2 ชาติตะวันตก อย่าง อังกฤษและฝรั่งเศส ตัดสินใจยกเลิกมาตรการควบคุมโควิด-19 ทั้งนี้เพื่อดูแลปัญหาสุขภาพจิต หรือ เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์
รัฐบาลฝรั่งเศส และ รัฐบาลอังกฤษ 2 ชาติมหาอำนาจตะวันตก ประกาศที่จะยกเลิกมาตรการควบคุมโควิด-19 ทั้งที่มียอดผู้ติดเชื้อ 16.39 ล้านราย และ 15.78 ล้านราย ในอันดับที่ 4 และอันดับที่ 5 ตามลำดับ
โดย ซาจิด จาวิด (Sajid Javid) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอังกฤษ ประกาศก่อนว่า มาตรการและคำแนะนำต่างๆ ในการควบคุมโควิดโอไมครอนจะถูกยกเลิก รวมไปถึงมาตรการบังคับสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะและร้านค้าจะสิ้นสุดในวันที่ 27 ม.ค. และยกเลิกการทำงานจากที่บ้านทันที
"เราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับโควิด โควิดไม่ได้หายไป มันจะอยู่กับเราไปอีกหลายปี บางทีตลอดไป และเราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน เรายังคงต้องระมัดระวังอยู่เสมอ ความชุกยังคงสูง" รมต.จาวิด กล่าว
สำหรับมาตรการกักตัวผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทางรัฐบาลอังกฤษหวังว่าสิ้นสุดในวันที่ 24 มี.ค. แต่ รมต.สาธารณสุขอังกฤษ กล่าวเสริมว่า "เรายังไม่ถึงจุดนั้น เราจะทบทวนกฎเหล่านั้นในสัปดาห์หน้า แต่คาดว่าจะยกเลิกกฎภายในสิ้นเดือนมีนาคม แต่การตัดสินใจนั้นจะชัดเจนมากขึ้นเมื่อใกล้ถึงเวลานั้นมากขึ้น"
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :
หลังจากที่ทางรัฐบาลอังกฤษประกาศยกเลิกมาตรการควบคุมโควิด-19 ทางรัฐบาลฝรั่งเศสชี้แจ้งตามว่า ฝรั่งเศสจะเริ่มผ่อนคลายมาตรการป้องกันโควิด-19 เช่น ยกเลิกการจำกัดจำนวนคนที่เข้าร่วมกิจกรรม (ในอาคาร 2,000 คน ในพื้นที่กลางแจ้ง 5,000 คน) และไม่บังคับให้สวมหน้ากากอนามัยในพื้นที่กลางแจ้ง เป็นต้น
พร้อมทั้งให้เปิดสถานบันเทิงที่ถูกปิดมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่เดือนธันวาคม ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง พร้อมทั้งอนุญาตให้ประชาชนสามารถยืนดูคอนเสิร์ต ชมการแข่งขันกีฬา ในบาร์ได้ด้วย
นอกจากนี้ ฝรั่งเศส จะคลายมาตรการให้สามารถดื่มน้ำและทานอาหารในโรงภาพยนตร์ สนามกีฬา และระบบขนส่งสาธารณะได้
สำหรับข้อกำหนดให้ต้องแสดงใบรับรองการฉีดวัคซีน เพื่อใช้บริการในสถานที่ต่างๆ เช่น ร้านอาหาร คาเฟ่ โรงภาพยนตร์ และการเดินทางด้วยรถไฟระยะทางไกล ยังคงมีผลบังคับใช้ตามกำหนดเดิม คือถึงวันจันทร์นี้
ทั้งนี้ คำถามคือ เหตุใด 2 ชาติตะวันตกที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่สูงจึงได้ตัดสินใจผ่อนปรนมาตรการ ?
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ลากยาวมากว่า 2 ปีและกำลังเข้าสู่ปีที่ 3 ทำให้หลายคนเครียด อาจจะไม่ใช่เรื่องของการขาดรายได้เพียงเท่านั้น แน่นอนว่าความเครียดที่สุดมาจากปัญหาในการเลี้ยงปากท้อง แต่มาตรการอื่นๆ ที่เพิ่มความยุ่งยากให้กับการใช้ชีวิตรวมไปถึงการจำกัดกิจกรรมที่ทำให้ผลคลาย ทำให้หลายคนเกิดความเครียดสะสม
หลายประเทศที่มีการประท้วงเกี่ยวกับมาตรการควบคุมโควิด-19 ที่เข้มงวด จนบางที่เกิดเป็นจลาจล
โดย พญ.ดุจฤดี อภิวงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวช เผยว่า "ความเครียด" คือ การตอบสนองทางร่างกายรวมถึงทางจิตใจ ต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในการดำเนินชีวิต ไม่ว่าความเปลี่ยนแปลงนั้นจะรับรู้มาก่อนล่วงหน้าแล้วหรือมาแบบไม่ทันคาดคิดก็ตาม
สิ่งที่ทำให้เกิดความเครียด สามารถเกิดขึ้นได้ ทั้งจากปัจจัยภายนอกและจากปัจจัยภายใน ทำให้ต้องระวัง อย่าให้ตัวเองเครียดในระดับสูงเกินไป ที่เรียกว่า เครียดเป็นพิษ
ทั้งนี้อาจเป็นไปได้ที่การผ่อนคลายมาตรการของสองรัฐบาลยุโรปมาจากต้องการลดความเครียดให้กับประชาชนที่จำเป็นต้องดำเนินชีวิต เป็นเพียงเรื่องของจิตวิทยา หรืออาจเป็นไปได้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีแนวโน้มที่ดีมากขึ้นจนเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์