ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 5 ราย นัดแถลง ชี้แจงถึงความจำเป็นที่ขอกระทรวงพาณิชย์ ขอปรับขึ้นราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป จาก 6 บาท เป็น 8 บาทต่อซอง ด้านผู้ผลิตทั้ง 5 ราย ยืนยัน ไม่ไหวจริง ๆ เพราะต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นมาตั้งแต่ต้นปี ขอความร่วมมือตรึงราคาก่อน
บ่ายนี้ ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 5 ราย นัดแถลงข่าวชี้แจงถึงความจำเป็นที่ขอกระทรวงพาณิชย์ ปรับขึ้นราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป จาก 6 บาท เป็น 8 บาทต่อซอง
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ได้เปิดเผยตัวเลขภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 2 ว่า ขยายตัวได้ 2.5% ดีขึ้นจาก 2.3% ในไตรมาสก่อน ซึ่งปัจจัยหลักๆ มาจากการบริโภคภาคเอกชน การส่งออก ทำให้ครึ่งปีแรกเศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง
พร้อมกับประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ขยายตัวอยู่ในกรอบ 2.7-3.2% จากก่อนหน้านี้ที่มีการคาดการณ์ไว้ที่ 2.5 - 3.5% มาจากการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว
รวมถึงการส่งออกที่ยังขยายตัวได้ดี ด้วยมูลค่าการส่งออกจะเติบโต 7.9% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 6.3-6.8% ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 1.6% ของจีดีพี อย่างไรก็ตามยังมีความเสี่ยงทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ฝีดาษลิง และความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะ จีน-สหรัฐ จากประเด็นไต้หวัน อาจส่งผลกระทบต่อกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักที่ต้องใช้ ชิป และเซมิคอนดัคเตอร์
นายดนุชา แนะรัฐบาลว่า ในช่วงครึ่งปีหลังต้องออกมาตรการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการช่วยต้นทุนทางการเงิน หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็น 0.75 %
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ส่วนอัตราเงินเฟ้อปีนี้คาดว่าจะอยู่ในกรอบ 6.3-6.8% ซึ่งเป็นระดับที่ประเทศไทยยังพอรับได้ หากเปรียบเทียบกับหลายประเทศที่ปรับสูงขึ้น 8-9% อย่างไรก็ตามเชื่อว่าในช่วงครึ่งปีหลัง ตัวเลขเงินเฟ้อน่าจะค่อยๆ ชะลอตัวลง เนื่องจากราคาน้ำมันเริ่มปรับลดลงแล้ว
และอีกประเด็นที่ต้องจับตามอง ช่วงบ่ายวันนี้ ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 5 ราย ประกอบด้วย มาม่า ไวไว ยำยำ นิชชิน และซื่อสัตย์ นัดแถลงข่าวเพื่อชี้แจงถึงความจำเป็นที่ขอกระทรวงพาณิชย์ ปรับขึ้นราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป จาก 6 บาท เป็น 8 บาท ต่อ ซอง หรือ ปรับขึ้นซองละ 2 บาท
โดยผู้ผลิตทั้ง 5 ราย ได้ออกยืนยันมาตลอดว่า ไม่ไหวจริง ๆ เพราะผู้ผลิตบะหมี่ฯ ต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นมาตั้งแต่ต้นปี เช่น แป้งสาลี ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลัก ราคา 500 บาทต่อถุง จากเดิม 250 บาทต่อถุง น้ำมันปาล์ม จาก 18 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 50 บาทต่อกิโลกรัม หรือสูงเกือบ 3 เท่าตัว นอกจากนี้ ยังมีวัตถุดิบอื่น ทั้งสินค้าเกษตร ที่นำมาทำเป็นเครื่องปรุงรส และแพ็คเกจจิ้งสูงขึ้น 20-30%
ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ ย้ำมาตลอดว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นสินค้าควบคุม และเป็นสินค้าจำเป็น จึงขอความร่วมมือให้ช่วยตรึงราคาไปก่อน ทำให้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปถูกตรึงราคามาเป็นเวลา 15 ปีแล้ว
สำหรับตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีมูลค่า 18,000 ล้านบาท ครึ่งปีแรกเติบโตราว 4-5% คนไทยบริโภคบะหมี่ฯเฉลี่ย 52 ซองต่อคนต่อปี ดังนั้นหากราคาปรับขึ้น 2 บาทต่อซอง จะมีผลให้ค่าใช้จ่ายในการซื้อบะหมี่ เพิ่มอีก 104 ต่อคนต่อปี