โฆษกกรมสุขภาพจิต ชี้ ข่าวลูกสาววัย 14 วางแผนฆ่าแม่ตัวเอง กับแฟนหนุ่มวัย 16 สะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรงในครอบครัวและความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ไม่ดีรวมไปถึงสิ่งแวดล้อม ที่ทำให้เห็นถึงความรุนแรงเป็นเรื่องปกติ
จากกรณีที่ลูกสาวแท้ๆ วัย 14 ปี วางแผนกับแฟนหนุ่มวัย 16 ปี ก่อเหตุสังหารโหดฆ่าแม่อายุ 53 ปี ภายใน ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ สภาพศพถูกแทงตามร่างกายหลายจุด หลังเกิดเหตุนั่งรอมอบตัวหน้าห้องพัก ชาวบ้านทราบข่าวต่างโกรธแค้นและพยายามรุมประชาทัณฑ์
นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต ระบุว่า ถือเป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก ในหลายสถาบันออกมาบอกว่าในช่วงที่มีวิกฤติโควิด สังคมนั้นมีความเครียดสูงมากขึ้น ทำให้ความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มสูงขึ้น กรณีข่าวดังกล่าว ถือเป็นตัวอย่างของปลายทางความรุนแรงในครอบครัว และปัจจัยที่ทำให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวส่วนมากเกือบ 100% มักเกิดจากความสัมพันธ์ที่ไม่ดีในครอบครัว การแก้ปัญหาคือการเจรจาระหว่างผู้ปกครองกับเด็ก ซึ่งปัญหาวัยรุ่นกับเพื่อนต่างเพศเกิดขึ้นบ่อยมาก สามารถแก้ปัญหาด้วยการพูดคุยกันได้
ส่วนมากเด็กที่ใช้ความรุนแรง มักเกิดจากที่เด็กเรียนรู้ความรุนแรงมาจากบางอย่าง หากเด็กไม่เคยเรียนรู้ความรุนแรง ยากมากที่จะกระทำความรุนแรงด้วยตนเอง ยกเว้นมีอาการป่วยทางจิตอย่างรุนแรง ส่วนมากเด็กอาจจะเคยเห็นความรุนแรงมาจากที่ไหนก็ได้ เช่น ข่าวความรุนแรง, สิ่งแวดล้อมรอบข้าง, เพื่อน และคนในครอบครัว ซึ่งถ้าเด็กเห็นความรุนแรงบ่อยๆ อาจจะรู้สึกว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติทั่วไป และอาจไปทำร้ายคนอื่นได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
การศึกษาพบ ดาร์กช็อกโกแลต ช่วยลดอาการเศร้า โรคซึมเศร้าได้ถึง 70%
30 มีนาคม วันไบโพลาร์โลก (World Bipolar Day) ชวนทำความเข้าใจโรคอารมณ์ 2 ขั้ว
อุทาหรณ์ ผู้ปกครองปล่อยลูกสาวเล่นหน้าบ้านเจอโรคจิตเข้ามาทำอนาจารในบ้าน
สัญญาณเตือนเมื่อเด็กจะก่อความรุนแรง นพ.วรต ระบุว่า “ความรุนแรงจะมีสัญญาณเตือนตลอด ซึ่งความรุนแรงจะค่อยๆไต่ระดับ เช่น ความรุนแรงทางอารมณ์ สีหน้า คำพูด ความโกรธ บางคนมีอาจการทำร้ายตนเองและทำร้ายครอบครัว ซึ่งถ้าสัญญาณความรุนแรงเหล่านี้ไม่ได้สังเกตเห็น ถ้าไม่ได้รับการหยุดหรือสนใจ ก็ขยับความรุนแรงไปจนถึงการทำร้ายผู้อื่น และทำลายสังคม”
ส่วนกรณีที่ความรุนแรงของเด็กสามารถก่อให้เกิดอาการทางจิตได้หรือไม่ นพ.วรต ระบุว่า มีทั้ง2ทาง วิตกกังวล หรือการมีปัญหาเข้าสังคมกับคนอื่น ส่วนใหญ่นั้นเกิดจากสิ่งแวดล้อมหรือครอบครัวที่ใช้ความรุนแรงและเมื่อเด็กเลียนแบบก็เกิดความเคยชิน จนเข้าใจว่าการกระทำนี้เป็นเรื่องปกติ
กรณีข่าว ลูกสาวร่วมมือแฟน ฆ่าแม่ – พี่ชาย เป็นคดีความที่ตำรวจกำลังดำเนินการต่อเพื่อสืบหาความความจริง นพ.วรต ระบุทิ้งท้าย ว่า “อย่าลืมเยียวยาพี่ชายที่เป็นคนเห็นเหตุการณ์และถูกทำร้ายทางร่างกาย ซึ่งคนที่ทำร้ายคือคนในครอบครัวจนทำให้แม่เสียชีวิต แน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อจิตใจเป็นอย่างมาก ซึ่งพี่ชายนอกจากรักษาร่างกายแล้ว จะต้องส่งคนไปดูแลบาดแผลทางจิตใจที่เกิดขึ้นด้วยในระยะยาวที่จะได้ไม่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตที่รุนแรง”