จากเด็กในวันนั้น สู่ ’แสนดี‘ ในวันนี้ เปิดมุมมองการเลี้ยงดูของผู้ว่า กทม. ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ผู้ทุ่มเททั้งชีวิต เพื่อพลิกชะตากรรมของลูกชายคนเดียว
ถ้าพูดถึงลูกในมุมมองของพ่อแม่ หลายคนก็ยังมองว่าลูกเป็นเด็กเสมอ ไม่ว่าพวกเขาจะเติบใหญ่แค่ไหน ก็ยังเป็นลูกที่พ่อแม่ต้องเป็นห่วงและคอยปกป้องดูแล เช่นเดียวกับ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ หรือ พ่อทริป ที่ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ SPRiNG ถึงมุมมองการเลี้ยงลูก และการต่อสู้กับโชคชะตาจนรักษาลูกที่มีความบกพร่องทางการได้ยินให้กลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติ
แสนปิติ สิทธิพันธุ์ หรือ แสนดี เกิดวันที่ 12 มกราคม 2543 อายุ 24 ปี ลูกชายคนเดียวของชัชชาติ เขาเล่าว่าวินาทีที่รู้ว่าลูกหูหนวก ก็รู้สึกผิดหวัง ตกใจ กลัว และรู้สึกสงสารว่าลูกจะอยู่อย่างไรในอนาคต เพราะเวลาคนเราคิดก็คิดเป็นภาษา แต่ถ้าหูหนวกก็ไม่รู้ว่าเขาจะพัฒนาความคิดได้อย่างไร ตอนนั้นไปบนบานศาลกล่าวหลายที่
"จนสุดท้ายก็รู้ว่าไม่มีใครช่วยเราได้ นอกจากตัวเราเอง ชีวิตลูกเราก็ขึ้นอยู่กับตัวเรา"
หลังจากนั้นก็ทุ่มเทเวลาอ่านหนังสือ หาข้อมูลเยอะมาก และทิ้งความฝันที่อยากจะสอนหนังสือและทำผลงานเป็นศาสตราจารย์ สอบชิงทุนเพื่อไปออสเตรเลียเพื่อพาลูกไปผ่าตัด เพราะการได้ยินสำหรับวัยเด็กสำคัญที่สุดสำหรับพัฒนาการ เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ทำให้ชัชชาติยอมทิ้งทุกอย่างเพื่อลูก และเมื่อมองย้อนกลับไปก็คิดว่าเป็นเรื่องที่ดี เราเป็นตัวเราวันนี้ได้ เหตุการณ์วันนั้นก็มีส่วน ชีวิตเราโฟกัสมากขึ้น และพอ 24 ปีผ่านไปก็พบว่าไม่ได้น่ากลัวขนาดนั้น โลกนี้ยังมีเด็กที่บกพร่องทางการได้ยินอีกเยอะแยะ
"ชีวิตเราก็ไม่มีอะไร มีแต่ลูก อยากให้เขาพัฒนาการได้ยิน มีเพื่อน ใช้ชีวิตได้ตามปกติ"
ชัชชาติ ยังเล่าว่า ตั้งแต่มีลูก เขาก็หันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น เพราะไม่อยากเป็นภาระให้ลูกในอนาคต แค่เขาต้องดูแลตัวเองก็เหนื่อยแล้ว แล้วถ้าเราจะต้องเป็นภาระตอนแก่ก็ยิ่งลำบาก เราอยากอยู่ดูแลเขาไปนานๆ ก็ต้องออกกำลังกาย ดูแลตัวเอง
