SHORT CUT
เด็กและเยาวชนกลุ่มหลากหลายทางเพศในไทย 7 ใน 10 คนเคยถูกล้อเลียนเกี่ยวเพศสภาพของตัวเอง 3 ใน 10 คนเคยถูกทำร้ายร่างกาย และมากกว่าครึ่งเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศทั้งทางออฟไลน์และออนไลน์
เด็กและเยาวชนกลุ่มหลากหลายทางเพศในไทย 7 ใน 10 คนมีอาการซึมเศร้าและวิตกกังวล 2 ใน 10 คนเคยทำร้ายตัวเอง และทุกๆ 1 ใน 10 คนเคยพยายามฆ่าตัวตาย โดยกลุ่มที่อัตราสูงที่สุดคือ ทรานส์แมน/ ทอม
นอกจากนี้ 4 ใน 10 คนเคยยังถูกบังคับให้เปลี่ยนแปลงตัวตนทางเพศ โดยเฉพาะจากครอบครัว
บรรยากาศที่สำนักงานเขต ที่ทำการปกครอง และสยาม พารากอนกำลังครึกครื้น หลังประเทศไทยเริ่มใช้ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมเป็นครั้งแรก นับเป็นก้าวประวัติศาสตร์ที่สำคัญของสังคมไทย
แต่การได้รับการยอมรับทางกฎหมาย ไม่ได้หมายความว่ากลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในไทยได้รับสิทธิและการยอมรับเท่ากลุ่มอื่นๆ พวกเขายังเผชิญความท้าทาย กดทับ และกีดกันอันเป็นซากเดนโบราณที่ซ่อนอยู่ใต้เนื้อดินของสังคมไทย
หนึ่งในหลักฐานที่ชี้ชัดคือ รายงาน 'สุขภาพจิตและสุขภาวะของเด็กและเยาวชนหลากหลายทางเพศในไทยปี 2566' ที่พบว่า เด็กและเยาวชนไทยที่มีความหลากหลายทางเพศกว่าครึ่งกำลังเผชิญปัญหาด้านสภาพจิตใจ พวกเขามีภาวะซึมเศร้า, วิตกกังวล และบางคนพยายามจบชีวิตตัวเอง ขณะที่ 4 ใน 10 คน เคยถูกบังคับให้เปลี่ยนตัวตนทางเพศ
รายงานฉบับดังกล่าวกำลังชวนตั้งคำถามว่า ที่จริงแล้ว สังคมไทยเป็นมิตรกับผู้มีความหลากหลายทางเพศจริงหรือไม่ และในฐานะผู้ใหญ่ พวกเราดูแลเด็กๆ ของเราดีเพียงพอหรือยัง
ข้อค้นพบของรายงาน - เด็ก LGBT เกินครึ่งเสี่ยงซึมเศร้า
รายงานฉบับดังกล่าวจัดทำขึ้นในปี 2566 โดยได้สัมภาษณ์และทำแบบสอบถามเด็กและเยาวชนจำนวน 3,094 คนจากทั่วประเทศและพบว่า เยาวชน 7 ใน 10 คนเคยถูกล้อเลียนเกี่ยวเพศสภาพของตัวเอง 3 ใน 10 คนเคยถูกทำร้ายร่างกาย และมากกว่าครึ่งเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศทั้งทางออฟไลน์และออนไลน์
ส่งผลต่อสภาพจิตใจของเด็กและเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศ พวกเขา 7 ใน 10 คนมีอาการซึมเศร้าและวิตกกังวล 2 ใน 10 คนเคยทำร้ายตัวเอง และทุกๆ 1 ใน 10 คนเคยพยายามฆ่าตัวตาย
นอกจากนี้ 4 ใน 10 คนเคยยังถูกบังคับให้เปลี่ยนแปลงตัวตนทางเพศ โดยเฉพาะจากครอบครัว
“การผ่านสมรสเท่าเทียมถือเป็นขั้นหนึ่งทางกฎหมาย แต่ไม่ได้แปลว่าสังคมยอมรับเรื่องนี้ 100%” พีราณี ศุภลักษณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิเด็กและความหลากหลายทางเพศ จาก Save the Children กล่าวกับ SPRiNG
“จากการที่เราลงไปคุยกับน้องๆ บางคนก็ยังถามเรื่องการระบุเพศในบัตรประชาชน (กฎหมายคำนำหน้านาม) บางคนยังไม่สามารถไว้ผมหรือแต่งกายตามเพศสภาพได้ และบางครอบครัวก็ยังคาดหวังว่าให้ลูกต้องเป็นลูกชายหรือว่าลูกผู้หญิงตามที่เขาคาดหวังอยู่” พีราณีกล่าวเพิ่มเติม
