ตลาดอีคอมเมิร์ซยังโตต่อเนื่อง หลังจากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนหันมาซื้อของออนไลน์ ไหนๆ ก็มีดราม่าในแวดวงอีคอมเมิร์ซ วันนี้จะพาผ่าอาณาจักร 2 บิ๊กอีคอมเมิร์ซ “ลาซาด้า ช้อปปี้” รายได้หลักหมื่นล้านบาท/ปี
ธุรกิจขายของออนไลน์ในไทย โตไม่หยุด ฉุดไม่อยู่
ยุคออนไลน์ต้องยอมรับว่าพฤติกรรมผู้บริโภคหันมาซื้อของผ่านแอปพลิเคชันอีคอมเมิร์ซมากขึ้น เพราะง่าย สะดวก รวดเร็ว ส่งตรงถึงหน้าบ้านท่าน โดยเฉพาะช่วงที่โควิด -19 ระบาดที่ผ่านมาได้เห็นปรากฏการณ์ต่าง ๆมากมายบนตลาดอีคอมเมิร์ซไทย ทำให้การซื้อสินค้าออนไลน์เติบโตอย่างมากในช่วงนั้น จนมาถึงตอนนี้ก็ยังเติบโตอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะลาซาด้า(Lazada)อีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่และช้อปปี้(Shopee)แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในเครือ Sea กรุ๊ป ที่เร่งเครื่องขยายอาณาจักรชิงส่วนแบ่งตลาดอีคอมเมิร์ซ โลจิสติกส์ เดลิเวอรี่ในไทยกันฝุ่นตลบ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
สมาคมโฆษณาฯ เตือนสติทำโฆษณาต้องมาพร้อมจรรยาบรรณ ปมคลิปฉาว แบนลาซาด้า
จะค้าขายของออนไลน์ต้องรู้ ! เทรนด์อีคอมเมิร์ซปี2565 เป็นอย่างไรบ้าง ?
แม้ว่าเมื่อเร็วๆนี้ลาซาด้า(Lazada) จะมีดราม่าขึ้นบนโลกสังคมออนไลน์ จนเกิดกระแส #แบนลาซาด้า ติดเทรนด์สื่อสังคมออนไลน์ แต่…วันนี้ #สปริงนิวส์จะพามาตะลุย ผ่าอาณาจักร 2 บิ๊กอีคอมเมิร์ซ ลาซาด้า (Lazada) ตามด้วย ช้อปปี้(Shopee) ที่มีรายได้หลักหมื่นล้านบาทต่อปี และธุรกิจมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องในตลาดไทย
พาตะลุยดูอาณาจักรลาซาด้า (Lazada)
มาเริ่มกันที่อาณาจักรลาซาด้า (Lazada) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เผยข้อมูลว่า บริษัททีงบการเงินนำส่งปี 2564 ดังรายละเอียด ดังต่อไปนี้
-สินทรัพย์รวม 6,617 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 92.97%
-รายได้รวม 14,675 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46.58%
-รายจ่ายรวม 14,440 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.41%
-กำไรสุทธิ 226 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 105.69%
ในขณะเดียวกัน นับได้ว่าลาซาด้า(Lazada) ได้สร้างปรากฎการณ์ใหม่กลับมามีผลกำไรอีกครั้ง หลังจากขาดทุนไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว หรือตั้งแต่ปี 2560 สามารถดูรายละเอียดได้ดังนี้
-ปี 2560 ขาดทุนสุทธิ 568 ล้านบาท
-ปี 2561 ขาดทุนสุทธิ 2,645 ล้านบาท
-ปี 2562 ขาดทุนสุทธิ 3,707 ล้านบาท
-ปี 2563 ขาดทุนสุทธิ 3,988 ล้านบาท
-ปี 2564 กำไรสุทธิ 226 ล้านบาท
ในเครือมีอะไรบ้าง ?