ถ้าให้นิยามตัวเอง ชัชชาติ หัวเราะก็บอกว่า ไม่ใช่พ่อตัวอย่างแน่นอน เป็นพ่อธรรมดาที่พยายามดูแลลูกให้ดีที่สุดตามแบบอย่างของตัวเอง และค่อนข้างตามใจลูก เพราะตัวเองไม่ค่อยมีเวลาก็เลยอยากชดเชยด้วยการที่ไม่ขัดใจ ลูกอยากได้อะไรก็ให้ เช่น ไม่ได้มีระเบียบวินัยมาก ซื้อเกมส์ให้ลูกเล่น เป็นต้น แต่เขาก็แบ่งเวลาได้ ไม่ได้เล่นเกมส์ตลอด ขณะเดียวกันเกมส์เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่พ่อลูกได้ใช้เวลาร่วมกันในอดีต อีกทั้งเกมส์ยังช่วยพัฒนาทักษะและกล้ามเนื้อมัดเล็กของแสนดี เพราะเขาก็เคยมีปัญหาเรื่องการขยับ สายตา การใช้ความคิดและการจดจ่อ
นอกจากนี้ก็ยังมีกิจกรรมที่ทำร่วมกันอีก เช่น ดูทีวี อ่านหนังสือ ออกกำลังกาย และวิ่ง ชัชชาติ เปิดเผยว่า สำหรับเขาครอบครัวสำคัญที่สุด ไม่มีอะไรสำคัญเท่าลูก เท่าครอบครัว เขาต้องพยายามหาเวลาที่จะได้คุยกับลูกทุกวัน เย็นก็ต้องหาเวลามาเจอกันบ้าง สอนการบ้านบ้าง เสาร์อาทิตย์มีเวลาก็ต้องพาไปเที่ยวด้วยกัน พยายามหากิจกรรมร่วมกัน สมัยก่อนก็วีดิโอคอลคุยกันทุกวันตอนลูกอยู่ต่างประเทศ เหมือนตอนที่ตัวเองไปเรียนต่อต่างประเทศ แม่ก็จะเขียนจดหมายมาทุกสัปดาห์ ตัวเองก็รอจดหมายของแม่
ชัชชาติ พูดด้วยน้ำเสียงประชดเล็กน้อยว่า แต่ตอนนี้เขาอาจจะไม่อยากคุยกับเราเท่าไร เพราะเป็นวัยรุ่นแล้ว เราก็เป็นห่วงก็พยายามถามเขา แต่ตอนนี้โทรไปไม่ค่อยรับสายเลย ถ้าเกิดไม่เดือดร้อนก็ไม่ค่อยรับสาย อยากจะอยู่กับเพื่อนมากกว่า
แต่เราก็พยายามหาความสนใจร่วม แล้วเอากิจกรรมนั้นๆ มาเป็นตัวเชื่อม เช่น ตอนนี้แสนดีเป็นวัยรุ่นเร่ิมสนใจเรื่องหุ่น ตอนเช้าก็จะชวนลูกมาวิ่งด้วยกันครึ่งชั่วโมงตั้งแต่ตีห้า เขาก็มาจอยกับตารางชีวิตเรา เสร็จแล้วก็แยกย้ายไปทำงาน แต่เราก็ต้องพยายามปรับตัว เพราะปกติวิ่งไกล ต้องตื่นมาวิ่งให้เร็วขึ้นตั้งแต่ตีสี่สัก 5-6 กิโลเมตร เสร็จแล้วก็มารับลูกไปวิ่งด้วยกันอีก 5-6 กิโลเมตร
ชัชชาติย้ำว่าต่อให้ภารกิจเยอะก็ต้องแบ่งเวลาให้ลูกและต้องเป็นเวลาที่มีค่า และคิดว่าการปรับตัวเองเข้าหาลูกง่ายกว่าการปรับลูก แต่สุดท้ายลูกก็ต้องไป ต้องมีวิถีชีวิตของตัวเอง ความทรงจำก็เป็นสิ่งที่ดีและทำให้คิดถึงกัน
เมื่อถามว่าทำไมถึงไม่ออกมาปกป้องลูกกรณีดราม่าที่แสนดีเคยโพสต์ถึงการโหวตนายกรัฐมนตรี? ชัชชาติตอบว่า เราต้องมีจุดยืน ถ้าเห็นว่าเขาทำอะไรไม่เหมาะสม เราก็ต้องพูดเลย เตือนตอนนี้ดีกว่าเตือนทีหลังจนเหตุการณ์บานปลาย ซึ่งตัวเองก็คิดว่าลูกเข้าใจสถานการณ์ ตอนนั้นตัวเองสอนลูกว่าคำพูดเป็นนายเรา พูดไปแล้วมันจะอยู่กับเราตลอดชีวิต ต้องคิดให้ดีก่อนพูด ชัชชาติย้ำว่าไม่ได้ดุ แต่พูดด้วยเหตุผล เพราะลูกก็โตแล้ว มีสิทธิที่จะพูด หรือแสดงความเห็นทางการเมือง เราก็เคารพในความเห็นของเขา แต่เผอิญเขาเป็นลูกชัชชาติ เลยเป็นที่สนใจในสาธารณชน
