บิล เกตส์ ระบุ มาตรการที่ใช้ได้ผลดีในประเทศพัฒนาแล้วอย่างการ ล็อกดาวน์นาน ๆ อาจไม่เหมาะกับประเทศกำลังพัฒนา เพราะอาจสร้างความวุ่นวาย หากรัฐบาลไม่มองความเป็นจริงเรื่องความต้องการพื้นฐานของประชาชน
รายการออนไลน์ This is Working บนเวบ Linkedin ดำเนินรายการโดย แดเนียล รอตท์ หัวหน้าบรรณาธิการ ได้สัมภาษณ์ บิล เกตส์ มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้ง ไมโครซอฟต์ ผู้ที่ทำงานมนุษยธรรมด้านสาธารณสุขมากมาย ถึงผลกระทบที่โลกต้องเผชิญจากโควิด 19 และเราจะผ่านเหตุการณ์นี้ไปได้อย่างไร หลังหลายประเทศ ล็อกดาวน์นาน ๆ
เกตส์ ระบุว่า สถานการณ์นี้เป็นฝันร้ายที่เขาเคยพูดถึงหลายครั้ง เกี่ยวกับนวัตกรรมที่ควรลงทุนเพื่อตอบสนองเหตุการณ์แบบนี้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการวินิจฉัย การใช้ยา การคิดค้นวัคซีน สร้างความแตกต่าง
หลายประเทศได้ตรวจหาผู้ติดเชื้ออย่างรวดเร็ว และประเทศที่ตอบสนองอย่างรวดเร็วจะเห็นผลได้ภายในสิ้นเดือนนี้ แต่ก็ยังเร็วไปที่จะผ่อนคลายมาตรการ ควรต้องรออีกสัก 4 สัปดาห์ ถึงกว่าที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่จะน้อยลงขนาดที่ควบคุมได้
ส่วนวัคซีน น่าจะใช้เวลาถึงประมาณอีก 18 เดือน ซึ่งขณะนี้ มูลนิธิของเกตส์พุ่งความสนใจไปที่ไม่ใช่แค่การเร่งคิดค้นวัคซีน แต่สนใจเกี่ยวกับการรักษาด้วย ถ้าสามารถค้นพบยาที่สามารถรักษาได้ ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นได้เร็ว 4-6 เดือน การรักษาสามารถลดอัตราการเสียชีวิต ซึ่งเป็นวิธีที่สามารถใช้ในประเทศที่กำลังพัฒนาได้ด้วย
เกตส์คาดว่า เศรษฐกิจบางส่วนที่จำเป็น ควรต้องเริ่มเปิดแล้ว เช่น โรงเรียน การก่อสร้าง อุตสาหกรรมการผลิต แต่จะไม่ใช่การรวมตัวกันเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ในที่สาธารณะ หรือตามร้านอาหาร สถานการณ์จะไม่มีทางกลับสู่ “ปกติ” ได้ หากไม่มีวัคซีนใช้อย่างกว้างขวาง คือนับจำนวนเป็นพันล้านหน่วย
“สังคมจะต้องมองกิจกรรมทั้งหมดว่าอันไหนที่เป็นประโยชน์มาก และอันไหนสร้างความเสี่ยงในการกลับมาระบาด และเราจะลดการกลับมาระบาดให้ได้มากที่สุด ด้วยการทำการตรวจหาเชื้อแบบเชิงรุก การกักกันผู้ที่มีอาการและผู้ที่มีเชื้ออย่างเข้มงวด และสืบสาวการติดต่อสัมผัสของผู้ติดเชื้อ“
อย่างไรก็ตาม ยังไม่ควรเปิดกิจกรรมที่จะทำให้มีคนรวมตัวกันมาก อย่างเช่นการแข่งขันกีฬา ซึ่งประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอาจไม่คุ้มเมื่อเทียบกับความเสี่ยงการระบาด
แต่หากพูดถึงรูปแบบมาตรการ เกตส์คิดว่าสิ่งที่ทำแล้วประสบผลดีในประเทศที่ร่ำรวย อย่างการ ล็อกดาวน์นาน ๆ อาจจะมาใช้กับประเทศกำลังพัฒนาไม่ได้ผล อย่างมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ที่เป็นไปได้ในหลายประเทศ แต่อาจจะยากในบังกลาเทศหรืออินเดีย มาตรการเว้นระยะห่าง คือการปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง อาจทำให้คนไม่มีอาหารเพียงพอ อาจทำให้เกิดความวุ่นวายในสังคม ถ้าไม่คิดถึงความเป็นจริงเกี่ยวกับความต้องการขึ้นพื้นฐานของคน
มาตรการในการพยายามควบคุมโรคระบาดทั่วโลกกำลังกระทบเศรษฐกิจอย่างมาก การปิดเศรษฐกิจเป็นการตัดซัพพลายด้านต่างๆ แล้วเมื่อทุกอย่างเริ่มกลับมาเปิด จะคาดหวังให้ “ความต้องการ” หรืออุปสงค์กลับมาในชั่วข้ามคืน คงเป็นไปไม่ได้ คนจะยังมีความรู้สึกระมัดระวังมากขึ้น มีคำถามว่าควรออกนอกบ้านหรือไม่ ควรเดินทางหรือไม่ ควรไปร้านอาหารหรือไม่
สุดท้าย เกตส์กล่าวถึงสถานการณ์ที่ธุรกิจหลายอย่างถูกผลักเข้าสู่การเป็นดิจิทัลเร็วขึ้น อย่างไม่เป็นธรรมชาติ แม้ว่าหลายคนจะทำได้ดี อย่างเช่นในด้านการเรียนการสอน แต่การเรียนผ่านดิจิทัล ก็ต้องมีการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต มีอุปกรณ์ที่พร้อม และมีผู้สอนที่มีความสามารถในการสื่อสาร อย่างไรก็ตาม โลกดิจิทัลจะไม่สามารถมาแทนที่กิจกรรมทางสังคมของเด็กๆ ได้ อย่างการเรียนรู้การเข้าสังคม การพบเพื่อนใหม่ การแฮงก์เอาท์ ส่วนโลกธุรกิจนั้น เกตส์คิดว่าการเดินทางแบบทริปธุรกิจจะลดลงมาก รวมถึงการประชุมอย่างประชุมผู้ถือหุ้น น่าจะถูกประบเป้นการประชุมแบบเสมือนจริงมากขึ้น และน่าจะสามารถทำให้ได้ผลที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ดีกว่าแต่ก่อนได้ด้วย
ผลกระทบเศรษฐกิจ โควิด 19 ปัญหาเศรษฐกิจอาจนำไปสู่ปัญหาสังคม
โควิด 19 สร้างแรงสั่นสะเทือนในทุกภาคส่วน ทุกด้าน ของหลายประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม ด้านสาธารณสุข ด้านการเมือง และโดยเฉพาะ ผลกระทบเศรษฐกิจ ผู้เชี่ยวชาญแนะว่า รัฐบาลต้องรีบออกมาตรการลดผลกระทบให้เร็วที่สุด