svasdssvasds

จาก “วุฒิเก๊” ถึง “บัตรปลอม” : ศักดิ์ศรีทางสังคมที่ใช้ภาษีประชาชนเป็นคนจ่าย

วุฒิการศึกษาเก๊ เป็นปัญหาในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน จากการดันตัวเองด้วยคุณวุฒิทางการศึกษา ลามไปถึงการแอบอ้างซื้อขายตำแหน่งทางการเมือง เพื่อหน้าตาทางสังคม

SHORT CUT

  • ปัญหา "วุฒิการศึกษาปลอม" มีในสังคมไทยมายาวนาน หนึ่งปัจจัยคือกฎหมายบังคับให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือผู้ช่วย ต้องมีวุฒิการศึกษาระดับปริญญา
  • หลายคนใช้ทางลัดที่ผิดกฎหมายในการใช้วุฒิการศึกษาปลอม และเข้าหาตำแหน่งทางการเมืองเพื่อเสริมบารมี
  • งบประมาณแผ่นดินส่วนหนึ่งอาจจะกำลังใช้เป็นค่าตอบแทนให้กลุ่มคนที่ฉวยโอกาสเหล่านี้ด้วย

วุฒิการศึกษาเก๊ เป็นปัญหาในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน จากการดันตัวเองด้วยคุณวุฒิทางการศึกษา ลามไปถึงการแอบอ้างซื้อขายตำแหน่งทางการเมือง เพื่อหน้าตาทางสังคม

วุฒิการศึกษาปลอม เป็นปัญหาที่คนไทยเห็นในข่าวกันโดยตลอด ข่าวใหญ่หน่อยก็เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา กับการตรวจสอบวุฒิด็อกเตอร์ของรัฐมนตรีท่านหนึ่ง ที่มีวุฒิปริญญาเอกจากต่างประเทศจากสถาบันที่ไม่คุ้นหน้า เกิดวิวาทะมากมาย จนถึงประวัติว่าที่ สว.ชุดใหม่รายหนึ่ง ที่พบว่าจบด็อกเตอร์มาจากสถาบันเดียวกันกับรัฐมนตรีท่านดังกล่าวด้วย

 

ปัญหาวุฒิการศึกษาปลอม เป็นปัญหาที่มีมานานในสังคมไทย ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ อดีตนักการเมืองให้ความเห็นไว้เมื่อปี 2550 หลังในช่วงนั้นพบว่า มีสถานศึกษาในไทยกว่า 200 แห่งที่เกี่ยวข้องกับการออกวุฒิปลอม โดย ดร.เกรียงศักดิ์ ระบุว่า เรื่องนี้เกิดจากช่องว่างการออกวุฒิการศึกษา โดยเฉพาะในสถาบันเอกชน และมักเกิดกับกลุ่มนักการเมือง เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้องมีวุฒิปริญญาตรีขึ้นไป 

 

นอกจากการนำไปประกอบคุณสมบัติเป็นนักการเมืองแล้ว พบว่าส่วนหนึ่งต้องการนำไปประกอบประวัติเพื่อเข้าสภาฯ รับตำแหน่งผู้ติดตาม สส.หรือ สว. คณะทำงานในคณะกรรมาธิการ หรือคณะทำงานของรัฐมนตรี รองประธานสภา หรือคนในคณะรัฐมนตรี เพื่อสร้างโปรไฟล์ให้ตัวเอง

 

กลุ่มคนเหล่านี้ จะมีบัตรประจำตัวเพื่อใช้เข้าออกสถานที่ราชการที่จำกัดเฉพาะบุคคลที่เกี่ยวข้อง เช่น รัฐสภา หรือ ทำเนียบรัฐบาล หรือบางคนมีป้ายชื่อ มีเสื้อปักชื่อคณะทำงาน แขวนไว้ในรถเหมือนยันต์ป้องกันภัย หากพลาดพลั้งทำอะไรผิด เหมือนเป็นการ์ดนางฟ้า ผ่อนหนักเป็นเบาได้

 

ข้อมูลตามระเบียบรัฐสภาว่าด้วยการแต่งตั้งบุคคลเพื่อปฏิบัติหน้าที่อันจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของรัฐสภา ปี พ.ศ.2554 พบว่า สส. และ สว. สามารถแต่งตั้งบุคคลเป็นคณะทำงานได้ 8 ตำแหน่ง ต้องมีวุฒิการศึกษาปริญญาตรีขึ้นไป รวมทั้งรัฐสภาอาจมีจำนวนสูงสุดได้กว่า 5,600 คน โดยตำแหน่งผู้ช่วยและผู้ชำนาญการได้เงินเดือนคนละ 15,000 บาท และผู้เชี่ยวชาญได้เงินเดือน 24,000 บาท หากคำนวณตัวเลขที่ต้องจ่ายสูงสุดต่อสมาชิกรัฐสภา 700 คน รวมกว่า 90 ล้านบาทต่อเดือน

นอกจากนี้ ในสภายังมีคณะกรรมาธิการสามัญอีก 35 คณะ ที่เปิดให้คนนอกที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ได้นั่งเป็นที่ปรึกษา ผู้ชำนาญการ นักวิชาการ และเลขานุการของคณะกรรมาธิการอีก โดยจำนวนไม่เกินงบประมาณประจำปีของคณะกรรมาธิการ โดยต้องมีคุณสมบัติการศึกษาตามเกณฑ์ เช่น ที่ปรึกษา ผู้ชำนาญการ และนักวิชาการของกรรมาธิการ จะต้องจบการศึกษาอย่างต่ำคือปริญญาโท และที่มาจากมติคณะกรรมาธิการโดยการรับรองของประธานเท่านั้น จึงอาจจะมีช่องโหว่ในกระบวนการนี้

 

ตอนนี้หลายฝ่ายเริ่มจับตาความโปร่งใส เกี่ยวกับการตั้งคณะทำงานฝั่งการเมืองมากขึ้น เพราะนอกจากฐานะทางสังคมที่ได้รับจนคนบางกลุ่มใช้เป็นช่องว่างในการหาประโยชน์แล้ว พวกเขายังทำงานโดยได้รับค่าตอบแทนที่มาจากเงินภาษีของคนไทยทุกคนด้วย