SHORT CUT
ฟังเสียงเกษตรกรโคเนื้อและผู้อัดฟางก้อนที่โดนผลกระทบเป็นลูกโซ่จากการปิดด่านชายแดนแม่สอดนานเกือบ 2 ปี ที่ยังส่งผลกระทบต่อปัญหา PM 2.5 ปัญหาที่ใครหลายอาจมองข้าม
ในปัจจุบันที่วัวภายในประเทศไทยราคาตกต่ำ จากการปิดชายแดนนำเข้าวัวอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ด้วยเหตุผลการระบาดของโรคปากและมือเท้าเปื่อยในประเทศเมียนมา ลากยาวจนมาถึงปัจจุบันที่ยังไม่มีวี่แววว่าจะสั่งเปิดด่านนำเข้าวัวในเร็วๆ นี้ ประกอบกับการที่จำนวนวัวลดลง พอไม่มีวัวมากินฟางส่งผลเกษตรกรหลายรายจำเป็นต้องเผาฟางเพื่อรีบทำนา ส่งผลให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ตามมา
พิเชษฐ์ นิลนนท์ ผู้ประกอบการฟางอัดก้อน จังหวัดสุโขทัย เล่าว่า พอขาดแคลนวัวก็ขายฟางไม่ได้ เกษตรกรอัดฟางอย่างตัวเองก็ไม่รู้จะเอาไปขายให้ใคร เพราะเคยนำไปขายแต่ปรากฎว่าก็ไม่มีใครรับซื้อ แต่ถ้าจะให้เอาไปขายที่จังหวัดอื่น ก็กลายเป็นลูกค้าหน้าใหม่ เพราะแต่ละที่ก็จะมีการทำ MOU ไว้ ถ้าเข้าไปก็จะต้องไปต่อสู้ตัดราคาขายแข่งกัน เขาให้ความเห็นว่า การทำแบบนี้จะทำให้ท่าการตลาดเสีย เขาเล่าต่อว่า มีเกษตรนำฟางมาขายให้เขา แต่ก็รับซื้อไม่ได้ ทำให้เกษตรเหล่านี้จำเป็นต้องเผาตอซัง เนื่องจากต้องรีบทำนาข้าว และการเผาในแต่ละครั้งก็มีการเผาเป็นจำนวนมากและเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ก็ส่งผลถึงปัญหาของฝุ่น PM 2.5 ตามมา
“ถ้าต่างคนต่างเผา ฝุ่น PM ก็เกิดแน่นอน มันวนลูปอยู่ในห่วงโซ่เดียวกันเลยครับ” พิเชษฐ์ นิลนนท์
ราเชษฐ์ บินมาลา ผู้นำเข้าส่งออกวัวเนื้อ กรุงเทพมหานคร เล่าว่า การขาดแคลนวัวมันกระทบกันเป็นทอดไปจนถึงวิถีชีวิตของเกษตกร เพราะหลังจากการเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว ผลพลอยได้จากการเกี่ยวข้าวของชาวบ้านคือฟาง เกษตรกรหลายรายกนำฟางเหล่านี้ขึ้นไปขายให้กับผู้ประกอบการ
เขาเล่าต่อว่า อย่างน้อยปัญหาฝุ่น PM 2.5 จะไม่เกิดแน่นอนถ้ามีวัวมากินฟาง อีกทั้งยังช่วยเป็นการลดทุนและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตร เขาเล่าต่อว่า แค่เฉพาะอำเภอแม่สอดอำเภอเดียว ท่ารับซื้อฟาง ท่าหนึ่งใช้ฟาง 2,500 ก้อนต่อวัน แม่สอดมีทั้งหมด 10 กว่าท่า ราคาประมาณก้อนละ 40 บาท และเกษตรกรที่ทำนาปลูกข้าวก็จะได้นำเงินไปลดต้นทุนในการทำการเกษตร อย่างการนำเงินจากการขายฟางไปซื้อน้ำมันที่จะใส่รถแทรกเตอร์
พิเชษฐ์ เล่าว่า การปิดชายแดนชายแดนนำเข้าวัว แต่ราคาก็ยังดิ่งลงไม่หยุด เกิดจากกลไกของตลาดที่มีสินค้าอยู่น้อย เพราะวัวภายในประเทศที่หลายคนบอกว่ามีอยู่ประมาณ 9.9 ล้านตัวเป็นตัวเลขที่ไม่ชัดเจนแน่นอน ประกอบชายแดนที่ปิด และเมื่อก่อนก็มีวัวจากประเทศเมียนมาเข้ามา วัวชนิดนี้เป็นที่นิยมของตลาดเวียดนาม จีน และมาเลเซีย พอไม่มีเข้ามาก็ช่วยอุ้มราคาไม่ได้
