รู้จัก "ระบบตรวจสอบย้อนกลับ" พัฒนาโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ เพื่อหยุดยั้งฝุ่นควันข้ามพรมแดน ประกาศชัด ไม่รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเพื่อนบ้านหากพบว่ามีการเผา-บุกรุกป่า
ปัญหา PM 2.5 ใกล้เข้ามาแล้ว โดยเฉพาะฝุ่นควันข้ามพรมแดน Keep The World จึงพาบินลัดฟ้าไปยังนครย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา หรือ พม่า
เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือเครือซีพี ได้เปิดตัวเทคโนโลยีตัวหนึ่งที่ชื่อว่า ระบบตรวจสอบย้อนกลับ ให้พี่น้องเกษตรกรชาวเมียนมาที่มีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ส่งขายให้กับซีพีกรุ๊ป ซึ่งจะช่วยตรวจสอบว่ามีการเผาพื้นที่ทางการเกษตรอันเป็นต้นเหตุให้เกิดฝุ่นควันข้ามพรมแดนหรือไม่
การเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แบบไม่ยั่งยืน การบุกรุกป่า และการเผาตอซังข้าวโพดฯ เป็นหนึ่งในสาเหตุของการเกิดฝุ่น PM2.5 โดยเฉพาะในภาคเหนือของไทย เพราะในช่วงเกิดฝุ่นหนัก ๆ จากการตรวจสอบจุดความร้อน ก็พบว่ามีจุดความร้อนจำนวนมากในประเทศเพื่อนบ้านของเราด้วย ซึ่งการเผาพื้นที่ทางการเกษตรเหล่านั้นทำให้เกิดฝุ่นควันข้ามพรมแดนมายังประเทศไทยด้วยนั่นเอง
เมื่อเรารู้แล้วว่า ต้นเหตุส่วนหนึ่งของฝุ่นควันมาจากการทำการเกษตรไม่ยั่งยืนดังที่กล่าวไป ด้วยเหตุนี้ ซีพี จับมือกับเจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส (CPP) กรุงเทพโปรดิ๊วส (BKP) ร่วมกับ สมาคมอุตสาหกรรมข้าวโพดเมียนมา หรือ MCIA ในการนำระบบตรวจสอบย้อนกลับมาใช้กับเกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ชาวเมียนมาที่ซีพีเป็นผู้รับซื้อ
และเพื่อเป็นการเด็ดขาดกับเกษตรกรที่มีการเผาพื้นที่ทางการเกษตร ซีพีจึงประกาศไม่รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเกษตรกรที่มีการบุกรุกป่าและเผาพื้นที่ทางการเกษตรค่ะ
และเพื่อให้มั่นใจว่าเกษตรกรจะไม่แอบเผาลับหลัง หรือมีการโกหก ซีพีจึงได้นำเทคโนโลยีที่ชื่อว่า ระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability System) ที่บริษัทได้พัฒนาขึ้นเองมาตั้งแต่ปี 2023 มาใช้ ซึ่งประกอบไปด้วยเทคโนโลยี Blockchain โดยระบบนี้จะทำหน้าที่ตรวจสอบแหล่งที่มาของข้าวโพด
เกษตรกรที่จะซื้อขายกับซีพีจะต้องมาลงทะเบียน และบอกพิกัดไร่ข้าวโพดของตนเอง เพื่อให้ดาวเทียมจับร่างเป็นภาพไร่ข้าวโพดขึ้นมาเป็นข้อมูลแบบแผนที่และมันก็จะทำหน้าที่เหมือนกล้องวงจรปิด ที่เราจะตรวจจับหาจุดความร้อนในไร่ข้าวโพดเหล่านี้ว่าแอบเผาหรือเปล่า สามารถตรวจสอบได้ตั้งแต่ช่วงเริ่มปลูกไปจนถึงการเก็บเกี่ยวส่งออก
นอกจากตรวจหาจุดความร้อนแล้ว เรายังสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ด้วยว่าพื้นที่ปลูกที่มาลงทะเบียนมีได้มาด้วยการบุกรุกพื้นที่ป่าหรือไม่ ตามกฎหมายห้ามทำลายป่าตามมาตรฐานของสหภาพยุโรป (EUDR-EU Deforestation free Regulation) ที่เราต้องย้อนกลับไปดูว่า ในปี 2020 พื้นที่ปลูกดังกล่าวที่ชาวบ้านนำมาลงทะเบียน เป็นพื้นที่ป่าสมบูรณ์หรือไม่ ไม่ใช่พื้นที่ทำการเกษตรเดิม ซึ่งถ้าตั้งแต่ 2021 เป็นต้นไปเป็นพื้นที่ทำเกษตรอยู่แล้ว ไม่ผิดก็ลงทะเบียนได้เลย แต่ถ้าปี 2021 ยังพบว่ามีสภาพเป็นพื้นที่ป่า ซีพีก็จะปฏิเสธไม่ทำการค้าขายกับเกษตรกรรายนั้นนั่นเอง
ซึ่งกระบวนการนี้เป็นการยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศในการแก้ปัญหาฝุ่นควันข้ามพรมแดน และสิ่งนี้ก็มีเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของภาคเอกชนด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม ระบบนี้จะช่วยเราลดฝุ่นควันข้ามพรมแดนจากประเทศเมียนมาลงได้ 10% เท่านั้น เพราะ 10% ที่ว่านี้คือ นี่ก็เป็นช่วงแรกเริ่มของการขับเคลื่อนโครงการนี้ของซีพีพ ยังมีอะไรต้องปรับตัวอีกเยอะจากทุกฝ่าย อีกทั้งกลุ่ม ประเทศเมียนมายังมีพืชผลอื่น ๆ ที่มีการเผาอยู่ รวมถึงเกษตรกรนอกระบบด้วย แต่ซีพีมั่นใจว่าในอนาคตต้องทำได้มากกว่านี้แน่นอน
นอกจากนี้ เป้าหมายที่เด่นชัดที่ซีพี คือความโปร่งใส การรับผิดชอบของภาคเอกชนและการสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับอุตสาหกรรมเกษตร ให้มีความยั่งยืนและส่งเสริมความเชื่อมั่นทางการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งระบบนี้ทางซีพีก็ได้ใช้กับเกษตรกรไทยด้วยแน่นอนอยู่แล้ว 100% ซึ่งก็ได้เริ่มพัฒนาระบบมาตั้งแต่ปี 2559