svasdssvasds

กรมการแพทย์ เตือนยาบรรเทาโควิด-19 มีผลข้างเคียงสูง ไม่แนะนำให้ซื้อกินเอง

กรมการแพทย์ เตือนยาบรรเทาโควิด-19 มีผลข้างเคียงสูง ไม่แนะนำให้ซื้อกินเอง

กรมการแพทย์ ยืนยันการให้ยาบรรเทาโควิด-19 ยังคงต้องให้แพทย์เป็นผู้ประเมิน และสั่งจ่าย เนื่องจากเป็นยาใหม่ที่ใช้ในภาวะฉุกเฉินอยู่ ห่วงซื้อยาต้านไวรัสกินเอง อาจเกิดผลข้างเคียง ถึงขั้นสูญเสียอวัยวะได้ หากกินไม่เหมาะสม

 นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุถึงการจ่ายยาบรรเทาโควิด-19 ถ้าเป็นผู้ป่วยติดเชื้อโควิด ที่ไม่มีอาการเลย กลุ่มนี้จะไม่ให้ยามต้านไวรัสแต่อาจจะพิจารณาให้ฟ้าทะลายโจร

 แต่ถ้าผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 อาการไม่รุนแรง แพทย์พิจารณาอาจให้ยาฟาวิพิราเวียร์ แต่หากผู้ป่วยโควิด -19 ที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงโรคร่วมสำคัญ หรือปอดอักเสบเล็กน้อยปานกลาง หากมีปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่ง พิจารณาให้ยาต้านไวรัสตัวใดตัวหนึ่งได้ เช่น ฟาวิพิราเวียร์ โมลนูพิราเวียร์  แพกซ์โลวิด เรมเดซิเวียร์

 ส่วนผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีภาวะปอดอักเสบระดับความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด 94%  พิจารณาให้ยาเรมเดซิเวียร์ ให้นาน5 วัน หากมีอาการมากพิจารณาให้ยา 10 วัน และยา Corticosteroid

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

• ยาบรรเทาอาการโควิด-19 มีติดไว้เมื่อต้องกักตัวที่บ้าน

• คณะกรรมการโรคติดต่อ มีมติลดระดับโรคโควิด-19 เทียบเท่าไข้หวัดใหญ่

• "โอมิครอน" BA.4.6 ทั่วโลกจับตาโควิดสายพันธุ์ใหม่น่ากังวล เติบโต-แพร่เร็ว

 อย่างไรก็ตาม ยาโมลนูพิราเวียร์ แพกซ์โลวิด เป็นยาใหม่ที่มีการศึกษาวิจัย และใช้มาเพียง1ปีกว่า การใช้ยาจึงต้องให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาสั่งจ่าย

 อธิบดีกรมการแพทย์ ยังได้อธิบายถึงยา โมลนูพิราเวียร์  ว่า ส่วนตัวหากติดเชื้อโควิดแม้ตนเองจะเป็นกลุ่มเสี่ยงผู้สูงอายุ 608 ก็จะไม่ขอรับยาต้านไวรัสถ้าไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อยเนื่องจากมีผลศึกษาพบว่ายาโมลนูพิราเวียร์ มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรมของมนุษย์ อีกทั้งเป็นยาใหม่ที่เพิ่งใช้ไม่นาน จึงยังไม่มีข้อมูลผลข้างเคียงระยะยาว

 ส่วนการกระจายยาต้านไวรัส ตามร้านขายยาในอนาคต ทางอย. จะเป็นผู้ออกหลักเกณฑ์ในเรื่องของใบสั่งจ่ายยาจากแพทย์ อีกครั้ง

ทั้งนี้ ยาโมลนูพิราเวียร์ และแพกซ์โลวิด ยังเป็นการขอขึ้นทะเบียน การใช้ในภาวะฉุกเฉินอยู่ ยกเว้น อนาคต มีผลงานวิจัยออกมาเพิ่มเติม ในเรื่องของยาต้านไวรัส อาจจะมีการเปลี่ยนแนวทางการให้ยาได้ รวมถึงการเปลี่ยนขึ้นทะเบียนการใช้ยา

 อย่างไรก็ตาม กลุ่มแพทย์สมาคมโรคติดเชื้อ และอาจารย์คณะแพทย์ต่างๆ มีความเห็นตรงกันว่า ยาต้านไวรัสไม่จำเป็นต้องจ่ายให้ผู้ป่วยทุกราย แม้จะมีความเสี่ยงต้องผ่านการประเมินจากแพทย์ก่อน

 ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ.กำธร มาลาธรรม รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี ระบุว่าหากเป็นผู้ป่วยโควิด-19 ไม่มีอาการ หรืออาการน้อยมาก ไม่จำเป็นต้องกินยาก็ได้ เพียงกินยารักษาตามอาการ ก็สามารถถหายได้ แต่การให้ยาต้านไวรัส เช่น ยาฟาวิพิราเวียร์ ก็เป็นการให้ยาเผื่อไว้แต่จะกินหรือไม่กินก็ได้ 

ข้อมูลทางการแพทย์ ยาแพกซ์โลวิด ที่ไม่สามารถให้ได้กับผู้ป่วยติดเชื้อทุกคนนั้น เนื่องจากในฤทธิ์ของยาอาจจะไปมีผลกับยาบางกลุ่มที่ผู้ป่วยกินยาอยู่ก่อนหน้านี้ ซึ่งยาต้านไวรัสแต่ละตัวมีข้อดีข้อเสียและข้อจำกัดแตกต่างกัน จึงเป็นที่มา ว่าทำไมยาต้านไวรัสแพทย์ถึงต้องเป็นผู้สั่งจ่าย ยืนยันไม่ได้มีการห่วงยาแต่อย่างใด 

 นพ.กำธร ยังได้อธิบาย  ผลข้างเคียงของยาแพกซ์โลวิด หากผู้ป่วยติดเชื้อซื้อยารับประทานเอง และมีการใช้ร่วมกับยาไมเกรน อาจทำให้เกิดผลปลายนิ้วดำเนื้อตายต้องตัดนิ้วทิ้ง ส่วนผู้ป่วยโรคเบาหวาน หากติดเชื้อ แล้วใช้ยาแพกซ์โลวิด อาจเกิดผลปฏิกิริยาร่วมกันของยาทั้งสองชนิดซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยได้

 ส่วนความกังวลเรื่องเชื้อดื้อยา นายแพทย์ กำธร ระบุว่า ส่วนตัวไม่ค่อยกังวลมาก เนื่องจากการพิจารณาให้ยาต้านไวรัสในกลุ่มผู้ป่วยโควิดเป็นการให้ยาระยะสั้น แต่ประเด็นสำคัญ คือ ห่วงในผลข้างเคียงของยา และเสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น จึงไม่แนะนำให้คนที่ไม่ได้ประโยชน์จากยาไปเรียกร้องหายาต้านไวรัส  ส่วนการปรับ โควิดเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง นายแพทย์ กำธร ระบุว่าการรักษายังคงเดิม แต่วิธีที่จะเปลี่ยน คือ การควบคุมโรค การแยกกัก การกักตัว การจำแนกผู้ป่วย  เป็นต้น 

 ขณะที่ พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมการแพทย์ ระบุถึงการซื้อยาต้านไวรัสตามออนไลน์หรือแหล่งจำหน่ายอื่น ที่ไม่ใช่สถานพยาบาลว่า เป็นเรื่องไม่แนะนำเพราะ ยาอาจไม่ได้ประสิทธิภาพเนื่องจากขั้นตอนการเก็บรักษาไม่ถูกต้อง และยาเหล่านี้ไม่ใช่ยาสามัญประจำบ้านไม่จำเป็นต้องซื้อเก็บไว้   ซึ่งการซื้อยากินเองในกลุ่มยาต้านไวรัสอาจเกิดผลข้างเคียงได้ เช่น กรณี ยาฟาวิพิราเวียร์ ผู้ป่วยอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนได้บางรายอาจจะมีผลกระทบ เช่น ตาฟ้า ได้ ยาโมลพิราเวียร์ ที่มีข้อบ่งชี้ใช้ในอายุ 18 ปีขึ้นไป ผลข้างเคียงที่พบบ่อย มีผลต่อสารพันธุกรรมในมนุษย์ ส่วน ยาแพกซ์โลวิด ผลการศึกษาทางการแพทย์ พบว่ามีผลข้างเคียงกับ ยา บางชนิด  เช่น ในกลุ่มยาละลายลิ่มเลือด ไมเกรน เบาหวาน เป็นต้น

related