ชัชชาติย้ำว่าไม่เคยขอโทษแทนลูก ลูกต้องรับผิดชอบเอง เราขอโทษแทนเขาไม่ได้ และไม่มีประโยชน์ที่จะไปขอโทษ เขาต้องรู้สึกดัวยตัวเอง
ชัชชาติย้ำว่าคุณค่าหลักที่พ่อแม่สอนเรามา และตัวเองพยายามถ่ายทอดต่อให้ลูกคือ ความซื่อสัตย์ การพูดความจริง ความเห็นอกเห็นใจคนอื่น หรือ 'Empathy' คือ I feel how you feel. แต่ไม่ใช่ Sympathy หรือ I know how you feel. เพราะเชื่อว่าถ้าเขามี Empathy ก็จะอยู่ในสังคมได้ดีขึ้น เข้าใจจิตใจคนอื่นมากขึ้น จะพูดอะไรก็จะคิดก่อน ทั้งนี้พ่อแม่ต้องทำเป็นตัวอย่างให้ลูก อยากให้เขาเป็นยังไงก็ต้องทำตัวแบบนั้น
เมื่อถามถึงความคาดหวังในตัวลูกชายคนเดียว ชัชชาติ ตอบว่า คาดหวังอยากให้เขามีความสุข มีเพื่อน มีสังคม แต่เราก็ไม่ได้คาดหวังอะไรมาก
คนเราเป็นทุกข์เพราะไม่ได้ในสิ่งที่คาดหวัง ถ้าเราไม่อยากเป็นทุกข์ก็อย่าไปหวังอะไรมาก การปรับความคาดหวังเป็นส่ิงสำคัญ โดยเฉพาะสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ เมื่อก่อนคาดหวังว่าลูกต้องเป็นเด็กปกติ แล้วก็เกิดความทุกข์ เพราะมันไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง สุดท้ายก็ต้องปล่อยให้มันเป็นไปตามตัวของมันเองและทำให้ดีที่สุดในทุกขั้นตอน
"สำหรับผม เขามาถึงจุดนี้ได้ ผมก็ดีใจมากๆ แล้ว ตั้งแต่วันที่เรารู้ว่าเขาหูไม่ได้ยิน เขาพูดได้ เขาสื่อสารได้ เขาเขียนหนังสือได้ เขาเรียนจบปริญญาตรีได้ในโรงเรียนทั่วไป มันมาไกลกว่าที่เราคิดไว้ ร้อยเท่า พันเท่าแล้ว"
เมื่อยกตัวอย่างว่า "สมมติว่าพรุ่งนี้แสนดีเดินมาบอกว่าพ่อ เดี๋ยวจะบวชแล้วนะ บวชตลอดชีวิต"
ชัชชาติ หัวเราะแล้วตอบว่า "ได้เลย ถ้าเขามีความสุข ถ้าเขาเข้าใจจริงๆ นะ แต่ต้องถามหน่อยว่าเข้าใจดีหรือยัง ว่ามันมีเงื่อนไขอะไร เข้าใจไหมว่าสิ่งที่เลือกอยู่คืออะไร ถ้าเขาเข้าใจดี เราก็น่าจะไม่มีปัญหาอะไร ถ้าเขาไม่เข้าใจอาจจะต้องคุยกันหน่อยเพราะพ่อเองก็ยังไม่เคยบวชเลยเหมือนกัน" ชัชชาติพูดติดตลก
ทุกอย่างเป็นบทเรียนในชีวิตและทำให้เราเข้มแข็งได้ ไม่ว่าเหตุการณ์มันจะเป็นยังไงในชีวิต เราทำให้เป็นสิ่งที่ดีที่สุดได้ แต่ต้องมีความมุ่งมั่นตั้งใจ เพราะไม่มีใครมาช่วยเราได้นอกจากตัวเราเอง I am the master of my face, I am the captian of my soul.
