หลายนโยบายของรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ถูกขยายความด้วยอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร แต่กลับมีนโยบายบางอย่างที่เคยปรากฎในการหาเสียงเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยในปี 2566 หรือสิ่งที่พรรคเพื่อไทยเคยประกาศว่าจะทำ แต่กลับเลือนหาย อีกทั้งยังไม่ถูกพูดถึงโดยทักษิณอีกด้วย
หลายนโยบายของรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ถูกขยายความด้วยอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นพ่อ ที่นิยามตัวเองว่าเป็น สทร. อีกทั้งยังเป็นผู้ช่วยหาเสียงของผู้สมัคร นายกฯ อบจ. ที่ลงสนามในนามพรรคเพื่อไทยอีกหลายจังหวัด
แต่กลับมีนโยบายบางอย่างที่เคยปรากฎในการหาเสียงเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยในปี 2566 หรือสิ่งที่พรรคเพื่อไทยเคยประกาศว่าจะทำ แต่กลับเลือนหาย อีกทั้งยังไม่ถูกพูดถึงโดยทักษิณอีกด้วย
SPRiNG ชวนมอง 5 นโยบายของพรรคเพื่อไทยที่ทักษิณไม่เคยพูดถึง
1. ยกเลิกเกณฑ์ทหาร
ในการเลือกตั้งปี 2566 หนึ่งในนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทยคือการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร โดยเปลี่ยนมาใช้ระบบสมัครใจ สร้างทหารให้เป็นทหารมืออาชีพ ทว่าเมื่อเข้ามาจัดตั้งรัฐบาล นโยบายนี้กลับไม่การพูดถึงแต่อย่างใด รวมถึงนโยบายปฏิรูปกองทัพอื่นๆ
แม้ความพยายามครั้งล่าสุดคือ การพยายามเสนอร่างกฎหมายเพื่อแก้ พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 ซึ่งถือเป็นการแก้โครงสร้างอำนาจในกระทรวงกลาโหม อันหมายถึงกองทัพด้วย แต่เมื่อมีเสียงคัดค้าน พรรคเพื่อไทยกลับล่าถอยออกไป นโยบายยกเลิกการเกณฑ์ทหารนี้ แม้แต่อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ก็ยังไม่เคยพูดถึง
2. ค่าแรง 600 ในปี 2570
พรรคเพื่อไทยประกาศนโยบายเรือธงสำคัญในการเลือกตั้งปี 2566 คือการตั้งเป้าหมายว่าจะปรับค่าแรงขั้นต่ำให้ได้ 600 บาทต่อวัน ภายในปี 2570 แต่เมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาลตัวเลขนี้เหมือนจะลบเลือนหายไป เหลือเพียงความพยายามในการขยับค่าแรงขั้นต่ำให้ได้ 400 ภายก่อนเข้าสู่วันปีใหม่ 2568 ที่ถึงแม้จะขึ้นสำเร็จ แต่ใช่ทุกจังหวัด
ทักษิณเคยกล่าวถึงค่าแรงขั้นต่ำในเวทีการหาเสียงผู้สมัคร นายกฯ อบจ.อุดรธานี ว่าถ้าเศรษฐกิจดีจะมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำจาก 400 บาทเป็น 700 บาท ซึ่งไม่ได้เป็นตัวเลขเดียวกับที่พรรคเพื่อไทยเคยหาเสียง แต่ไม่ได้เอ่ยกำหนดระยะเวลา ดังนั้นจึงอาจจะตีความได้ว่าเป็นคนละนโยบายกับพรรคเพื่อไทยทีไ่ด้หาเสียงไว้ในช่วงเลือกตั้ง
3. แก้รัฐธรรมนูญ
พรรคเพื่อไทยชูนโยบายแก้รัฐธรรมนูญ โดยระบุในรายละเอียดว่าจะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนโดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แม้จะมีการดำเนินการศึกษารายละเอียดต่างๆ ไปบ้างแล้ว แต่เป็นที่ชัดเจนแล้วอย่างไรก็ตามเราจะไม่ได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก่อนหมดวาระของรัฐบาลชุดนี้อย่างแน่นอน
ถ้าเปรียบรัฐธรรมนูญเหมือนโครงสร้างอำนาจทางการเมือง อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณไม่เคยพูดถึงการแก้โครงสร้างนี้ แม้พรรคเพื่อไทยจะเคยได้รับผลกระทบจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ตั้งแต่การเลือกตั้ง 2562 ที่ทำให้พรรคเพื่อไทยไม่ได้รับเลือกตั้งแบบปาร์ตี้ลิสต์แม้แต่ที่นั่งเดียว รวมถึงผลกระทบครั้งล่าสุดคือการที่ นายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย อย่างเศรษฐา ทวีสิน ต้องพ้นจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ด้วยการถูกวินิจฉัยว่ากระทำผิดจริยธรรมกรณีตั้งพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
4. ปราบคอรัปชั่น
พรรคเพื่อไทยไม่ได้มีนโยบายปราบคอรัปชั่นอย่างเป็นทางการ แต่ในนโยบายปฏิรูประบบราชการทั้งระบบและปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ได้กล่าวถึงความโปร่งใส
อีกทั้งจากการรวบรวมการปราศรัยและการให้สัมภาษณ์ของแกนนำพรรคเพื่อไทยก็มีการพูดถึงการสนับสนุน Open Government ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูล
แม้ทักษิณ ชินวัตรจะพูดถึงในหลายเรื่องที่ไม่ได้อยู่ในนโยบายของรัฐบาล แต่เรื่องการปราบคอรัปชั่น อดีตนายกรัฐมนตรีไม่เคยกล่าวถึงแต่อย่างใด
5.ทลายทุนผูกขาด
ในการแถลง 2568โอกาสไทยทำได้จริง ที่นำโดยแพทองธาร ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรี ได้พูดถึงนโยบายการปลดล็อคตลาดผูกขาด
เปิดโอกาสรายย่อย โดยระบุว่า “การผูกขาดทุกชนิด ไม่ว่าจะโดยภาครัฐและภาคเอกชน เป็นการเพิ่มต้นทุนให้พี่น้องประชาชน ทำให้พี่น้องประชาชนยากจนลง” โดยการผูกขาดแรกที่มีการพูดถึงคือการผูกขาดเรื่องการค้าข้าว
อีกทั้งยังระบุด้วยว่าจะมีการตรวจสอบโครงสร้างค่าไฟฟ้า อาหารสัตว์ สุรา ที่กฏหมายเป็นต้นทุนสำคัญด้วย หากมีรัฐวิสาหกิจหรือเอกชนส่วนไหนผูกขาดด้วยเงื่อนไขทางกฎหมาย จะมีการปรับแก้ไข เช่น เรื่อง สุราชุมชน เป็นต้น
เป็นที่ทราบกันดีว่า ทักษิณ ชินวัตรก็มีความใกล้ชิดกับกลุ่มทุน อีกทั้งครอบครัวชินวัตรเองก็อาจจะนับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งกลุ่มทุนเช่นเดียวกัน ดังนั้นนโยบายเรื่องการทลายทุนผูกขาด หรือธุรกิจผูกขาด แม้จะถูกประกาศให้เป็นนโยบายของรัฐบาลแพทองธาร แต่ทักษิณก็ยังไม่เคยได้กล่าวถึงแต่อย่างใด