เมื่อเอ่ยถึงประเทศ “นิวซีแลนด์” ภาพลักษณ์ของประเทศที่สวยงามและเงียบสงบมักโดดเด่นจนทำให้ชาวไทยหลายๆ คน อาจมองข้ามถึงเสน่ห์ในอีกหลายๆ ด้านที่ซ่อนอยู่ของชนชาตินี้ไป ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพของอาหารหลายๆ ประเภทที่มีต้นกำเนิดจากนิวซีแลนด์แท้ ๆ ซึ่งมีรสชาติไม่แพ้ใครในโลก อาทิ เนื้อแกะ เนื้อวัว ปลาแซลมอน ระดับพรีเมียม ตลอดจนการเดินทางท่องเที่ยวไปยังแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติยอดนิยมในหลายพื้นที่ของนิวซีแลนด์อย่างไร่องุ่นหลายๆ แห่งที่มีความอุดมสมบูรณ์และรังสรรค์ผลิตภัณฑ์ไวน์คุณภาพมาตรฐานระดับเวิล์ดคลาสได้ไม่แพ้ชาติในยุโรป
มร.บิลลี่ บริกแฮม ไวน์ แอมบาสซาเดอร์ บริษัท เพอร์นอต ริคาร์ด (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า หลายคนอาจจะคุ้นชินว่า ไวน์แดงต้องจับคู่กับเนื้อ ไวน์ขาวต้องจับคู่กับปลา ซึ่งจริงๆก็ไม่ผิด แต่จริงๆแล้วมีเทคนิคง่ายๆ ในการจับคู่ไวน์กับอาหาร คือ ไวน์กับอาหารต้องมีน้ำหนักของรสชาติเท่าๆกัน อาหารและไวน์จะช่วยส่งเสริมรสชาติของกันและกันได้อย่างลงตัว เช่น ไวน์ขาว Church Road Grand Reserve Chardonnay ที่มีมวลของไวน์หนัก (Full bodied) และมีรสสัมผัสแบบครีมมี่ ก็สามารถจับคู่กับอาหารอย่างเช่น ซุปครีมเห็ดทรัฟเฟิล ที่มีกลิ่นและรสชาติพอๆกันได้ เป็นต้น ในขณะที่ไวน์แดง TOM Syrah และ 1 (Single vineyard) Syrah และ Grand Reserve Cabernet Merlot นับเป็นไวน์แดงที่มีมวลหนัก (Full bodied) จึงเหมาะที่จะเสิร์ฟพร้อมเนื้อสัตว์ เช่น เมนู อกเป็ดรมควันซอสส้ม, บาร์บีคิวหมูสามชั้นเสิร์ฟพร้อมแตงกวาดอง สเต็กเนื้อริบอายซอสไวน์แดง เสิร์ฟพร้อมมันบด หรือ พอร์คชอพ สเต็กหมูพริกไทยดำซอสเกรวี่และเห็ด เพื่อเติมเต็มอรรถรสให้กับมื้ออาหารมากขึ้นไปอีกระดับ
“ส่วนองค์ประกอบที่ต้องนำมาพิจารณาในการใช้จับคู่ระหว่างอาหารและไวน์นั้น อย่างแรก คือ น้ำหนักของอาหารกับบอดี้ของไวน์ เพื่อการสมรสกัน อาหารและไวน์ควรจะมีน้ำหนัก มวลเนื้อพอๆกัน เมื่อเวลาอยู่ในปากจะได้ไม่ถูกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งข่ม เช่นไวน์ light body ก็ควรใช้จับคู่กับอาหารที่เบาอย่างพวกอาหารทะเล ตลอดจนการคำนึงถึงเรื่อง กลิ่นอาหารกับกลิ่นของไวน์ กลิ่นที่เป็นโทนเดียวกัน จะไม่ทำให้คนทานไขว้เขว และเข้าใจแนวทางของอาหารมากขึ้น
การเลือกใช้ไวน์ก็ควรไปในทิศทางเดียวกับกลิ่นของอาหาร เช่นกลิ่นอาหารออกไปทางเครื่องเทศ ก็ควรใช้ไวน์ที่มี spice tone มาจับคู่ เป็นต้น และสุดท้าย คือ เรื่องรสชาติของอาหารกับรสชาติของไวน์ ทิศทางของรสชาติควรส่งเสริมกัน แต่หลักการนี้ค่อนข้างกว้างและยากพอสมควร รสชาติบางอย่างถ้าไปในทิศทางเดียวกัน อาจจะทำให้รสชาติโดยรวมแย่ลง อย่างรสเปรี้ยวของอาหาร ถ้าไปเจอกับไวน์ที่มีความเปรี้ยวสูงๆ ก็อาจจะทำให้รสชาติรวมเปรี้ยวปรี๊ดเกินไปขาดความสมดุล แต่อาหารจานหวาน ถ้าใช้ไวน์ที่หวานน้อยกว่าอาหาร ก็อาจจะทำให้ไวน์โดนกลบจนจืดไปเลย ถ้ารสชาติไวน์กับอาหาร เข้าคู่แบบสมรส(married) เราจะสัมผัสได้ถึงรสชาติที่อร่อย แต่ประสบการณ์รับรสของแต่ละคนจะต่างกัน บางท่านอาจจะบอกว่าแบบนี้อร่อย แต่บางท่านก็อาจจะไม่ชอบ คือ รสชาติความชอบส่วนตัว ไม่มีถูกไม่มีผิด”