อย่างไรก็ตามในปัจจุบันลาซาด้า(Lazada) มีบริษัทเครือข่ายในประเทศไทย ได้แก่ บริษัท ลาซาด้า โซลูชั่นส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ลาซาด้า โซลูชั่นส์ โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ลาซาด้า อี-สมาร์ท ฮับ (ประเทศไทย) จำกัดบริษัท เดอะ โอนลี วัน จำกัด บริษัท เฮลโลเพย์ จำกัด และ บริษัท จีจี โกลเด้น คลับ จำกัด ทั้งนี้ในช่วงพักหลังที่ผ่านมาการแข่งขันในตลาดอีคอมเมิร์ซไทยมีการแข่งขันกันสูงมาก จึงทำให้ลาซาด้า (Lazada) ออกแคมเปญการตลาด ต่างๆมากมายออกมาเพื่อชิงเค้กก้อนโตตลาดอีคอมเมิร์ซไทยที่มีมูลค่าสูงถึงหลักแสนล้านบาท
ส่องทุกเรื่องราวของช้อปปี้ (Shopee)
ข้ามมาดูฟากคู่แข่งอย่างช้อปปี้ (Shopee) ที่ทำการตลาดแบบเข้มข้นเอาใจลูกค้าไม่แพ้แบรนด์ใดๆ อย่างเช่น การเดินกลยุทธ์ด้วยการผนึกกำลังกับพันธมิตรที่หลากหลาย นอกจากการจัดทำโปรโมชั่นร่วมกับแบรนด์และผู้ค้าแล้ว มีการร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับพันธมิตรที่หลากหลายเพื่อจัดทำแคมเปญพิเศษ โดยเป้าหมายมีทั้งส่งเสริมการตลาดและช่วยเหลือสังคมช่วงเวลาวิกฤติ ทั้งนี้จากข้อมูลของ Creden Data เผยว่า ช้อปปี้ ประเทศไทย มีรายได้ปี 2563 ที่ 5.8 พันล้านบาท (5,812,790,479 บาท) ซึ่งเติบโตจาก ปี 2562 ที่มีรายได้ 1.4 พันล้าน (1,444,324,062 บาท)
ทั้งนี้ปัจจุบันช้อปปี้ (Shopee) ให้บริการที่หลากหลายทั้งแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ บริการช้อปปี้เพย์ ช้อปปี้เอ็กซ์เพรส (Shopee Express) ส่งอาหารเดลิเวอรี่ พร้อมเดินหน้าพัฒนาบริการร่วมกับพันธมิตรต่าง ๆ เช่น จับมือกับธนาคารกรุงเทพ ยอดบริการ Digital Payment ช้อปปี้เพย์วอลเล็ต ทั้งนี้เป็นการตอกย้ำความร่วมมือในฐานะ Exclusive Partner ภายใต้บริการใหม่ ‘PromptPay Sponsor Bank’ (สแกนพร้อมเพย์) เจาะลูกค้าการชำระเงินแบบดิจิทัล นอกจากนี้ยังจะเปิดลุยหนักบริการด้านการพัฒนาโซลูชันสำหรับ Transaction Banking ให้ลูกค้ากลุ่มธุรกิจอีกด้วย
ไม่เพียงเท่านี้ช้อปปี้ (Shopee) ยังคงเดินหน้าสนับสนุนเสริมศักยภาพให้ผู้ขาย กับโปรแกรม Certified Shopee Expert ภายใต้การดูแลของ Shopee University เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจผู้ขายช้อปปี้เติบโตในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล และยังแนะนำเครื่องมือโฆษณา Facebook ใหม่บน Shopee Seller Center ในระดับภูมิภาคให้ผู้ขายได้ติดปีกความรู้ให้ตัวเองอีกด้วย
ทั้งหมดนี่ คือเรื่องราวของอาณาจักร 2 บิ๊กอีคอมเมิร์ซ ลาซาด้า(Lazada) ตามด้วย ช้อปปี้ (Shopee) ที่มีรายได้หลักหมื่นล้านบาท ที่เขย่าวงการอีคอมเมิร์ซไทย ต้องจับตาดูกันต่อไปว่า 2 ค่านยักษ์นี้จะเดินไปในทิศทางไหนต่อจากนี้ไป ?