กฟผ. มุ่งหน้าพัฒนาโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด Keep The World ชวนเจาะความสำเร็จด้านพลังงานสะอาดของ กฟผ. ความสำเร็จที่นำไทยสู่การใช้พลังงานสะอาดยั่งยืน
เพื่อทำให้โลกของเราไม่ร้อนไปมากกว่านี้ มนุษย์จึงหันไปหาพลังงานสะอาดจากธรรมชาติมากขึ้น เช่น จากแสงอาทิตย์ สายลม สายน้ำ ความร้อนและชีวมวล แล้วพลังงานสะอาดของไทยเราก้าวหน้าไปถึงไหนแล้ว
Keep The World ชวนดูความสำเร็จของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ในการเดินหน้านำประเทศสู่การใช้พลังงานสะอาดเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ตามแผนงาน โครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดของ กฟผ. จะมีมากถึง 16 โครงการทั่วไทยสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 2,725 เมกะวัตต์ จากความสำเร็จของโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดแห่งแรกที่เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 45 เมกะวัตต์ แม้จะไม่มากเมื่อเทียบกับการผลิตไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิล แต่ก็เป็นพลังงานสะอาด หมุนเวียนให้ใช้ได้ไม่มีวันหมด และช่วยลดโลกร้อน
ปัญหาโลกร้อนที่กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการใช้พลังงานของเราในแต่ละวันด้วย ที่ยิ่งเราใช้ไฟมากเท่าไหร่ เรายิ่งทำให้โลกร้อนขึ้นเท่านั้น และที่สำคัญเลย เราอยู่ในประเทศไทย อากาศร้อน ๆ แบบนี้เข้าใจเลยว่าใครๆก็จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้า
ในภาคของพลังงาน ไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเริ่มถูก ตั้งคำถามมากขึ้น เพราะถึงแม้จะเหมาะสมในการนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า แต่ก็ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้โลกของเราร้อนขึ้น
นี่คือแอนิเมชันจำลองจากองค์การนาซา ที่แสดงให้เห็นว่า กลุ่มควันสีน้ำตาลเหล่านี้ คือการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลในปี 2021 ตลอด 1 ปีเต็ม ๆ
นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่เราต้องช่วยกันลดการผลิตพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ด้วยการมองหาพลังงานทดแทนที่สะอาดกว่าและไม่ทำร้ายโลก
โซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ประเทศไทยเรากำลังมุ่งหน้าไป ที่นำโดย กฟผ. โดยใช้พื้นที่ในอ่างเก็บน้ำให้เกิดประโยชน์โดยการนำแผงโซลาร์เซลล์มาวางไว้บนผิวน้ำ ซึ่งติดตั้งที่เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานีแห่งนี้ เป็นโซลาร์เซลล์ลอยน้ำแห่งแรกของไทย
ซึ่งถือเป็นต้นแบบของพลังงานสะอาดแบบผสมผสานระหว่างพลังงานแสงอาทิตย์ ทำงานร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำของ กฟผ. ที่มีอยู่เดิม เป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ข้อดีของโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ คือ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานที่สะอาดไม่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การผลิตไฟฟ้าของโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธรจึงช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 47,000 ตันต่อปี อีกทั้งยังช่วยลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศได้มากถึง 730.62 พันล้านบีทียูต่อปีอีกด้วย ลดการปล่อยมลพิษจากการขนส่งเชื้อเพลิงได้อีก วัสดุตั้งแต่แผงโซลาร์เซลล์จนถึงทุ่นลอยน้ำใช้วัสดุที่มีความแข็งแรงและเป็นมิตรต่อโลก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เขื่อนวชิราลงกรณ บทบาทแห่งการเกื้อกูลชุมชน สิ่งแวดล้อม สู่ความยั่งยืน
โซลาร์เซลล์ลอยน้ำ มาแรงในสหรัฐ แต่โซลาร์ลอยน้ำใหญ่ที่สุดในโลก อยู่ที่ไทย
เท่านั้นไม่พอ โซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด ณ เขื่อนสิรินธรแห่งนี้ ยังได้สร้างรายได้ให้กับชุมชนในบริเวณโดยรอบได้ด้วย เนื่องจาก กฟผ. เปิดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวสามารถมาเที่ยวได้
มีการจ้างงานผู้คนในชุมชนโดยรอบให้เข้ามาทำงานในบริเวณเขื่อนได้ ตั้งแต่เริ่มงานก่อสร้าง เช่น จ้างเจ็ตสกีชุมชนปกติไว้ใช้รับส่งนักท่องเที่ยว ให้มาช่วยลากแพโซลาร์เซลล์ออกไปติดตั้งด้วย
การจ้างงานเรือหางยาวรับส่งคนงาน การจ้างแพท่องเที่ยวแบบมีหลังคาให้คนงานได้พักกลางน้ำ ช่วยชุมชนมีรายได้ในช่วงโควิดระบาดได้ 30 กว่าล้านบาท
และที่สำคัญ อันนี้เราสามารถเข้าไปเที่ยวได้ด้วย นั่นคือ Nature Walkway เส้นทางเดินชมธรรมชาติที่สามารถชมโซลาร์ลอยน้ำไฮบริดที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้จากบนทางเดิน ซึ่งได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ในภาคอีสาน ควบคู่ไปกับการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว
ความสำเร็จที่มากกว่านั้น โซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี ได้นำไปสู่โซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดแห่งใหม่ ณ เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่นแล้วในวันนี้ ที่ใช้นวัตกรรมเดียวกันเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานหมุนเวียนของประเทศให้แข็งแกร่งมากขึ้น
นอกจากนี้ ระบบไฮบริดที่พัฒนานี้จะทำให้โซลาร์เซลล์เสถียรมากขึ้นด้วย ด้วยความสามารถในการกักเก็บพลังงาน โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ผลิตไฟฟ้าในตอนกลางวัน , พลังน้ำผลิตไฟฟ้าในตอนกลางคืนหรือช่วงที่แสงเข้มไม่เพียงพอ เพียงพอ
ระบบกักเก็บพลังงานแบบแบตเตอรี่ BESS (Battery Energy Storage System) เพื่อกักเก็บสะสมพลังงาน และนำมาใช้ในช่วงที่มีการเปลี่ยนแหล่งพลังงานจากโซลาร์เซลล์เป็นพลังน้ำ หรือจากพลังน้ำเป็นโซลาร์เซลล์ ทำให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงาน หมุนเวียนมีความเสถียรมากขึ้น
นี่คือ การผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ที่ในอนาคตจะดำเนินการโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดในทุกเขื่อนของ กฟผ. เพื่อหนุนให้ไทยเดินหน้าสู่สังคมปลอดคาร์บอนได้ตามเป้าหมายของรัฐบาล แต่ที่สำคัญ สังคมปลอดคาร์บอนจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจจากทุกฝ่าย เราในฐานะประชาชนต้องช่วยกันโลกร้อนด้วยมือของเราด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง