เอ็นไอเอ เปิดแนวโน้มความท้าทายอนาคตสื่อ ท่ามกลางวิกฤตโควิด 19 นวัตกรรม การแข่งขัน และแนวทางการอยู่รอดที่ต้องปรับตัว
ความท้าทายอนาคตสื่อ ท่ามกลางวิกฤตโควิด 19 ในสถานการณ์การระบาดของโรคอุบัติใหม่นี้ สื่อได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก เริ่มตั้งแต่การเสพข่าวสาร การทำงาน การใช้สื่อเป็นตัวกลางในการติดต่อระหว่างกัน การให้ความบันเทิง และแม้แต่กระทั่งการสร้างรายได้จากการผลิตคอนเทนต์
วิกฤตการณ์ครั้งนี้ได้เปลี่ยนแปลงทั้งในแง่ความก้าวหน้าและการถอยลงของสื่อบางประเภท อันเนื่องมาจากปัจจัยพฤติกรรมการเสพสื่อของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงรูปแบบการนำเสนอของแต่ละสื่อ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ได้ระบุแนวโน้ม ปรากฏการณ์ด้าน นวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมทั้งแนวทางการปรับตัวของสื่อ เพื่อจับกระแสและความเป็นไปของสื่อภายใต้ภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้น
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(องค์มหาชน) หรือ NIA เปิดเผยว่า ภาวะวิกฤตและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในขณะนี้ สื่อและสื่อมวลชนถือว่าเป็นตัวกลางสำคัญที่จะช่วยส่งต่อข่าวสาร รวมไปถึงข้อมูลที่ประชาชนจำเป็นต้องรู้ โดยสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 นี้ นับว่ามีผลกระทบต่อการรายงานข่าวของสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะด้านรูปแบบ เทคนิค และวิธีการนำเสนอ เนื่องจากต้องมีทั้งข้อมูลเชิงลึกทางสถิติและองค์ความรู้ทางการแพทย์ที่ต้องรวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ เข้าใจได้ง่าย เน้นสร้างความเข้าใจมากกว่าความตระหนกให้สังคม จึงจะตอบโจทย์ความต้องการของผู้เสพข่าวในยุคปัจจุบัน
การเปลี่ยนแปลงที่จะเห็นได้ชัดเจน คือ สื่อขนาดใหญ่จะเหลือน้อยลง นายทุนจำเป็นต้องอาศัยโอกาสนี้ในการลดขนาดบริษัท ลดจำนวนพนักงาน และหันมาทำสื่อออนไลน์มากยิ่งขึ้น ซึ่งหลังจากนี้ทุกคนจะได้เห็นสำนักข่าวออนไลน์เพิ่มขึ้นกว่าที่ผ่านมา
นอกจากนี้ การนำเสนอข่าวในโซเชียลมีเดีย กลายเป็นช่องทางที่ได้รับความนิยมมากกว่าการนำเสนอข่าวผ่านหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ โดยเฉพาะเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ที่จะกลายเป็นสื่อกระแสหลักโดยปริยาย
ยิ่งไปกว่านั้น คือ มีแนวโน้มที่ผู้ท่องโลกโซเชียลมีเดียจะย้ายการติดตามข่าวสารจากเฟซบุ๊กมายังทวิตเตอร์เนื่องจากมีความรวดเร็วกว่า รูปแบบการนำเสนอคอนเทนต์ที่แตกต่างและมีเอกลักษณ์ ผู้ใช้งานเลือกได้ว่าอยากจะเห็นอะไร และติดตามเฉพาะสิ่งที่สนใจ
ในปัจจุบัน เราจะพบได้ทั้งข่าวลวง หรือ Fake News ที่เน้นนำเสนอข้อมูลเท็จแต่อาศัยการเผยแพร่อย่างรวดเร็วเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง และการปั่นกระแสด้วยการนำเสนอ การอ้างอิงข้อมูลเพื่อทำให้คนมองไปในทิศทางเดียวกัน และควบคุมวิธีคิดของคนในโลกออนไลน์ สื่อเองจึงจำเป็นต้องมีความตระหนักในการนำเสนอข่าวด้วยความมีจริยธรรมให้มากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ทั้งการปั่นกระแสและการสร้าง Fake News ก็ถือว่ามีผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบ ด้านลบ คือ ประชาชนจะถูกใช้เป็นเครื่องมือและสร้างความแตกแยกในสังคม แต่ด้านบวก คือ สื่อจะตระหนักและนำเสนอข่าวด้วยจริยธรรมมากยิ่งขึ้น
การใช้สื่อออนไลน์มีผลกระทบด้านความเป็นส่วนตัว เพราะที่ผ่านมาในประเทศไทยมักมองข้ามเรื่องดังกล่าว ซึ่งในความเป็นจริงแล้วการเคารพความเป็นส่วนตัวถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยเฉพาะข้อมูลทางการแพทย์ ระบบการติดตามตัว ฯลฯ