ราเชษฐ์ เปรียบเทียบให้ฟังว่า วงจรการซื้อขายเหล่านี้เหมือนกับร้านค้าที่มีสินค้าเยอะๆ มีคนมาจับจ่ายใช้สอยมากมาย แต่ตอนนี้ ปิดชายแดนทำให้ไม่มีสินค้า แต่ถ้าเสนอขายวัวที่ตลาดไม่ต้องการ ก็เหมือนการเอาสินค้าไปยัดเยียดให้กับคนซื้อ ผู้ประกอบการหลายคนก็หันไปทำอย่างอื่น พอผู้ประกอบการลดลงทุกอย่างก็ดิ่งกันเป็นลูกโซ่ เขาเล่าต่อว่า ในตอนนั้นวัวซากราคาประมาณ 85 บาท ปัจจุบันราคาวัวซากอยู่ที่ประมาณ 50 บาท
“จบแล้วครับ วัวขุนแล้ว ประมาณ 70 บาทนิดๆ” ราเชษฐ์ บินมาลา
วิเชษฐ์ บินมาลา ผู้นำเข้าส่งออกวัวเนื้อ กรุงเทพมหานคร เล่าถึงผลกระทบจากการปิดชายแดนนำเข้าวัวที่ส่งผลกระทบต่อคนที่ประกอบอาชีพในวงจรนี้ ว่า พอไม่มีจำนวนวัวส่ง ก็เหมือนเป็นการบีบบังคับให้ตกงานไปในตัว เขาเล่าต่อว่า จากที่เคยทำงาน 1 อาทิตย์ ส่งออกได้ 2 พ่วงรถ กลับกลายเป็น 15 – 30 วัน ได้ 1 พ่วงรถ เพราะตอนนี้ทางลูกค้ามาเลเซีย เวียดนาม ก็ซื้อเองแล้ว ไม่จำเป็นต้องรอจากไทย ทำให้หลายคนที่ประกอบอาชีพในวงจรนี้ตกงานกันเกือบทั้งระบบ
ในปัจจุบันที่ด่านนำเข้าวัวปิดลากยาวมาเกือบ 2 ปี ผู้ประกอบการหลายคนที่อยู่ในวงจรนี้ก็อดสงสัยไม่ได้ว่าเพราะโรคระบาดหรือมีคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียจากการปิดชายแดนนำเข้า ราเชษฐ์ เขาให้ความเห็นว่า ในตอนนี้ด่านปิดได้ปีกว่าแล้ว ต่อให้เราปิดชายแดนต่อไป ก็ยังคงมีการลักลอบนำเข้ามา ผลประโยชน์ก็อยู่ที่คนลักลอบและคนที่บริหารงานในส่วนมาตรการควบคุม แต่ถ้ายังคงปิดด่านต่อไปทางรัฐเองก็เสีย เขายังเล่าต่ออีกว่า การปิดด่านได้ปีกว่าๆ ไม่ได้ทำให้ความสำเร็จของราคาวัวเพิ่มขึ้นได้เลย เขาจึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดด่านนำเข้าวัว แล้วจึงวางมาตรการควบคุมให้เข้มงวด เพราะในฐานะคนไทยเองก็พร้อมที่จะปฏิบัติตามกฎหมาย
"วันนี้ท่านลองแล้ว การปิดชายแดนปีกว่าๆ ไม่ได้ทำให้ราคาวัวสำเร็จขึ้นมาเลย เพราะงั้น เปิดเถอะครับ" ราเชษฐ์ บินมาลา
พิเชษฐ์ เล่าว่า ถึงแม้จะมีการปิดชายแดนนำเข้า แต่ก็ยังมีการลักลอบนำเข้าวัวข้ามเข้ามา ขนส่งไปยังจังหวัดต่างๆ ในประเทศไทย และการลักลอบเข้ามาที่ไม่ได้กักแม้แต่วันเดียว วัคซีนก็ไม่เคยฉีด พอวัวเข้ามาถึงท่าก็ลักลอบขนใส่รถขึ้นไปที่ต่างๆ ในประเทศไทย โอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคก็สูง เพราะทางรัฐก็ไม่ได้มีมาตรการควบคุมอะไรไม่ได้ ส่งผลให้ราคาวัวในไทยตกต่ำขึ้นไปอีก
รับชมเพิ่มเติม