ป่าไม้เชียงใหม่ แจง ต้นไม้ "บิ๊กป้อม-ฌอน" ยังไม่ตาย! แค่เข้าสู่ช่วงผลัดใบย่างเข้าฤดูแล้ง สั่งเพิ่มความถี่ในการจัดเจ้าหน้าที่ป่าไม้แวะเวียนมาดูแล
จากกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊คชื่อ “Tee Hit” ได้โพสต์ภาพกล้าต้นไม้ที่ถูกปลูกเรียงเป็นแถว แต่ไม่ได้รับการดูแลและเหี่ยวแห้งตาย มีเพียงฟางหญ้าคลุมไว้ที่โคนต้นเท่านั้น พร้อมบรรยายข้อความว่า “ฌอน นายจำได้ไหม??ป่าที่นายเคยมาปลูก ต้นไม้ที่นายเคยปลูกก็ยังไม่มีใบงอกมาสักใบเลย ผ่านไปเป็นปีแล้ว นายกลับมาดูแลบ้าง???”
หนุ่มโพสต์ถาม "ฌอน" ทำไมโครงการปลูกป่า จ.เชียงใหม่ ไม่มีใบงอกสักใบ
สำหรับโพสต์ดังกล่าวมีผู้นำไปแชร์ต่อและเข้าไปแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นการตำหนิ โดยเชื่อว่าภาพที่มีการนำมาโพสต์นั้น เป็นพื้นที่ปลูกป่าตามโครงการ “รวมใจไทยปลูกต้นไม้เพื่อฟื้นฟูป่าและเพิ่มพื้นที่สีเขียว” บริเวณห้วยตึงเฒ่า อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และนายฌอน บูรณะหิรัญ ไลฟ์โค้ชและเน็ตไอดอลชื่อดังเข้าร่วมด้วย ก่อนที่ต่อมา “ฌอน” จะถูกโจมตีอย่างหนักให้ตรวจสอบเกี่ยวกับการรับบริจาคเงินช่วยดับไฟป่าดอยสุเทพ ทำให้ต้องเก็บตัวเงียบไปตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา จนกระทั่งล่าสุดเกิดประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อีกครั้ง
ล่าสุดวันที่ 15 มกราคม 2564 ที่ห้วยตึงเฒ่า อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ นายศิริชัย ทองประเสริฐ ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมการปลูกป่า สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่1(เชียงใหม่) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่ตรวจสอบพื้นที่ปลูกป่าตามโครงการ “รวมใจไทยปลูกต้นไม้เพื่อฟื้นฟูป่าและเพิ่มพื้นที่สีเขียว” ซึ่งอยู่ใกล้กับอ่างเก็บน้ำห้วยตึงเฒ่าและลานหุ่นฟางคิงคอง เพื่อสำรวจและตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีที่โลกสังคมออนไลน์มีการโพสต์ภาพและตั้งข้อสังเกตว่าต้นไม้ที่ปลูกไว้ตามโครงการดังกล่าวเหี่ยวแห้งตายหมด จนเกิดกระแสวิพากษ์อย่างกว้างขวาง
โดยเบื้องต้นจากการตรวจสอบพบว่าต้นไม้ที่ปลูกไว้โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมทั้งบุคคลสำคัญ จำนวน 47 ต้น และที่ปลูกเสริมเพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่งเป็นรวม 60 ต้น ไม่ได้ตายหมดตามที่มีการเผยแพร่ในโลกสังคมออนไลน์แต่อย่างใด ซึ่งสภาพต้นไม้ที่ไม่มีใบนั้นเป็นเพียงการผลัดใบในช่วงย่างเข้าสู่ฤดูแล้งเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม พบว่ามีบางต้นที่ตาย แต่มีอัตราการรอดสูงกว่า 90% ขณะที่ต้นตะเคียนทองที่ปลูกโดย พล.อ.ประวิตร และต้นไม้ที่บุคคลสำคัญร่วมกันปลูกรวมจำนวน 47 ต้นนั้น ยังไม่ตายและอยู่ครบทั้งหมด ซึ่งจากนี้เตรียมจัดเจ้าหน้าที่เพิ่มความถี่ในการดูแลมากขึ้น
ขณะที่ นายศิริชัย ทองประเสริฐ ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมการปลูกป่า สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่1 (เชียงใหม่) กล่าวว่า ตามที่มีข้อมูลเผยแพร่ในโลกสังคมออนไลน์ว่าต้นไม้ที่ปลูกไว้ตายนั้น ในข้อเท็จจริงแล้วต้นไม้ที่มีการนำมาปลูกไว้นั้น ตามธรรมชาติจะมีการผลัดใบในช่วงหน้าแล้ง และแตกยอดออกใบใหม่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ซึ่งช่วงนี้เป็นช่วงหน้าแล้งพอดี จึงเป็นปกติที่ต้นไม้ที่ปลูกไว้จะผลัดใบออกหมด แต่เมื่อย่างเข้าช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม จะพบว่ามีการแตกยอดออกใบใหม่ โดยขณะนี้บางต้นเริ่มแตกยอดและออกใบใหม่ให้เห็นบ้างแล้ว
นอกจากนี้ จากการให้เจ้าหน้าที่ทำการตรวจนับต้นไม้ที่ปลูกไว้โดยบุคคลสำคัญพบด้วยว่ายังอยู่ครบทั้ง 47 ต้น ส่วนที่มีการปลูกเสริมเพิ่มเติมให้ครบ 60 ต้น มีตายบางส่วน และจะทำการปลูกเพิ่ม รวมทั้งเพิ่มความถี่ในการจัดเจ้าหน้าที่ป่าไม้แวะเวียนมาดูแลร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหาร
นายศิริชัย กล่าวด้วยว่า ต้นไม้ที่ปลูกไว้เป็นไม้เศรษฐกิจและโตช้า ได้แก่ ประดู่ มะค่า พะยูง สัก ตะเคียนทอง ซึ่งจะต้องใช้เวลานานหลายปีกว่าจะเห็นผลเป็นรูปธรรม ดังนั้นในเวลานี้อาจจะยังไม่เห็นผลเพราะเพิ่งปลูกเมื่อกลางปี 2563 ที่ผ่านมานี้เอง แต่ยืนยันว่าทางเจ้าหน้าที่ป่าไม้จะดูแลอย่างดีที่สุดเพื่อให้ต้นไม้ที่ปลูกไว้อยู่รอดและยืนต้นเติบใหญ่ในระยะยาว พร้อมกันนี้ชี้แจงด้วยว่าโครงการปลูกป่าดังกล่าวนี้นายฌอน บูรณะหิรัญ เป็นเพียงผู้ที่เข้ามาร่วมกิจกรรมเท่านั้น ไม่ได้มีส่วนร่วมจัดหรือดำเนินการแต่อย่างใด