รัฐบาลควรมีแนวทางการจัดการความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยให้สามารถดำเนินไปด้วยกัน และประชาชนเองก็จำเป็นต้องเรียนรู้การปกป้องข้อมูลของตนเองอีกทางหนึ่งด้วยเช่นกัน
ในช่วงภาวะฉุกเฉินเช่นนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องหาแนวทาง ส่วนประชาชนเองก็จำเป็นจะต้องป้องกันข้อมูลของตนเองโดยไม่นำข้อมูลส่วนตัวเข้าไปเผยแพร่ในระบบออนไลน์ หรือไม่นำไลฟ์สไตล์ส่วนตัวไปผูกติดกับโซเชียลมีเดีย ซึ่งหากทำได้ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องการถูกละเมิดเรื่องดังกล่าว
สื่อในปัจจุบันส่วนใหญ่ยังแข่งขันกันที่ความรวดเร็ว ซึ่งในความเป็นจริงแล้วต้องมีปัจจัยอื่นเข้ามาร่วมด้วย หากสื่อมวลชนต้องการให้ประชาชนเข้าถึงข่าวหรือคอนเทนต์ของตนเอง จะต้องมาพร้อมกับความน่าเชื่อถือควบคู่ไปกับจริยธรรม ความแม่นยำของตัวผู้นำเสนอ รวมทั้งต้องเปิดโอกาสด้านการมีส่วนร่วมระหว่างสื่อและผู้บริโภค เพื่อทำให้เกิดความใกล้ชิด และเข้าถึงกันได้มากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังต้องแข่งขันกันด้วย นวัตกรรมและเทคโนโลยี ที่ทันสมัย เพื่อทำให้ภาพลักษณ์ของผู้ผลิตสื่อดูดีอยู่เสมอ โดยตัวอย่างของนวัตกรรมที่สำคัญ ได้แก่ เทคโนโลยีเสมือนจริงเพื่อให้เกิดอารมณ์ร่วมในการรับชม การใช้ AI ในกระบวนการทำข่าว การรวบรวม การสรุปผลและเผยแพร่แบบเรียลไทม์ เทคโนโลยีการถ่ายทอดสดที่มีมากกว่าหนึ่งช่องทาง รวมทั้งการใช้ Big Data Chatbot และอื่นๆ เพื่อเก็บข้อมูลและเรียนรู้พฤติกรรมของผู้บริโภค เพื่อให้การนำเสนอข่าวเข้าถึงความสนใจได้มากที่สุด
สถานการณ์ในปัจจุบัน เรามี อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) บล็อกเกอร์ (Blogger) ยูทูบเบอร์ (Youtuber) รวมทั้ง ผู้ใช้ TikTok ที่กำลังเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย
ข้อดีอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือ ทำให้คนได้เห็นคอนเทนท์ที่มีความหลากหลาย ผู้คนสามารถผันตัวเป็นสื่อ สร้างรายได้ และนำมาซึ่งการแข่งขันทั้งระหว่างผู้เล่นใหม่ รวมทั้งสื่อขนาดใหญ่ที่ต้องมีการสร้างสรรค์เนื้อหาให้ตรงใจกับผู้รับชม เพื่อแข่งขันกันในการดึงเม็ดเงินโฆษณาเข้ามาสู่รูปแบบการนำเสนอเนื้อหา มากกว่ารูปแบบโฆษณาที่เคยเห็นบนหน้าจอทีวี สิ่งพิมพ์
อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นโอกาสให้กับผู้เล่นหน้าใหม่ๆ ที่จะได้รับความเท่าเทียมบนสื่อต่างๆ มากขึ้น แต่ข้อที่ควรคำนึงถึงก็คือ จะผลิตคอนเทนต์อย่างไร ผลิตด้วยวิธีไหน และเผยแพร่บนช่องทางใด (Online Streaming) ซึ่งถ้าหากแก้โจทย์เหล่านี้ได้ ก็จะทำให้วงการสื่อของไทยมีสีสัน และกระตุ้นให้เกิดการลงทุนได้อย่างต่อเนื่อง
ดร.พันธุ์อาจ กล่าวทิ้งท้ายว่า นวัตกรรมและเทคโนโลยี ในการสร้างสรรค์สื่อเป็นตัวสร้างมูลค่าที่สำคัญให้กับผู้ที่ดำเนินธุรกิจ แต่นอกเหนือจากการสร้างมูลค่าที่เป็นรายได้ ผู้ที่ผลิตสื่อต้องผลักดันให้เกิดมูลค่าของคอนเทนท์ มูลค่าทางใจ และการรักษาไว้ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค รวมทั้งต้องมีสิ่งที่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับบุคคลและสังคม
ในอนาคต สื่อยังคงเป็นองค์กรที่มีบทบาทที่สำคัญที่ช่วยชี้นำคนในสังคมได้แทบจะทุกประเด็น ซึ่งหากสื่อมีคุณสมบัติที่ครบทุกมิติ ก็จะขับเคลื่อนธุรกิจและอยู่รอดในโลกดิจิทัลได้อย่างยั่งยืน
สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ www.nia.or.th และ facebook.com/NIAThailand