“ปุ๋ย” เป็นปัจจัยการผลิตที่มีความสำคัญต่อการเพาะปลูกพืชมีหน้าที่ให้ธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชโดยเฉพาะธาตุอาหารหลัก ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม
ซึ่งพืชต้องการในปริมาณมากเมื่อเทียบกับธาตุอื่น ๆ และในดินมักมีไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก จึงมีความจำเป็นต้องเพิ่มเติมธาตุเหล่านี้โดยการให้ปุ๋ยที่มีธาตุอาหารสำคัญดังกล่าว
“กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร” กรมวิชาการเกษตร ได้ศึกษาวิจัย และพัฒนาการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ที่มีชีวิตที่สามารถสร้างธาตุอาหารที่สำคัญเป็นประโยชน์กับพืชโดยผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ปุ๋ยชีวภาพของกรมวิชาการเกษตรประเภทต่าง ๆ จำนวนมาก ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ “ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์” หรือ “ปุ๋ยชีวภาพแบคทีเรีย” ส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช (Plant Growth Promoting Rhizobacteria or PGPR)”โดย ปุ๋ยชีวภาพประกอบด้วยแบคทีเรียที่มีชีวิต ที่อาศัยอยู่ในดินบริเวณรอบรากพืช (rhizosphere) ซึ่งสามารถส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชได้
ปัจจุบัน “ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์” มีรูปแบบเชื้อผง 3 สูตร ใช้สำหรับพืช 4 ชนิด ได้แก่
1. ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-วัน ประกอบด้วย แบคทีเรีย 3 ชนิด ได้แก่ อะโซสไปริลลัม บราซิเลน (Azospirillumbrasilense) อะโซโตแบคเตอร์ วาเลนดิไอ (Azotobactervinelandii) และไบเจอริงเคีย โมบิลิส (Beijerinckiamobilis) ใช้สำหรับ ข้าวโพด ข้าวฟ่าง
2. ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-ทู ประกอบด้วย แบคทีเรีย 2 ชนิด ได้แก่ อะโซสไปริลลัม บราซิเลน (Azospirillumbrasilense) และเบอร์โคลเดอเรีย เวียตนามเมนซิส (Burkholderiavietnamiensis) ใช้สำหรับข้าว
3. ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-ทรี ประกอบด้วย แบคทีเรีย 2 ชนิด ได้แก่ อะโซสไปริลลัม บราซิเลน (Azospirillumbrasilense) และกลูคอนอะซิโตแบคเตอร์ ไดอะโซโทรฟิคัส (Gluconacetobacterdiazotrophicus) ใช้สำหรับ อ้อย มันสำปะหลัง
ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ จะช่วยให้เกษตรกรลดการใช้ปุ๋ยเคมีในการปลูกพืชได้อย่างน้อย 25 เปอร์เซ็นต์ จากอัตราแนะนำตามค่าวิเคราะห์ดิน เพิ่มปริมาณรากได้อย่างน้อย 20 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากจุลินทรีย์ในปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์สามารถสร้างฮอร์โมนพืชทำให้ระบบรากพืชแข็งแรง และเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดน้ำและปุ๋ยได้อย่างน้อย15 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ต้นพืชแข็งแรง ต้านทานโรคได้ สามารถช่วยเพิ่มผลผลิตพืชได้อย่างน้อย10 เปอร์เซ็นต์
ปัจจุบัน “ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์” มีจำหน่ายที่กลุ่มกลุ่มวิจัยปฐพีวิทยา กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร โทรศัพท์ 0-2579-7522-3, 0-2579-4116 นอกจากนี้ยังมีภาคเอกชนที่ได้รับการถ่ายโอนเทคโนโลยีผลิตปุ๋ยชีวภาพของกรมวิชาการเกษตร จำนวน 3 บริษัท ได้แก่ บ.อะโกรไบโอเมท (พีจีพีอาร์ 1,2,3) .2 บ.อินโนฟาร์ม ไบโอเทค (พีจีพีอาร์ 2) และ 3.ไบโอฟิล เทคโนโลยี (พีจีพีอาร์ 2) โดยจำหน่ายให้กับ เกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรทั่วไป ได้แก่ ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ในพื้นที่ 6 จังหวัด หนองคาย มุกดาหาร มหาสารคาม นครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์,ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.),ศูนย์ข้าวชุมชน ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชน,- กลุ่มแปลงใหญ่พืชผัก สมุนไพร มันสำปะหลัง อ้อย ข้าว, กลุ่มวิสาหกิจชุมชน, ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก. ) เป็นต้น
นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตร ยังได้ถ่ายทอดและขยายผลให้ผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษา และสามารถนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้และปฏิบัติได้จริงในพื้นที่ของตนเองเพื่อลดการใช้ปุ๋ยเคมีและเพิ่มผลผลิต