ชัชชาติ กล่าวย้ำว่า อย่าเอาตัวเองมาเป็นตัวอย่างเลย แต่ละคนก็มีปัญหาของตัวเองทั้งนั้น ชีวิตเหมือนดนตรีแจ๊ส ต้องด้นไปเรื่อยๆ มันไม่มีโน้ตให้เราเล่นหรอกว่าพ่อที่ดี แม่ที่ดีเป็นยังไง
ชัชชาติ ยอมรับว่า มีเหนื่อยบ้างกับการเลี้ยงลูก คิดว่า "ทำไมมันเป็นอย่างนี้" ด้วยความเป็นห่วง แต่ในมุมกลับกันลูกก็คงเหนื่อยกับเราเหมือนกัน ก็ต้องค่อยๆ ปรับเข้าหากัน
เหตุการณ์ที่สร้างประทับใจให้ตัวชัชชาติ คือ แสนดีเริ่มพูดได้ และพูดไม่หยุด หลังจากผ่าตัดมาเกือบ 7 เดือน เพราะปกติเด็กที่ไม่ได้ยินจะพูดไม่ได้ เช่นเดียวกันวันที่เดินได้วันแรกในวัยสองขวบกว่า มันทำเราก็ประทับใจว่าเราสามารถทำให้เขาพูดได้ แม้จะใช้เวลาสอนนานมาก ทุกวัน แต่ก็กลัวว่าการตัดสินใจผ่าตัดจะเป็นการพาลูกมาผิดทาง แต่สุดท้ายก็ทำให้เราเห็นว่าความพยายามมันเปลี่ยนชีวิตได้จริงๆ ถ้าเราตั้งใจทำจริงๆ มันก็ทำสำเร็จได้
"ลูกสำหรับเราก็เหมือนเด็กตลอด ที่เราก็ต้องเป็นห่วงเขาตลอด ก็ทำใจไว้แล้วว่าสุดท้ายเขาก็คงต้องมีชีวิตเป็นของตัวเอง เราก็แค่คอยประคองเขา แล้วก็หวังว่าเขาจะมีเพื่อน มีความสุข มีครอบครัวต่อไปในอนาคต"
รับชมเพิ่มเติม:
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เปิดผลงาน ชัชชาติ ผู้ว่ากทมฯ 1 ปี พลิกชีวิตเมืองหลวง นโยบาย 9 ด้าน 9 ดี 216 นโยบาย
ย้อนดู “การหาเสียงแบบรักษ์เมือง” ของชัชชาติ ตามเทรนด์รักษ์โลก-สิ่งแวดล้อม
ชัชชาติ พ่อผู้ไม่ยอมแพ้เพื่อลูก "แสนดี" จากผู้พิการการได้ยินสู่บัณฑิตใหม่
แสนปิติ โพสต์ขอโทษแล้ว หลังวิจารณ์ก้าวไกล จนโดนทัวร์ด้อมส้มถล่ม