นายกฯ “แพทองธาร“ และคณะร่วมประชุม WEF พร้อมจับเข่าคุยภาคเอกชนชั้นนำในธุรกิจโลจิสติกส์ - อาหาร/เครื่องดื่ม ยาและสุขภาพของยุโรป มั่นใจดึงนักลงทุนระดับโลกเข้าไทยเป็นจำนวนมาก
วานนี้ (21 มกราคม 2568) ตามเวลาท้องถิ่นเมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หารือ 5 ผู้บริหารเอกชนยักษ์ใหญ่ ได้แก่
ระหว่างการประชุม World Economic Forum 2025 (WEF 25)
ในช่วงเช้า นายกรัฐมนตรีหารือ สุลต่าน อะห์เหม็ด บิน สุลาเย็ม ประธานกลุ่มบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท DP World (UAE) ที่ DP World House ซึ่งเป็นการหารือต่อเนื่องจากรัฐบาลที่ผ่านมา
บริษัท DP World เล็งเห็นศักยภาพของประเทศไทยว่ามีความพร้อมในการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง เพราะตั้งอยู่ในจุดที่ได้เปรียบในเชิงยุทธศาสตร์ และรัฐบาลยังดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ซึ่ง DP World พร้อมจะเดินหน้าศึกษาการลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์ เพื่อสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาคอาเซียน และเชื่อมโยงไปมหาสมุทรอินเดียและกลุ่มประเทศ BIMSTEC
ประธานกลุ่มบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร DP World ระบุว่า บริษัทสนับสนุนไทยในการพัฒนาสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ICD) ลาดกระบัง ให้เป็นศูนย์โลจิสติกส์ระดับภูมิภาค สำหรับการค้าข้ามพรมแดนระหว่างจีน อินโดจีน มาเลเซีย และสิงคโปร์ ผ่านการเชื่อมโยงเครือข่ายทางรถไฟ รวมทั้งโครงการท่าเทียบเรือชุด B ณ ท่าเรือแหลมฉบัง รองรับเรือและตู้คอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่
จากนั้นนายกรัฐมนตรีหารือกับ เรมี เอเจล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชีย โอเชียเนีย และแอฟริกา บริษัท Nestle โดยขอให้ช่วยเกษตรกรไทย เพราะรัฐบาลมีความตั้งใจในการส่งเสริมและพัฒนาเกษตร โดยเฉพาะเกษตรสมัยใหม่ และ Smart Farmer เพื่อให้ภาคเอกชนขยายการลงทุนในไทยได้สะดวกยิ่งขึ้น ไทยยังเร่งขยายการเป็นพันธมิตรทางการค้าทั่วโลก โดยจะมีการลงนามความตกลง FTA ระหว่างไทย-อาฟตา
ด้าน Nestle ยืนยันว่าจะลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมกาแฟไทย ซึ่งในช่วงปี 2561-2567 ขยายสายการผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งเครื่องดื่ม UHT และอาหารสัตว์ มูลค่าสูงถึง 22,800 ล้านบาท และในอนาคตบริษัทจะมีการลงทุนเพิ่มเติมต่อ และรับซื้อเมล็ดกาแฟจากเกษตรกรไทยในราคาที่เป็นธรรม เหมือนที่เคยสนับสนุนเกษตรกรไทยมาตลอดกว่า 40 ปี
จากนั้นนายกรัฐมนตรีหารือกับ เจมส์ ควินซีย์ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Coca-Cola ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มครบวงจรสัญชาติอเมริกัน ซึ่งมีส่วนสนับสนุนการจ้างงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย และส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะการขับเคลื่อนการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ และการบริหารจัดการน้ำ เพื่อการใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างยั่งยืน
นายกรัฐมนตรียืนยันความต่อเนื่องของนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การส่งเสริมการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการส่งเสริมห่วงโซ่อุปทาน และการส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว
ด้านบริษัท Coca-Cola พร้อมสานต่อความร่วมมือระหว่างกัน และเชื่อมั่นในศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทย นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังหารือเพื่อติดตามความคืบหน้าการบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืนของไทย รวมถึงความมั่นคงด้านน้ำและการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งบริษัทมีความเชี่ยวชาญและพร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีกับไทย
ส่วนการหารือกับ สเตฟาน อูลริช กรรมการบริหาร บริษัท Bayer AG และผู้บริหารสูงสุดแผนกฟาร์มาซูติคอล นายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า ได้เน้นย้ำนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ซึ่งมีปัจจัยสำคัญคือการพัฒนากระบวนการวิจัยด้านการแพทย์ ยา และนวัตกรรมการรักษาโรค โดยเชื่อว่าสามารถแลกเปลี่ยนความร่วมมือระหว่างกัน และยกระดับนักวิจัยของไทยตามมหาวิทยาลัยต่างๆ นอกจากนี้ บริษัทยังให้ความสำคัญต่อการพัฒนาการเกษตรของไทยที่จะเป็นวัตถุดิบในการผลิตตัวยาต่อไปด้วย
จากนั้นนายกรัฐมนตรีหารือกับ Michel Demaré ประธานกรรมการ บริษัท AstraZeneca ซึ่งมีแผนการลงทุนในประเทศไทยด้านโครงสร้างพื้นฐาน อุปกรณ์ บุคลากรที่มีทักษะสูง การถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านชีวการแพทย์และการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ โดยมุ่งเน้นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคไตและโรคมะเร็ง (มะเร็งทรวงอกและมะเร็งปอด) รวมถึงการวินิจฉัยและรักษาแต่เนิ่นๆ ในประเทศไทย
นายกรัฐมนตรีย้ำว่า รัฐบาลพร้อมที่จะอำนวยความสะดวกเรื่องการลงทุน โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกภาคธุรกิจและส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อมุ่งหน้าสู่การเป็นศูนย์กลาง Wellness & Medical Hub ให้ได้ในปี 2573
ข่าวที่เกี่ยวข้อง