งานวิจัย หรือนวัตกรรมบางชิ้นต้องขึ้นหิ้ง ขาดการพัฒนาต่อยอดให้ตอบโจทย์ เอกชนเองบางครั้งมีไอเดีย ถึงขนาดมี Prototype แต่ก็ไม่สามารถไปต่อได้ เพราะยังขาดกลไกการวิจัยศึกษาให้ลึกเพื่อตอบโจทย์
ประเทศสหรัฐอเมริกามีซิลิคอนวัลเลย์ เป็นเมืองแห่งเทคโนโลยี ที่ประเทศจีนมีเมืองเซินเจิ้น ซึ่งถูกพัฒนาและตั้งเป้าให้เป็นพื้นที่แห่งนวัตกรรม และประเทศไทยเรามีหรือเปล่าพื้นที่นวัตกรรม คำตอบคือมี และกำลังจะเปิดตัวปลายปี 2022 นี้ เมืองแห่งนวัตกรรม ศูนย์รวมบริษัทเทคโนโลยี นักลงทุน การศึกษา และสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อเชื่อมโยงงานวิจัยสู่นวัตกรรม บนพื้นที่กว่า 3,000 ไร่ ตั้งอยู่ที่วังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง ที่มีชื่อว่า เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก EECi เมืองนวัตกรรมที่จะผลักดันขับเคลื่อนให้ประไทยสู่เศรษฐกิจแห่งอนาคต
การที่จะเกิดนวัตกรรมขึ้นได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีพื้นที่ เครื่องมือ บุคลากรเพื่อรองรับการวิจัยพัฒนา หรือเรียกว่า ‘ย่านนวัตกรรม’ พื้นที่ที่จะทำให้เกิดนวัตกรรม หรือใช้นวัตกรรมแบบเข้มข้น มี นวัตกร ร่วมสร้างสรรค์ พัฒนา วิจัย ให้เกิดสิ่งใหม่ที่ตรงตามความต้องการของผู้คน ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ มีการจัดสรรทรัพยากร รวมถึงการรวมกลุ่มแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เพื่อก่อให้เกิดคุณค่าต่อผู้คน สังคม และประเทศชาติได้
"ย่านนวัตกรรม" เป็นแนวคิดการวางแผน รวมทั้งการออกแบบพื้นที่บนหลักการของการพัฒนาโครงสร้างเมืองเพื่อให้ดึงดูดกลุ่มผู้ประกอบการในธุรกิจนวัตกรรม ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เครื่องมือ บุคลากร ที่เอื้อต่อระบบนิเวศนวัตกรรม (Innovation Ecosystem)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
น่าจะคุ้นหูกันดีกับ EEC หรือ เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก ที่เป็นการพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัดในภาคตะวันออกคือ จังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง และจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่เป็นหนึ่งในโครงการระดับเมกะโปรเจกต์ภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรวม 1.5 ล้านล้านบาท ที่จะมีทั้งรถไฟความเร็วสูง, รถไฟรางคู่, สนามบิน และท่าเรือ เพื่อเชื่อมต่อการเดินทาง และยกระดับอุตสาหกรรมเมืองไทย
ซึ่ง 1 ใน 3 จังหวัดนี้จะมีอยู่พื้นที่หนึ่งที่ถูกยกให้เป็นเมืองแห่งนวัตกรรม โดยใช้ชื่อว่า EECi หรือ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation) ซึ่งตั้งอยู่ในวังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง ซึ่ง EECi สร้างขึ้นเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม ทุกภาคส่วนของประเทศ เพื่อรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจตามนโยบายประเทศไทย 4.0 และรองรับการขยายผลงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ และการปรับปรุงเทคโนโลยีจากต่างประเทศให้มีความเหมาะสมกับการใช้งานในประเทศไทย
ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กำกับและดูแลเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) กล่าวว่า EECi เมืองนวัตกรรมแห่งใหม่นี้ จะพาไทยสู่เศรษฐกิจแห่งอนาคตได้อย่างแน่นอน
EECi มีเนื้อที่โดยรวมประมาณ 3,000 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ของโรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) สถาบันวิทยสิริเมธีย์ (VISTEC) และโครงการปลูกป่าวังจันทร์รวมกันประมาณ 1,000 ไร่ และพื้นที่รอการพัฒนาร่วมกันระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมและบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ประมาณ 2,000 ไร่ สำหรับที่แห่งนี้ จะมุ่งเน้นที่อุตสาหกรรม 2 ประเภท คือ 1. ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ (ARIPOLIS) และ 2. อุตสาหกรรมชีวภาพ (BIOPOLIS)
มีการวางแผนออกแบบให้มีโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของประเทศ ที่พร้อมรองรับกิจกรรมวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมของทุกภาคส่วนในพื้นที่ EECi ได้แก่ พื้นที่รองรับการดำเนินกิจกรรมวิจัยพัฒนาของภาคเอกชน ศูนย์พัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้น (Startups and Innovation Center) แหล่งรวมศูนย์วิเคราะห์ทดสอบและโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพของประเทศ (National Quality Infrastructure) รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อขยายผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ (Translational Research Infrastructure) เช่น โรงงานต้นแบบ (Pilot Plant) โรงงานสาธิต (Demonstration Plant) และพื้นที่ทดลองผลิตและพื้นที่ทดสอบตลาด (Living Lab) เป็นต้น นอกจากนี้ ในบริเวณพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ยังมีพื้นที่พักอาศัย สถานที่พบปะสังสรรค์ สถานที่ออกกำลังกาย พื้นที่สีเขียวยั่งยืน โรงแรม และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมถึงโรงเรียนนานาชาติ/โรงเรียนสองภาษา เพื่อรองรับนวัตกร ผู้เชี่ยวชาญไทยและต่างประเทศ เอกชน ตลอดจนกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ เพื่อให้เป็นพื้นที่เพื่อการพัฒนานวัตกรรมของประเทศไทย