สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย หรือ Global Compact Network Thailand – GCNT) พร้อมสมาชิกจากบริษัทชั้นนำ 54 แห่ง มากกว่า 100 คน เข้าร่วมประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2564 ลงมีมติเลือกสมาชิกจาก 11 องค์กรชั้นนำ นั่งกรรมการสมาคมฯ ต่ออีกสมัย
พร้อมย้ำเจตนารมณ์สนับสนุนภาคเอกชนไทยดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ สร้างความตระหนักรู้และเพิ่ม
ขีดความสามารถในการนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมาผนวกกับกลยุทธ์ทางธุรกิจ ประกาศเดินหน้ายุคใหม่ของการลงมือทำ ให้เกิดผลที่จับต้องได้อย่างแท้จริง (A New Era of Action) เร่งสร้างการเปลี่ยนแปลง เพื่อโลกที่ยั่งยืน
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ในฐานะนายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ได้กล่าวในที่ประชุมแสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์โควิด-19 ที่จะยังอยู่กับโลกและประเทศไทยไปอีกระยะหนึ่ง และชี้ว่าเมื่อประเทศเกิดวิกฤติ ภาคธุรกิจยิ่งต้องให้ความสำคัญและผนึกความร่วมมือกันในการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน รับมือ และปรับตัว
รวมทั้งเตรียมความพร้อมรับกับสถานการณ์ด้านความยั่งยืนอื่นๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษชน และการทุจริตคอรัปชั่น ตลอดจนได้แสดงความเชื่อมั่นต่อวิสัยทัศน์และศักยภาพขององค์กรสมาชิก โดยกล่าวถึงการประชุม UN Global Compact Leaders Summit ที่ผ่านมาว่าสมาคมฯ ได้รับเกียรติจาก UN Global Compact ให้ร่วมเสวนาร่วมกับผู้แทนจากทั่วโลกในพิธีเปิดการประชุมซึ่งถือว่าประเทศไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในเครือข่ายชั้นนำของภูมิภาคนี้ พร้อมทั้งประกาศเดินหน้าสร้างมิติใหม่ของการลงมือทำ (A New Era of Action) โดยให้ความสำคัญกับผนวกเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ในยุทธศาสตร์องค์กรและการกำหนดตัวชี้วัดที่วัดผลได้จริง เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ เร่งสร้างเปลี่ยนแปลง และร่วมสร้างโลกที่ยั่งยืน
“ขณะนี้ ผมเชื่อว่าทุกคนต่างกำลังเผชิญความท้าทายอันเกิดจากสถานการณ์โควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นระดับองค์กร หรือระดับบุคคล โดยอาจมีทั้งเพื่อนร่วมงาน คนรู้จัก หรือผู้ใกล้ชิด ต่างได้รับผลกระทบจากวิกฤติครั้งนี้ ในเชิงสุขภาพ หรือเชิงเศรษฐกิจ และสังคม แต่เมื่อประเทศเกิดวิกฤติ ดังเช่นสถานการณ์โควิด-19 ในครั้งนี้ ภาคธุรกิจยิ่งต้องให้ความสำคัญและผนึกความร่วมมือกันในการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันองค์กร ด้วยเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน” นายศุภชัย กล่าว
นอกจากนี้ นายศุภชัย ยังได้กล่าวถึงผลการประเมินจากรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน “SDG Index” ซึ่งเป็นการประเมินความก้าวหน้าในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อ ของสหประชาชาติ ซึ่งปีนี้ ประเทศไทยมีคะแนนเฉลี่ยรวม 74.19 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ที่ 65.7 คะแนน และมีคะแนนเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยได้รับการจัดอันดับเป็นลำดับ 3 ในทวีปเอเชีย และอันดับที่ 43 ของโลก ทั้งนี้เชื่อว่าการประเมินอันดับของประเทศไทยในปีนี้ เป็นผลมาจากการทำงานร่วมมือกันขององค์กรสมาชิกที่ทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าเดิม ซึ่งปีที่ผ่านมา สมาชิกสมาคมฯ ได้ประกาศเจตนารมณ์ในทศวรรษแห่งการลงมือทำจนถึงปี พ.ศ. 2573 ที่จะนำ SDGs ไปสู่การปฏิบัติให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ทางธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรมในบริบทไทย จำนวน 1,088 โครงการ รวมเป็นเงินลงทุนทั้งสิ้น 1.3 ล้านล้านบาท ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ทรงพลัง ยกระดับมาตรฐานการทำธุรกิจในทุกเป้าหมายให้รอบด้าน และตอบสนองความต้องการของทุกภาคส่วน
ในการประชุมครั้งนี้ องค์กรสมาชิกยังได้ให้ความเห็นชอบต่อแผนยุทธศาสตร์ของสมาคมฯ ที่จะขยายเครือข่ายความยั่งยืน โดยร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรม และสภาหอการค้าไทย ผลักดันให้ภาคธุรกิจเดินหน้าสู่เป้าหมาย SDGs ด้วยการลงมือทำอย่างจริงจังในกลไกธุรกิจ พร้อมผนึกกำลังทุกภาคส่วนผลักดันนโยบายเชิงกลยุทธ์ผ่านการดำเนินงานระดับประเทศ และขับเคลื่อนมิติใหม่แห่งการลงมือทำขององค์กร ด้วยการเจาะจงเป้าหมายที่วัดได้ ขยายผลการลงมือทำ และสร้างความน่าเชื่อถือด้วยรายงาน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ใน 3 ปีข้างหน้าของ UN Global Compact ที่ได้ประกาศเมื่อเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์เดิมที่ใช้อยู่ และเพิ่มเติมเรื่องการส่งผลต่อประเด็น การวัดความคืบหน้าของการดำเนินงานจากเป้าหมายที่แต่ละองค์กรได้ประกาศไว้ และการสร้างระบบนิเวศให้เสริมการทํางาน เพื่อเปลี่ยนผ่านธุรกิจไทย ควบคู่กับการพัฒนาที่ยั่งยืน
ในฐานะเครือข่ายท้องถิ่นของ UN Global Compact สมาคมฯ ยังได้ทำงานร่วมกับองค์การระหว่างประเทศของสหประชาชาติ ทั้งในประเทศและระดับโลก เพื่อแนะนำการ บูรณาการความยั่งยืนเข้ากับกลยุทธ์ธุรกิจ โดยจัดอบรมหลักสูตรระดับนานาชาติว่าด้วย SDG Action Manager, SDG Impact Measurement and Management, SDG Ambition Workshop และล่าสุดคือโปรแกรม Climate Ambition Accelerator ซึ่งขณะนี้มีองค์กรชั้นนำในไทยเข้าร่วมเรียนรู้แล้วมากกว่า 100 องค์กร
ช่วงท้ายของการประชุม นายศุภชัย ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “เรามุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ให้เป็นเครือข่ายความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ด้วยความร่วมมือขององค์กรสมาชิกที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ร่วมแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน และการทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งเป็นปัญหาที่มีเหมือนกันทั่วโลก รวมทั้งสร้างความแข็งแกร่งและประโยชน์ให้ระบบสังคมและลูกหลานของเราต่อไป”
ปัจจุบัน สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย มีสมาชิกกว่า 70 องค์กร รวม Market Cap กว่า 6.2 ล้านล้านบาท และมีจำนวนพนักงานรวมกันกว่า 750,000 คน ซึ่งมีศักยภาพสูงในการขับเคลื่อนความยั่งยืน ด้วยความร่วมมือกับภาครัฐและภาคสังคม องค์กรที่สนใจสามารถติดตามความเคลื่อนไหวและเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยได้ที่ www.globalcompact-th.com