ทางม้าลายสัญลักษณ์จราจรที่ไม่เคยศักดิ์สิทธิ์ เมื่อคนข้ามไม่ได้ข้ามเพราะคนขับไม่ยอมจอด หรือการถวายม้าลายตามแยกจะช่วยลดปัญหาและอุบัติเหตุได้
สัญลักษณ์การจราจรที่ไม่เคยศักดิ์สิทธิ์ต้องยกให้ทางม้าลาย และอาจหมดความสำคัญลงในที่สุด เนื่องจากคนข้ามไม่ได้ข้าม เพราะคนขับก็มีเหตุผลที่จะไม่จอด ฝ่ายคนข้ามต้องยืนรอให้รถน้อย หรือรอจนกว่าจะมีคนขับใจดีหยุดรถให้ข้าม ด้านคนขับก็ไม่กล้าจอดเพราะกลัวรถคันหลังที่ตามมาจะชนท้าย ซ้ำร้ายไปกว่านั้น จากข่าวการเกิดอุบัติบนทางม้าลายที่มีให้เห็นกันอยู่บ่อย ๆ
ตกลงแล้ว คนต้องดูรถ หรือรถควรดูคน ความเข้าใจที่ไม่ตรงกันระหว่างคนข้ามและคนขับ มีสาเหตุมาจากความไม่รู้ในข้อควรปฏิบัติเมื่อต้องใช้ “ทางม้าลาย” ร่วมกันหรือเปล่า
ทางม้าลาย เป็นเครื่องหมายจราจรประเภทบังคับใช้ คือต้องปฏิบัติตามไม่เช่นนั้นถือว่าผิดกฎหมาย มีโทษปรับและโทษทางอาญา ความหมายตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก ทางม้าลายคือพื้นที่สำหรับให้คนข้าม มีลักษณะเป็นแทบสีขาวหลาย ๆ แถบขวางทางเดินรถ หรือเป็นเส้นทึบสีขาวสองเส้นขนานกันขวางทางเดิน และมีเส้นแนวหยุดรถ หรือเส้นให้ทาง ผู้ขับขี่ต้องขับรถให้ช้าลง และพร้อมที่จะหยุดรถให้ทัน เมื่อมีคนเดินข้ามทางม้าลาย กรณีไม่มีเจ้าหน้าที่ หรือสัญญาณควบคุม รถต้องหยุดให้คนมีสิทธิ์เดินข้ามไปก่อน โดยผู้ขับขี่ต้องหยุดรถก่อนถึง เส้นแนวหยุด เมื่อคนเดินข้ามไปแล้วจึงค่อยเคลื่อนรถต่อไปได้
คนขับต้องปฏิบัติ
คนข้ามต้องรู้
คนเดินเท้าที่ต้องการจะข้ามทางม้าลายที่มีไฟสัญญาณจราจร ต้องปฏิบัติตามสัญญาณไฟอย่างเคร่งครัด
- สัญญาณไฟสีแดง ไม่ว่าจะเป็นรูปหรือข้อความ ห้ามข้าม ! ต้องหยุดรอบนทางเท้า
- สัญญาณ ไฟสีเขียว ไม่ว่าจะเป็นรูปหรือข้อความ เป็นการอนุญาตให้ข้ามได้
- สัญญาณไฟสีเขียวกระพริบ เป็นสัญญาณเตือนว่าคนที่ยังไม่ได้ข้าม ต้องหยุดรอบนทางเท้า แต่คนที่กำลังข้ามอยู่ บน. ทางม้าลายควรรีบข้ามให้พ้นทางโดยเร็ว
ตามที่เข้าใจกันว่าสัญลักษณ์ทางม้าลายคือ แถบสีขาวสลับสีดำ ซึ่งที่จริงสัญลักษณ์ทางข้ามนี้ มีลักษณะเป็นแถบสีขาวอยู่บนพื้นถนน แต่ด้วยปกติส่วนใหญ่พื้นถนนจะมีลักษณะสีค่อนไปทางสีดำ เมื่อมองดูจึงเห็นเป็นสีขาวสลับสีดำ จนอาจเป็นที่มาของคำว่า “ทางม้าลาย”
“รูปปั้นม้าลาย” ความศักดิ์สิทธิ์ช่วยแคล้วคลาดปลอดภัย
