนต์ไฟฟ้ารับจ้างและส่งสินค้า Delivery จำนวนทั้งสิ้น 1,450 แห่ง พร้อมกำหนดมาตรการส่งเสริมทางการเงินและภาษี มาตรฐานเพื่อความปลอดภัย พร้อมทั้งบูรณาการให้เข้ากับระบบสมาร์ทกริด เพื่อให้สอดคล้องกับการผลิตรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (ZEV: Zero Emission Vehicle) 

ที่มา : McKinsey & Company, สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน. สภาอุตสาหกรรมแห่ง ประเทศไทย, คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ 

   พฤติกรรมผู้ใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าที่คาดว่าไทยจะเป็นเหมือนอเมริกา   

ถ้าให้นึกถึงจุดชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า 3 แห่ง ได้แก่ ที่บ้าน ที่ทำงาน จุดชาร์จระหว่างทาง พบว่า 75-80% ของคนอเมริกันเน้นการชาร์จที่บ้าน รองลงมาคือ จุดชาร์จตามจุดหมายปลายทางต่างๆ เช่น ที่ทำงาน แหล่งไลฟ์สไตล์ ขณะที่อันดับสุดท้ายคือ การชาร์จตามสถานีที่มีจุดชาร์จให้บริการ

บริษัท ชาร์จ แมเนจเม้นต์ จำกัด หรือ Sharge หนึ่งในผู้ให้บริการโซลูชันส์ติดตั้งหัวชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า ให้ความเห็นว่า พฤติกรรมการชาร์จ EV ในไทยก็จะเติบโตไปในลักษณะเดียวกับอเมริกา คือมีการชาร์จที่บ้านเป็นหลัก เนื่องจากโครงสร้างที่อยู่อาศัยของอเมริกาและไทย โดยส่วนใหญ่เป็นบ้านเดี่ยว

สำหรับการการศึกษาพฤติกรรมการชาร์จรถ EV จากจีน สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา พบว่า ผู้ขับขี่ที่ใช้รถยนต์นั่งส่วนบุคคลมักจะจอดรถนาน 8-12 ชั่วโมงในตอนกลางคืนและชาร์จไฟที่บ้าน เพราะทำได้ง่ายและมีต้นทุนถูกกว่าการชาร์จที่อื่น เนื่องจากอัตราค่าไฟในที่อยู่อาศัยมีราคาถูกกว่าค่าไฟฟ้าเชิงพาณิชย์หรืออุตสาหกรรม และการชาร์จส่วนใหญ่ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงกลางคืนเป็นช่วงเวลาที่ค่าไฟต่ำกว่าช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในแต่ละวัน

   ข้อเสนอเรื่องการติดตั้งเครื่องชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าตามบ้าน อาจเป็นทางออกของปัญหาจุดชาร์จไม่พอ   

หากภาครัฐเข้ามาสนับสนุนการติดตั้งเครื่องชาร์จตามบ้านด้วยการออกกฎหมายให้สามารถติดตั้ง 'หม้อแปลงแยกสำหรับการชาร์จรถ EV' ในแต่ละบ้านได้ จะลดอุปสรรคเรื่องที่ชาร์จ EV ไม่เพียงพอลงอย่างมาก เพราะจะช่วยลดปัญหาเรื่องขนาดมิเตอร์ของบ้านพักอาศัยทั่วไปที่ใช้ขนาด 15 แอมป์ ซึ่งถ้าต้องชาร์จรถ EV ด้วยกำลังไฟก็จะไม่เพียงพอ เนื่องจาก EV Charger โดยทั่วไปใช้กำลังไฟสูงถึง 32 แอมป์ ถ้าเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟหลายชิ้นพร้อมกับชาร์จ EV ไปด้วยอาจเกิดไฟตกได้

นอกจากนี้ แนวโน้มการเติบโตของรถ EV ในประเทศไทยอาจมาเร็วกว่าที่คาด เนื่องจากผลการสำรวจของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน 2564 ผู้ประกอบการในหลากหลายอุตสาหกรรมสนับสนุนการใช้รถ EV ดูได้จากเสียงสะท้อนของ CEO บริษัทชั้นนำ 200 ราย ที่ตอบแบบสำรวจภายใต้หัวข้อ “ความเห็นต่อแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ” พบว่า CEO ส่วนใหญ่สนับสนุนแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการใช้รถยนต์ EV ในประเทศ และต้องการให้ภาครัฐเริ่มดำเนินการให้เร็วยิ่งขึ้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการใช้รถ EV ก่อนปี 2568 คิดเป็นสัดส่วนถึง 47% รองลงมา (31.5%) เห็นด้วยตามกรอบระยะเวลาตามแผนฯ ที่จะเริ่มการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในปี 2568 และมีผู้เสนอให้เลื่อนการดำเนินงานตามแผนฯ ออกไป 5 ปี กับ 10 ปี คิดเป็น 11% และ 10.5% ตามลำดับ

ข้อมูลด้านการเติบโตของรถ EV ที่จะเปิดตัวเพิ่มขึ้นจำนวนมากในระยะเวลาอันใกล้นี้ หากประเทศไทยเร่งพัฒนาจุดชาร์จให้เติบโตควบคู่ไปกับ EV ได้ ก็จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สนับสนุนให้ผู้ใช้รถเปลี่ยนจากรถยนต์สันดาปไปใช้ EV มากขึ้น อุตสาหกรรมนี้ก็จะกลับมาคึกคักท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจพ่วงวิกฤตโควิด 19 ที่ยังอยู่รอบตัวเรา

related