SHORT CUT
พิธา โชว์ไอเดียแก้ฝุ่น PM2.5 ก่อนฤดูฝุ่นภาคเหนือจะหนักช่วงต้นเดือนมีนาคม นายก อบจ.แก้ได้ด้วย การประสานงาน-กฎหมาย-งบประมาณ-เทคโนโลยี และแผนฉุกเฉิน ไม่ติดหากโดนลอก ขอให้ตั้งเป้าแล้วทำให้ได้สักครึ่งหนึ่งในปีแรกก็ดีกว่าปล่อยเกียร์ว่าง
วันที่ 26 มกราคม 2568 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เปิดข้อเสนอการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยระบุว่า ตนเคยดูงานบริษัทขายเครื่องจักรการเกษตร ที่ จ.นครสวรรค์ มีเทคโนโลยีที่จะช่วยเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และลดการเผาวัสดุของไร่อ้อย และกฎหมาย พรบ.อากาศสะอาดกำลังจะผ่านสภาฯ นายก อบจ.จะเป็นประธานคณะกรรมการอากาศสะอาดของจังหวัด อบจ.เกือบทุกจังหวัดมีงบประมาณด้านสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว
จึงเสนอวิธีแก้ปัญหาการเผาผลผลิตการเกษตร ซึ่งเป็นหนึ่งสาเหตุหลักของฝุ่น PM2.5 หาก อบจ.เป็นผู้ลงทุนหาเครื่องจักรการเกษตรมาใช้ในขั้นตอนก่อนปลูก ระหว่างปลูก และหลังปลูก ให้เกษตรกรเช่าในราคาเข้าถึงได้ เป็น "กองบริการเครื่องจักรการเกษตรเพื่อเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม” ซึ่งจะช่วยตั้งแต่การปรับไถดิน ยกร่องให้เหมาะสมตั้งแต่ก่อนปลูก ใช้เครื่องหยอดปุ๋ยเพิ่มความแม่นยำ ใช้เครื่องปลูกอ้อยทำให้ปลูกเร็วขึ้น ลดการใช้แรงงาน ใช้ระบบน้ำหยดลดการสิ้นเปลืองน้ำและช่วยให้อ้อยเติบโตดีขึ้น และเมื่อถึงขั้นเก็บเกี่ยวก็ใช้รถตัดอ้อย ลดการเผาใบอ้อยก่อนเก็บเกี่ยวและยังสามารถนำใบอ้อยไปเป็นพลังงานชีวมวลหรือปุ๋ยอินทรีย์ได้ด้วย ลดสาเหตุสำคัญของฝุ่น PM2.5
นายพิธา กล่าวว่า ในประเทศออสเตรเลีย เขาใช้ระบบ Green Harvesting หรือการเก็บเกี่ยวอ้อยสด โดยไม่เผาใบอ้อยเลย เศษใบอ้อยถูกนำไปใช้เป็นวัสดุคลุมดิน (Mulching) หรือนำไปผลิตพลังงานชีวมวล ผลผลิตต่อไร่ของออสเตรเลียอยู่ที่ 75-87 ตัน/ไร่ ในขณะที่ไทยผลิตได้เพียง 10-12 ตัน/ไร่ นั่นหมายความว่าพวกเขาทำได้มากกว่าเราถึง 6-7 เท่า ดังนั้นแม้คิดในด้าน productivity ก็คุ้มค่า ไทยเรามีศูนย์วิศวกรรมการเกษตรที่พร้อมแต่ต้องการเจ้าภาพ ซึ่ง อบจ.จะสามารถทำได้
"หากเราเริ่มเปลี่ยนวันนี้ ชาวไร่อ้อยจะมีโอกาสเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และช่วยลดมลพิษทางอากาศไปพร้อมกัน อนาคตของการเกษตรไทยอยู่ในมือของเรา และผมเชื่อว่า อบจ. สามารถเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ได้"
นอกจากนี้ นายพิธายังกล่าวว่า จากสถิติฝุ่นภาคเหนือจะกลับมาวิกฤตในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนมีนาคม หมายความว่า การเลือกตั้งนายก อบจ. เกิดขึ้นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ประเด็นเรื่องฝุ่น PM 2.5 และไฟป่า ก็น่าจะเป็นวาระเร่งด่วนที่ อบจ.ภาคเหนือจะต้องจัดการเป็นอันดับแรก นายก อบจ. คนใหม่จึงต้องมีวิสัยทัศน์ที่ครอบคลุม 4+1ด้านสำคัญ ได้แก่
1) การประสานงาน (Cooperation)
2) กฎหมาย (Legal)
3) งบประมาณ (Financial)
4) เทคโนโลยี (Technological)
พร้อมแผนฉุกเฉินรองรับ (Contingency plan)ในกรณีที่มาตรการป้องกันไม่เพียงพอ
ด้านการประสานงาน นายก อบจ.ต้องประสานกับหน่วยงานท้องถิ่น เช่น กรมป่าไม้ กรมควบคุมมลพิษ อุตสาหกรรมจังหวัด เป็นต้น เพื่อสร้างกลไกจัดการฝุ่นระดับพื้นที่ การประสานหน่วยงานเอกชนหรือไปจนถึงองค์กรนานาชาติ สถานทูต ผู้นำรัฐใกล้เคียงที่มีการเผาทุกปี ด้านกฎหมาย แม้จะยังไม่มี พรบ.อากาศสะอาดก็ประยุกต์ พรบ.อื่นๆไปก่อน หรือออกข้อบัญญัติท้องถิ่นเพื่อควบคุมการเผาในพื้นที่ กำหนดเขตห้ามเผาหรือการสนับสนุนการใช้เครื่องจักร ผลักดันระบบขนส่งสาธารณะที่มีคุณภาพ เป็นขนส่งพลังงานสะอาด
ในปีแรกแม้ไม่มีงบประมาณ อบจ.จะสามารถคิดนอกกรอบ ของบประมาณจากเอกชน มูลนิธิ หรืองบกลางได้ไหม เพื่อผ่อนหนักให้เป็นเบา เขียนแผนงานให้ชัด ตนเชื่อว่ามีคนพร้อมสนับสนุน ในระยะกลางอาจจะของบประมาณจากองค์กรนานาชาติมาลงทุนระบบ IoT หรือระบบหยดน้ำ ได้ เช่น UNDP ADB หรือ World Bank และด้านสุดท้ายคือเทคโนโลยี เช่น การใช้โดรนและระบบระบุพิกัด เพื่อตรวจจับไฟป่าและจุดเผา การนำร่องรถไฟโดยสาร EV รวมถึงเขียนแผนฉุกเฉินไว้ด้วย
"หากท่านตั้งเป้าหมาย วาง KPI สัก 10 อย่าง มีคำตอบคร่าวๆได้ เชื่อว่าประชาชนจะชื่นใจและจะเข้าใจถึงแม้ว่าท่านพยายามทำ สมมติซัก 10 อย่างทำสำเร็จซักครึ่งนึงประชาชนก็คงจะเข้าใจและรู้สึกดีกว่า คนบริหารเกียร์ว่าง ถ้ามีแคนดิเดตนายกอบจ. จังหวัดไหนจะเอาไปใช้ในการหาเสียงหนึ่งอาทิตย์สุดท้ายก่อนประชาชนชาวเหนือจะเข้าคูหาผมก็ไม่ว่านะครับ เชื่อว่าชาวเหนือจะออกไปใช้สิทธิและเทคะแนนให้"