ศาสตราจารย์ศรีศักดิ์ วัลลิโคดม นักโบราณคดี กล่าวไว้ว่า ความเชื่อเรื่องตุ๊กตาปูนปั้นม้าลายมีความเกี่ยวข้องกับปรากฏการการสร้างถนนในสมัยแรกเริ่ม เนื่องจากเมื่อมีการพัฒนาเมืองสร้างถนนขยายเส้นทางเดินรถเพิ่มเติมขึ้นเรื่อย ๆ จากการมีสัญญาณไฟเขียว ไฟแดง ก็มีทางม้าลายตามมา สำหรับใช้เป็นพื้นที่ให้คนข้ามถนน แต่สิ่งที่ตามมาติด ๆ คือความไม่มั่นคงของชีวิต ในการใช้ถนน คือขณะกำลังข้ามถนนอาจจะเกิดอุบัติเหตุขึ้นเมื่อไรก็ได้ จนอาจกลายมาเป็นที่มาของตุ๊กตาปูนปั้นม้าลาย
จะเห็นได้จากเมื่อมีศาลสิ่งศักดิ์สิทธิ์บริเวณริมถนน ก็มักจะเห็นมีการนำรูปปั้นม้าลายมาวางถวายกันอยู่หลาย ๆ ที่ อย่างที่ศาลม้าลายคลองหลวง แยกสันติสุข ถนนติวานนท์ ซึ่งมีอีกชื่อเรียกว่าแยกร้อยศพ เพราะมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้ง , โค้งศาลอาญารัชดา ก็ได้ชื่อว่าเป็นโค้งร้อยศพเช่นกัน และที่ศาลตายายที่อิมแพคเมืองทองธานีก็เป็นอีกหนึ่งแห่งที่มีปูนปั้นม้าลายอยู่มากมายหลายแบบหลายขนาด จากผู้คนที่นำไปแก้บนที่ช่วยให้ประสบความสำร็จตามคำขอ แต่ละศาลสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็มีที่มาของการนำม้าลายไปถวายที่แตกต่างกัน แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ บริเวณถนนที่มักมีการถวายม้าลายจะเป็นที่ซึ่งมีการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้ง แต่แนวความคิดความเชื่อส่วนบุคคลก็แตกต่างกันไป บ้างก็นำมาแก้บน บ้างก็เชื่อว่าหากนำรูปปั้นม้าลายไปถวายจะทำให้แคล้วคลาดปลอดภัยจากอุบัติเหตุการใช้รถใช้ถนน เพราะม้าลายเป็นสัญลักษณ์จราจรที่แสดงถึงพื้นที่ของความปลอดภัยบนท้องถนน
การที่ริมถนนมีศาลลักษณะนี้ ก็ถือว่าเป็นนัยยะที่ช่วยเตือนผู้ใช้รถใช้ถนนในบริเวณนั้น ๆ ให้มีสติ ระมัดระวังเป็นพิเศษ แต่หากเชื่อว่าการนำม้าลายมาถวายแล้วจะแคล้วคลาดจากอุบัติเหตุ และยังคงขับขี่ ใช้รถใช้ถนนด้วยความประมาท ไม่ว่าจะบนบานศาลกล่าวด้วยรูปปั้นม้าลาย หรือรูปปั้นอะไรก็ตามแต่ ก็คงไม่ช่วยให้รอดจากอุบัติเหตุไปได้
ติดตามการสะท้อนมุมมองการใช้ทางม้าลายว "เกิดจากการสร้างไม่ดี หรือใช้ผิดวิธีกันแน่" ในรายการอยากเห็นเมืองไทยดีกว่านี้ วันอาทิตย์ที่ 22 พฤศจิกายนนี้ เวลา 17.30 น. ทางเนชั่นทีวี ช่อง 22 รายการเล็ก ๆ ที่มีเจตนาถามหาแนวทางการแก้ปัญหาของคนไทยทุกคน