อีกหนึ่งข้อค้นพบที่น่าสนใจจากรายงานคือ กลุ่มทรานส์แมน/ ทอม มีภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และคิดฆ่าตัวตายสูงที่สุด ซึ่งพีราณีแสดงความเห็น กลุ่มทรานส์แมน/ ทอม เผชิญการไม่ยอมรับสูงสุดในสังคมไทย เพราะหลายคนยังถูกมองและปฏิบัติเหมือนว่าเป็นผู้หญิง ไม่มีพื้นที่ให้แสดงออกในสังคม และไม่มีการให้ข้อมูลหรือต้นแบบเรื่องการข้ามเพศของคนกลุ่มนี้มากเท่ากับกลุ่มอื่น
“ปรากฏการณ์ที่เราเห็นในเรื่องของสุขภาพจิตของเด็ก LGBT สะท้อนปัญหาของสังคมชายเป็นใหญ่ สะท้อนว่าบทบาททางเพศที่สังคมคาดหวัง มันส่งตรงไปถึงสุขภาพจิตของเด็กและก็เยาวชน และทำให้เกิดความรุนแรงจากเลือกปฏิบัติต่างๆ มากมาย” พีราณีกล่าว
สมรสเท่าเทียมคือ จุดเริ่มต้นความหวัง
ถึงแม้เด็กและเยาวชน LGBT ของไทยยังต้องเผชิญกับการกีดกันและไม่ยอมรับในตัวตนทางเพศ แต่กฎหมายสมรสเท่าเทียมยังคงเป็นก้าวที่สำคัญของพวกเขาอยู่
“เด็กๆ ดีใจมากที่กฎหมายตัวนี้ผ่าน อย่างน้องคนนึงบอกว่าความรักของเขาไม่ได้ต้องปิดบังอีกต่อไปแล้ว เขาสามารถเป็นตัวของตัวเองได้ ซึ่งมันแสดงให้เห็นความหวังที่พวกเขาจะไม่ต้องใช้ชีวิตด้วยความกลัวอีกแล้ว” พีราณีกล่าว
“อย่างผู้ใหญ่เอง เขาก็บอกว่าถึงแม้กฎหมายตัวนี้ไม่ได้ส่งผลต่อเด็กวันนี้ แต่มันส่งผลต่อภาพรวมของการเติบโตของเด็กๆ ในสังคม แต่มันยังมีสิ่งที่เราต้องทำเพิ่มอีก เช่น โรงเรียนก็ต้องคุยเรื่องนี้ให้มากขึ้น สร้างการยอมรับต่อความหลากหลายทางเพศในครอบครัวและต่อตัวเด็กให้มากขึ้น” ผู้เชี่ยวชาญจาก Save the Children กล่าวต่อ
นอกจากกฎหมายสมรสเท่าเทียมจะช่วยลดปัญหาสภาพจิตใจ Save the Children ยังประเมินว่า มันจะช่วยสร้างความมั่นคงให้กับครอบครัวผู้มีความหลากหลายทางเพศ ทั้งเรื่องการรักษาพยาบาล, การกำหนดสิทธิเลี้ยงดูกรณีแยกทางกัน, รวมถึงแก้ปัญหาด้านกฎหมายอีกหลายประการ
รวมถึงยังช่วยทำให้ลดการเลือกปฏิบัติและส่งเสริมความเท่าเทียมในสังคมมากขึ้น เพราะมันเป็นการสร้างรากฐานของการยอมรับความหลากหลาย และส่งเสริมให้ครอบครัวทุกแบบสามารถเติบโตในสังคมที่เท่าเทียมและเคารพในคุณค่าของกันและกัน
สังคมไทยควรทำอย่างไรต่อไป
กระบวนการสร้างการยอมรับความหลากหลายทางเพศต้องอาศัยเวลา แต่พีราณีมองว่าสิ่งที่สามารถทำได้ทันทีเลยคือ การแก้ไขระบบการศึกษา
ข้อแรกคือ การรณรงค์ให้ไม่ให้มีการบุลลี่หรือรังแกกันในโรงเรียนทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเพศ
ข้อสองคือ การเปิดพื้นที่ให้ความหลากหลายทางเพศ อนุญาตให้มีการแต่งกาย ไว้ผม ให้นักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศสามารถเป็นตัวเองได้อย่างปลอดภัย
ข้อสาม ปรับหลักสูตรการเรียนให้โอบรับความหลากหลาย ซึ่งทางไทยพยายามทำอย่างสม่ำเสมอ แต่อาจไม่เข้าเป้ามากนัก จึงยังต้องพยายามกันต่อไป
นอกจากเรื่องระบบการศึกษา Save the Children ยังเสนอให้ กระทรวงสาธารณสุขเพิ่มคลินิกให้บริการเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศ, เพิ่มงบประมาณและอบรมเจ้าหน้าที่, ตลอดจนจัดกิจกรรมและอบรมเรื่องสุขภาพจิต เพื่อทำให้เด็กเข้าถึงบริการเหล่านี้มากขึ้น
สามารถเข้าไปอ่านรายงานฉบับเต็มของ Save the Children ได้ที่: Study Report: Mental Health and Well-being of Children and Youth with Diverse SOGIESC in Thailand
ภาพประกอบ: สมชาย พัวประเสริฐสุข